วงเสวนา เสนอผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เข้มเอาจริงสื่อละเมิดสิทธิเด็ก

DSC_0022

‘ชารียา เด่นนินนาท’ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ แจงละเอียดเหตุเวลาสื่อทำผิด ไม่เข้าสู่ศาลเยาวชนฯ ทั้งๆ ที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องถึง 3 ฉบับ  ด้าน ทิชา ณ นคร ระบุสื่อเป็นส่วนผสมสำคัญ ผลิตซ้ำ ลงข่าวรุมโทรม ข่มขืน สุดท้ายมนุษย์อ่อนแอที่สุดของประเทศนี้ กลับกลายเป็นเหยื่อ ย้ำชัด นำเด็กกระทำผิดขึ้นหน้า 1 เยียวยาคืนสู่สังคมยากที่สุด

วันที่ 16 สิงหาคม สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดงานเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนในการคุ้มครองสิทธิเด็ก” ณ ห้องอิ่มบุญ ชั้น 4 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเล็งเห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีข่าวด้านอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีทั้งเด็กตกเป็นผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำเองหลายกรณี ซึ่งการเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน

นายอลิสแตร์ อังกิ เกรทาร์สัน หัวหน้าสารานิเทศองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อสังคม ฉะนั้นยูเซฟเห็นว่า สื่อทุกแขนงเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการมาร่วมกันปกป้องและคุ้มครองสิทธิของเด็กในประเทศไทย ในบางครั้งหน้าที่สื่อเองที่จะทำหน้าส่งเสริมหรือรายงานข่าวหรือว่าปกป้องสิทธิเด็กเอง ในหลายครั้งที่สื่อกลับเป็นคนที่ละเมิดสิทธิเด็กเสียเอง

เมื่อปี 2555 ยูนิเซฟได้ทำการสำรวจสถานณ์ดีขึ้นมีการละเมิดสิทธิเด็กอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากเมื่อปี 2552 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ผลสำรวจจะมีตัวเลขที่ลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังถือว่า เป็นตัวเลขที่สูงสำหรับการละเมิดสิทธิเด็ก เราจะต้องร่วมงานกันให้ทุกคนมีบทบาทที่จะร่วมมือกันในการปกป้องสิทธิเด็ก โดยทางยูนิเซฟหวังว่าการสร้างความร่วมมือจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นางชารียา เด่นนินนาท รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวถึงสถิติคดีที่ศาลอาญาเกี่ยวกับสื่อมวลชนจะพบว่า มีมากมาย เหตุผลที่คดีเกี่ยวกับสื่อฯ ไม่มาที่ศาลเยาวชนฯ ทั้งๆ ที่มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553, พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550   เนื่องจากการใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยาก  คดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไปอยู่ในศาลอาญา อีกทั้งทุกคนจะมองว่า คนที่มาศาลเยาวชนและครอบครัว ต้องเป็นเยาวชนที่ทำผิดเท่านั้น

“พ.ร.บ .คุ้มครองเด็กฯ ระบุว่า หากผู้กระทำความผิดเป็นเด็กถึงใช้วิธีพิจารณาคดีของเด็กทั้งหมด แต่หากเป็นผู้ใหญ่กระทำผิด ก็จะมีการแจ้งความร้องทุกข์ มีบทบัญญัติความผิดต่อแผ่นดินพนักงานเจ้าหน้าที่ดูแลได้ ซึ่งกฎหมายไปบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้วุ่นวายมาก จึงไม่มีตำรวจหยิบคดีขึ้นมา  เวลาจะดำเนินคดีตำรวจก็ไม่ค่อยสนใจ”

างชารียา กล่าวอีกว่า เวลาสื่อทำผิดก็มีกฎหมายการพิมพ์ มีกฎหมายที่กระจัดกระจาย กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ที่เห็นชัดเจนที่เป็นคดีมากมาย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ  ซึ่งรัฐบาลเอาจริงแค่แชท แชร์ โพสต์ จึงคาดว่า ปี 2559 จะมีสถิติคดีที่สูงขึ้นกว่านี้อีก  นี่คือเหตุผลที่คดีส่วนใหญ่ไปอยู่ในศาลอาญา เป็นคดีทั่วไป อีกทั้งกฎหมาย 3 ฉบับที่ใช้ในศาลเยาวชนฯ บทกำหนดโทษก็ไม่รุนแรง จึงไม่มีแม้แต่คดีเดียวเข้ามา

“มีนักกฎหมายบางคนเสนอให้ศาลเยาวชนฯ น่าจะเอาจริง มีคดีตัวอย่างหากสื่อมวลชนละเมิดสิทธิเด็ก “รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชน กล่าว พร้อมกับเห็นว่า มาตรการควบคุมสื่อได้ผล คือ  ประชาชน

ทั้งนี้ นางชารียา กล่าวถึงกฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งออกโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลเยาวชนฯ มีหน้าที่ใช้กฎหมาย ปัจจุบันนักกฎหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิแทน และจะยกเลิกความผิดอาญา

“การมีกฎหมายสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งมีโทษทางอาญาไว้อย่างน้อย แม้ไม่ได้ใช้งาน แต่ก็ยังมีอนุภาพในเรื่องการป้องปราม”

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงการทำงานขององค์กรวิชาชีพสื่อกับการปรับปรุงข้อบังคับจริยธรรมของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ครอบคลุมถึงสื่อออนไลน์ที่อยู่ในสังกัดสมาชิก ซึ่งจะแยกตัวประเด็นจริยธรรมให้ละเอียดกว่าเดิม แยกแยะให้ชัดเจนกว่าเดิม ยกตัวอย่างข้อที่ 13 หมวดว่าด้วยจริยธรรมทั่วไป ข้อที่ว่าด้วยความเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และให้ความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ซ้ำเติมความทุกข์เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ

