เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 เวลา 13.30 น. นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยนายสวิชย์ บำรุงสุข กรรมการ-ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสมาชิกสัมพันธ์ และนายบุตรดา ศรีเลิศชัย รองประธานคณะอนุประชาสัมพันธ์ฯ แสดงความยินดีงานวัน”กำพล วัชรพล” ประจำปี 2559 ในโอกาสครบรอบ 97 ปี นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ โดยมีนายสราวุธ วัชรพล กรรมการมูลนิธิฯ และผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ นสพ.ไทยรัฐ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการฯ เป็นผู้รับมอบ
กว่าจะมาเป็น นสพ.ไทยรัฐ ในวันนี้ บุคคลสำคัญที่สุดคือ นายกำพล วัชรพล ผู้เริ่มทำ นสพ.ข่าวภาพ รายสัปดาห์เมื่อเดือน ม.ค. 2493 ขยับมาเป็นราย 3 วัน และข่าวภาพรายวันเมื่อกลางปี 2495 จนถูกคำสั่งคณะปฏิวัติสั่งปิดพร้อมฉบับอื่นๆ เมื่อ 20 ต.ค. 2501 นี่คือยุคที่ 1
นายกำพลก้าวสู่ยุคที่ 2 โดยได้ขอหัวนสพ.เสียงอ่างทอง มาออกใหม่เมื่อ 1 พ.ค. 2502 ต่อมาเจ้าของหัวเสียงอ่างทองขอหัวคืน นายกำพล จึงนำหัวนสพ.ไทยรัฐ มาตีพิมพ์เมื่อ 25 ธ.ค.2505
ก้าวสู่ยุคที่ 3 นสพ.ไทยรัฐก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง นายกำพลได้ย้ายสำนักงานจากซอยวรพงษ์ มาอยู่เลขที่1 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือถนนวิภาวดีรังสิตในปัจจุบัน นายกำพลนำพา นสพ.ไทยรัฐ ก้าวสู่การเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีสถิติมียอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ต่อมาเมื่อปี 2531 ได้แต่งตั้งนางยิ่งลักษณ์ วัชรพล เป็นผู้อำนวยการแทน และแต่งตั้งนายสราวุธ วัชรพล เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ นี่คือไทยรัฐยุคที่4
ก้าวต่อยุคที่ 5 นายกำพลสั่งซื้อแท่นพิมพ์ใหม่มูลค่ากว่าสามพันล้านขยายกิจการพิมพ์อย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุดข่าวเศร้าของชาวไทยรัฐมาถึงเมือวันที่ 21 ก.พ.2539 เวลา 01.45 น. นายกำพล วัชรพล ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ
ไทยรัฐก้าวสู่ยุคที่ 6 เมื่อตัดสินใจลงทุนธุรกิจบรอดคาสต์ แวดวงดิจิตอลทีวี ในนามไทยรัฐทีวี ควบคู่กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปัจจุบันมีนางยิ่งลักษณ์ วัชรพล เป็นประธานกรรมการบริหาร นายสราวุธ วัชรพล เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ และนายสุนทร ทาซ้าย เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา