เวทีประเมิน “2 ปี สปท.” มอง คสช. วางโครงร่างรัฐข้าราชการ แนะพรรคการเมืองชิงผลักวาระการปฏิรูปในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

IMG_5861สมาคมนักข่าว  –  เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนา “2 ปี สปท. สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป”  โดยวิทยากรจาก 4 ฝ่าย ประกอบด้วย นายสุริยไส  ตกะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวตกรรมสังคม ม.รังสิต นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นคณะผู้บรรยาย โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก  โดยภาพรวมผู้อภิปรายเชื่อ คสช. วางระบบรัฐราชการกึ่งประชาธิปไตยในโครงสร้างยุทธศาสตร์ 20 ปี หวั่นวิธีคิดฉุดศักยภาพประเทศในเวทีโลก

 

นายนิกร กล่าวในฐานะอดีต สปท. ว่า ในโครงสร้างของ สปท.พบว่าเป็นระบบราชการล้วนๆ ราว 200 คน หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เป็นตัวกำหนดงาน สปท. ที่ออกมา  ในขณะที่งานของ สปท. จะเป็นเรื่องรายงานล้วนๆ เหมือนที่ปรึกษานายกฯ ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องการรวบรวมการเสนอความเห็น ซึ่งงานที่สปท.ทำมาทั้งหมดจะมีการสรุปรายงานเป็นหนังสือในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อแจกจ่ายหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งจะมีวาระการปฏิรูปทั้งหมด 27 วาระ ใน 5 หมวด ประกอบด้วย 1.กลไกภาครัฐ 2.เครื่องมือพัฒนาฐานราก 3. เศรษฐกิจอนาคต 4. คน และ 5. โครงสร้างพื้นฐาน

 

นายนิกร กล่าวต่อว่า รายงานที่ผ่านมา สปท.ทำไปแล้ว 190 เรื่อง นายกฯรับทราบแล้ว 176 เรื่อง แต่ไม่ค่อยมีเรื่องการปฏิรูปด้านอื่นเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปฏิรูปราชการประจำที่มาจากสมาชิก สปท. 70 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นข้าราชการ ส่วนเรื่องปฏิรูปที่เป็นเรื่องหักดิบไปเลยน้อยมาก เพราะวิธีคิดของระบบราชการไม่กล้าคิดเลย

 

“คิดว่าประโยชน์ของ สปท. สำหรับ คสช. แล้วเป็นเหมือนกันชน  หรือเป็นหินไว้โยนถามทาง เป็นหมากทางการเมืองที่มีประโยชน์ ยกตัวอย่างเรื่องปฏิรูปสื่อ  หรือเรื่องเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน  พอถูกกดันหนักรัฐบาลก็ไม่เอาข้อเสนอของ สปท.”  นายนิกรกล่าว

 

อย่างไรก็ตามนายนิกรกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกสังคมวิพากษ์ว่าจะเป็นตัวกำหนดรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปจนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองว่า  จากเดิมที่เสนอให้กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติล็อคเลย 20 ปี แต่สุดท้ายก็สามารถให้แก้ไขได้และยืดหยุ่นได้ใน 5 ปี  ตนจึงเบาใจไปหนึ่งเรื่อง แต่ประเด็นคือแนวคิดมาจากระบบราชการที่คิดไปถึง 20 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สปท. จะไปต่อ โดยในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้จะต้องมีปฏิรูป 11 ด้านใน 5 ปี ซึ่งกรรมการปฏิรูปน่าจะมาจาก สปท. 7 คน

 

นายชวลิต กล่าวว่า ตนมีข้อสังเกตว่าหน้าที่ของ สปท. แค่เสนอแนะ  แต่งานทั้งหมดยังขาดการจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากปัญหาของประเทศมีมากมาย ถ้ารัฐบาลตั้งใจจะปฏิรูปงานใดเป็นพิเศษควรมอบสปท. ให้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในภาวะแบบนี้ยิ่งต้องมีส่วนร่วมของประชาชนว่าต้องการปฏิรูปอย่างไร นอกจากนี้ สปท.ไม่ได้จัดลำดับหัวใจของปัญหาหลักและปัญหารอง โดยเฉพาะการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจไม่ได้เป็นขอประชาชนอย่างแท้จริง ก็ส่งผลให้เกิดระบบรัฐราชการขึ้นมา เพราะภายหลังการรัฐประหารได้เกิดรัฐราชการจะมาคลุมทุกอย่าง จึงมีคำถามว่าในโลกปัจจุบันจะให้รัฐราชการมาขับเคลื่อนประเทศได้หรือไม่ ทั้งที่ระบบรัฐราชการทำให้เราขาดการแข่งขันที่มีคุณภาพในเวทีโลก ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาพนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องนี้จะมีต่อไปเพราะมีลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะมีข้าราชการประจำเป็นผู้กำหนดเป็นส่วนใหญ่

 

“ขณะนี้ภาคเอกชนไม่มีการลงทุน มีแต่รัฐบาลลงทุนขาเดียว จึงเป็นสิ่งที่มองว่าระบบรัฐราชการเดินไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน  ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ เราจะค่อยๆ เหมือนกบอยู่ในหม้อที่ถูกต้ม  แรกๆ ไม่รู้สึกร้อน แต่เมื่อรู้ตัวกบก็จะกระโดดไม่ไหวแล้ว”  นายชวลิตกล่าว

 