“การซ้ำเติมความทุกข์มีการถกกันมาก เพราะมีหลายรูปแบบ บางครั้งสื่อละเลยไม่ได้คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมา”

ส่วนเรื่องการถ่ายภาพเด็กจะเสียชีวิตหรือไม่เสียชีวิต นายชวรงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่ออกมาเมื่อปี 2549 เราแทบจะไม่เห็นภาพของเด็กที่เป็นเหยื่อ ส่วนในเรื่องภาพที่เด็กถูกข่มขืนและฆ่า บางกรณีถ้าสื่อไม่นำเสนอชื่อและภาพเลยก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพราะถ้าเราไม่เปิดเผยอะไรเลยคนที่จะมาแจ้งเบาะแส คนที่เคยเห็นเด็กคนนี้ไปกับคนร้าย ซึ่งจะเบาะแสไปสู่การจับกุมของคนร้ายก็จะไม่มีเลย เพียงแต่ภาพที่นำไปใช้ต้องเป็นภาพขณะมีชีวิต ไม่นำเสนอภาพที่อยู่ในสภาพอุจาดตา

“ทุกวันนี้ที่สื่อมีการละเมิดกฎหมายซ้ำๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดเผยอัตลักษณ์ของผู้กระทำความผิดและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อบ่อยๆ เพราะว่า ไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมายให้เป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งคิดว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ที่เสียหายก็ไม่อยากยุ่งกับสื่อไม่รู้จะดำเนินคดีอย่างไร  ซึ่งบางคดีที่เกี่ยวกับค้ามนุษย์จริงๆเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็สามารถร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ ตำรวจก็สามารถร้องทุกข์แทนได้ แต่ทั้งสองหน่วยงานก็ไม่อยากมีปัญหากับสื่อ สื่อก็เลยละเมิดแบบนี้อยู่ซ้ำๆ”

ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเด็กถูกให้ออกจากโรงเรียนปีละ 1 แสนคน ซึ่งเด็กเหล่าคือผู้แพ้ของสังคมและเด็กเหล่านี้พอมีเวลาว่างที่มากขึ้นก็มีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมากขึ้น

“เด็ก 1 แสนคนที่ออกจากโรงเรียนเด็ก 3-5  หมื่นคน ทำผิดกฎหมาย เพราะเขารับมือกับสถานการณ์ไม่ได้ เขายังเด็ก ถามกลับไปที่กระทรวงศึกษาธิการให้เด็กออกปีละ 1 แสนคน ทำไมเรางียบ แต่ทำไมเวลาที่เด็กออกไปก่ออาชญากรรมทำไมเราตื่น เราหลับเราตื่นผิดเวลาหรือไม่”

นางทิชา กล่าวด้วยว่า เด็กทุกคนอยากเป็นคนดีอยากเปลี่ยนแปลง หลายคนทำข่าวของเด็กขึ้นหน้าหนึ่ง เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม เป็นตำนาน เชื่อว่าเป็นการเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรม แต่ที่ผ่านมาก็พบว่า ไม่สามารถทำให้ปัญหาอาชญากรรรมลดลงได้เลย สื่อเป็นส่วนผสมที่สำคัญ ผลิตซ้ำเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การลงข่าวรุมโทรม ข่มขืน ก็ไม่ได้แปลว่า หยุด สุดท้ายมนุษย์อ่อนแอที่สุดของประเทศนี้ กลับกลายเป็นเหยื่อ

“สถานการณ์แบบนี้ยากที่จะควบคุมได้ การที่เด็กขึ้นหน้า 1 กลับกันคือการได้วุฒิบัตร ดังนั้นเรื่องพวกนี้มีด้านกลับ บ้านกาญจนาภิเษก 1 ใน 19 คุกเด็กในประเทศไทย พบว่า เด็กที่เยียวยายากที่สุด คือเด็กที่ได้ขึ้นหน้า 1 ที่มาเข้ามาด้วยคดีฆ่ายังไม่บอบช้ำขนาดนี้”

จากนั้น ในเวทีมีการระดมความคิดของหัวหน้าข่าว บรรณาธิการจากสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะต่างๆ บทบาทสื่อในการคุ้มครองสิทธิเด็ก อาทิ บางคนเห็นว่า ข่าวที่สื่อนำเสนอไม่ช่วยลดปัญหาอาชญากรรรม พร้อมกับเสนอแนะเมื่อมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กออกมาบังคับใช้แล้ว ศาลเยาวชนฯ ควรที่จะกล้าฟ้องสื่อเป็นกรณีตัวอย่าง,  สื่อควรที่จะเป็นกลางในการนำเสนอข่าวและควรที่จะนึกถึงการละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ใช่ต้องการเพียงการขายข่าวอย่างเดียว และแม้สื่อมักจะละเมิดจริยธรรมในการทำข่าว ขณะที่สังคมไทยเองก็ยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องการละเมิดสิทธิของเด็กมากพอ รวมทั้งอีกด้านของสังคมไทยเองก็ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่เคยกระทำผิด ให้มีที่ยื่นอยู่ได้ในสังคมนี้ กลายเป็นเด็กที่กระทำผิดเป็นส่วนเกินที่สังคมไม่ต้องการ เป็นต้น

ที่มา:สำนักข่าวอิศรา