นายชวลิต กล่าวอีกว่า เรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยต้องดำเนินการตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นมา เราดูประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ก็เคยมีปัญหาแต่เขาได้สร้างเยาวชนขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องพรรคการเมืองจะร่วมกันปฏิรูปประเทศ ตนเห็นว่าเราไม่ควรเป็นไก่ที่จิกตีกันเองเพื่อรอวันถูกเชือด แต่จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

 

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่าขอเสนอแนวคิดในนามนักกฎหมายอิสระ เพราะถ้าบอกว่าเป็นนักการเมืองน้ำหนักการพูดจะไม่มีเลย ขอเป็นนักสังเกตการณ์บ้านเมือง และเป็นหมอดูทางการเมือง ตนมองว่าจริงๆ  แล้วไม่จำเป็นต้องมี สปท. เลยก็ได้  แต่นายกฯ มามือเปล่า จึงวางโครงสร้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของ คสช. มากกว่า  แต่การคิดทั้งหมดอยู่ที่ คสช. เป็นหลัก

 

“ประชาธิปไตยเหมือนต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ไม่ได้เติบโตงอกงามบนดินได้ทุกชนิด ประชาธิปไตยก็เช่นกันไม่ได้เติบโตในทุกประเทศ เห็นว่าประเทศไทยกำลังเป็นรัฐรูปแบบกึ่งประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งเราจะต้องเดินในแนวนี้อีก 20 ปีข้างหน้า เหมือนรัฐไทยเป็นรถเบนซ์แต่เอาเครื่องไปใส่รถไถ่นาแบบเดิมตาม โดยรูปแบบที่วางไว้ต่อไปนั้นในอนาคตข้างหน้าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราเห็น เพราะถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญและกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

 

ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคการเมือง หรือพรรคที่จะตั้งขึ้นมาช่วงใดทั้งสิ้น ตอนนี้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ ถ้าวันนี้จะตั้งต้นประเมิน สปท. คงจะแยกส่วนมาประเมินเฉพาะ สปท. ไม่ได้ เพราะสปท.ก็เป็นเหมือนคลองเล็กๆ แต่แม่น้ำ 4 สายที่เหลือเป็นแม่น้ำ เป็นมหาสมุทรทั้งนั้น หากย้อนไปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีข้อเสนอที่ดีๆ ทั้งนั้น เมื่อมี สปท. ก็เหมือนว่าจะเป็นการตั้งต้นที่จะต้องขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและเร่งด่วน แต่ก็พบว่ามีขีดจำกัดที่ซ้อนอยู่คือวิธีคิดของระบบราชการเป็นปัญหาการปฏิรูปมาโดยตลอด

 

“หากจะประเมิน สปท. ต้องบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาคือรัฐราชการ อำนาจการกำกับการปฏิรูปที่แท้จริงต่อไปน่าจะอยู่ที่ ป.ย.ป. หรือแม่น้ำสายที่ 6 หรือเป็น ครม. ส่วนหน้า จึงอยากให้สมาคมนักข่าวฯ ประเมิน 1 ปี ปยป. บ้างว่าเป็นย่างไร”  รองคณบดีวิทยาลัยนวตกรรมสังคมกล่าว

 

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่าแนวโน้มทิศทางการปฏิรูปพุ่งเป้าไปที่การกระชับอำนาจราชการส่วนกลาง และสะท้อนวงจรความไม่ไว้วางใจนักการเมือง ซึ่งนักการเมืองก็ไว้วางใจทาหร ทหารไม่ไว้วางใจประชาชน เราจะจัดการวงจรไม่ไว้วางใจได้อย่างไร เพราะเป็นเงื่อนปมสำคัญให้ความแตกแยกยังคงอยู่ และถ้าเปลี่ยนวงจรนี้ไม่ได้ การเลือกตั้งก็ไม่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ ซึ่งตนเป็นห่วงว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นจะทำให้แขนขาของระบบราชการแข่งแกร่ง หากถอดรหัสดูดีๆ ว่าวิธีคิดของราชการกับการตื่นตัวของสังคมยังส่วนทางกัน จึงหวังว่าหลังการเลือกตั้งต้องสร้างแรงส่งของการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม ถ้าแรงส่งนี้เหมือเปลวเทียนก็เหมือนจะมอดลง

 

“พรรคการเมืองจะชูธงเพื่อสร้างแรงส่งการปฏิรูปได้หรือไม่อย่างไร  ถ้าพรรคการเมืองไม่ตั้งเรื่องก็จะทำงานได้ยากขึ้น  มีความจำเป็นที่พรรคการเมืองต้องส่งสัญญาณเพื่อช่วงชิงอำนาจในการปฏิรูป นอกจากนี้กระแสการปฏิรูปที่เกิดจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นกระแสบวกกับการเมืองไทย ถ้ามีการปล่อยปละละเลย เราจะไม่มีทางออกให้ประเทศตรงนี้ ดังนั้นโจทย์จึงมาอยู่ที่พรรคการเมืองว่าจะตั้งต้นเรื่องปฏิรูปอย่างไร เพราะเรื่องปรองดองที่ดีที่สุดคือทำเรื่อปฏิรูปให้เป็นจริงและเร็วที่สุด

 

นายสุริยไสยกล่าวสรุปว่า  คิดว่าวาระการปฏิรูปประเทศจะเป็นเรื่องใหญ่  เป็นเรื่องชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า และรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่งใน 2 – 3 ปีข้างหน้าเรื่องปฏิรูปจะไม่ใช่กระแสแน่นอน จึงอยากให้สมาคมนักข่าวฯ  มีการติดตามการปฏิรูปตำรวจ หรือติดตามงานยุทธศาสตร์ชาติไว้  แล้วอะไรที่คิดว่ายากอาจจะง่ายกว่าที่คิดก็ได้