โลกออนไลน์ แข่งขันสูง คอนเทนต์ต้องดี ต้องแม่น ถึงจะซื้อใจคน นักวิชาการติงคนสื่อต้องสร้างบรรทัดฐาน ผู้บริโภคต้องกลั่นกรอง
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเนื่องในโอกาสครอบรอบ 19 ปี ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวฯ โดยในช่วงหนึ่งของเสวนากลุ่มเรื่อง “สื่อมืออาชีพยุคสงครามออนไลน์”
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปยุคหนึ่งคือการ การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction) ถ้าเกิดว่า ของเก่าทำลายไป เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในความหมายของการสื่อสารของสื่อในยุคนี้ คือการทำลายที่สร้างสรรค์จริงหรือเปล่า หรือเป็นการทำลายแบบทำลายล้าง
“วันนี้เราพูดเรื่องสังคมแห่งข้อมูลสารสนเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เชื่อมต่อด้วยข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นต้องเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง ถึงจะเป็นสารสนเทศที่ดีได้ อย่างวันนี้เราจะเจอปรากฏการณ์ ไม่สั้นไม่เร็ว ไม่อ่าน ทุกอย่างจึงต้องสั้น เร็ว ถึงจะอ่าน จนทำให้นักข่าวหรือสำนักข่าวต่างๆ ถูกลดลงความน่าเชื่อถือลง เพราะการรายงานข่าวที่เร่งรีบ แข่งขัน จนไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้นก็ปัจจุบันเรามีฐานันดรที่ห้า คือกลุ่มคนในอินเทอร์เน็ตอย่างบรรดาเพจต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตรวจเช็ค ฐานันดรทั้งหมด รวมถึงสื่อด้วย”
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนหนังสือพิมพ์ เป็นลักษณะส่วนกลางที่รวมความสนใจ แต่พอสื่อใหม่ ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนั้น เราไม่มีทางรับรู้ข่าวได้เลย เพราะอัลกอริทึมของโลกออนไลน์จะนำเสนอไปตามความสนใจของเรา และจากการที่เราค้นหาบ่อยๆ โลกทัศน์เราจึงจะสั้นลง เเคบลงเรื่อยๆ แต่เมื่อก่อน ชอบไม่ชอบ แต่ซื้อหนังสือพิมพ์มาแล้วหนึ่งเล่มก็ต้องเปิดอ่าน นอกจากนี้ ออนไลน์ทำให้เราเลือกที่จะเชื่อในเรื่องที่เราสนใจเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจข้อมูลอีกด้าน ทำให้ทุกวันนี้เราเกิดสังคมที่สุดขั้ว อย่างปัญหาทางการเมือง เป็นต้น ดังนั้น ปรากฎการณ์นี้จึงไม่ใช่สังคมของสารสนเทศอีกต่อไป เพราะไม่มีความหลากหลายทางความคิด การเปิดรับความต่าง
“นักช่าวมืออาชีพหลายคนที่ทำงานมานานหลายสิบปี มีคนตามอ่านกี่คน เทียบกับเพจดังๆ บนเฟสบุ๊คกลับมีคนอ่านมากกว่า ติดตามมากกว่า ดังนั้นสงครามบนโลกออนไลน์คือการทำงานต่อสู้กับความไม่เป็นมืออาชีพ”
ด้านนางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า เราหยุดเทคโนโลยีไม่ได้ เราหยุดพฤติกรรมการเสพสื่อของคนยุคนี้ไม่ได้ ทำข่าวมาดี แต่ไม่มีคนอ่านไม่มีประโยชน์ ดังนั้นพฤติกรรมคนไปทางไหน เราต้องตามให้ทัน เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะมีอะไรเพิ่มมา เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่ง เราต้องเรียนรู้เรื่องการทำข่าว
“วันนี้นักข่าวต้องเรียนรู้เรื่องอื่นๆ มากขึ้นเป็น Multi Skill มากขึ้น เราไม่ได้มองแค่สื่อออนไลน์ด้วยกัน แต่รวมไปถึงเว็ปไซต์อื่นๆ ไหนจะต้องแข่งกับเพจต่างๆ เดี๋ยวนี้ถ้าเราทำข่าวออนไลน์ ใครก็ทำได้ คนผลิตคอนเทนต์ถูกตัดออกไปมาก แต่ถามว่าคนที่รับสื่อรู้ไหม อันนี้น่ากลัว เขารู้ไหมว่าเว็ปปลอม การรู้เท่าทันสื่อ คนผลิตสื่อก็ผลิตไป แต่ว่าผู้บริโภคสื่อเองไม่สามารถกลั่นกรองได้ว่าอันไหนปลอม อันไหนจริง ซึ่งอันนี้น่ากลัว”
ด้านนายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูเเลเว็บไทย กล่าวว่า การที่คนเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มีสามส่วน ส่วนที่1.)คือ คอนเทนต์ 2.)อุปกรณ์ จากเดิมต้องเข้าเฉพาะคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเรามีสมาร์ทโฟน เราสามารถเข้าถึงง่าย 3.)โครงสร้างพื้นฐาน อย่างเครือข่าย 3G 4G ที่ราคาถูกมาก สมัยก่อน สื่อเป็นผู้ทรงอิทธิพล เพราะว่าการจะมาเป็นสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีทีมนักข่าว มีกองบรรณาธิการ มีแท่นพิมพ์ มีสายส่ง นี่คืออิทธิพลของการมีสื่อในยุคเก่า ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ทดแทน สื่อรูปแบบเดิม คนธรรมดาก็เริ่มเป็นสื่อได้ อย่างเพจต่างๆ บนเฟสบุ๊ค ดังนั้นสื่ออนไลน์เป็นสนามที่ยากมาก เพราะคนสามารถทำคอนเทนต์ได้เอง เมื่อมีคอนเทนต์มหาศาลผู้บริโภคก็ย่อมมีตัวเลือกมหาศาลที่จะเลือก
นายอภิศิลป์ กล่าวด้วยว่า ประเด็น สื่อโชเชียลต่างๆในวันนี้ เรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่เหมือนจากเมื่อก่อนที่เรามีโรงพิมพ์ สายส่งเอง ยุคสื่ออนไลน์แข่งกันลำบาก วันนี้คุณต้องสร้างอิทธิพลให้ได้ นั่นคือ ต้องเข้าไปอยู่ในใจคนให้ได้ และด้วยคอนเทนต์ที่มีมากมาย คนต้องเลือกอ่าน ฉะนั้น ทำอย่างไรในเนื้อหาของเราน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอย่าทำลายความเชื่อของสำนักตัวเอง อย่ามักง่าย สมัยก่อนเชื่อนักข่าว เพราะนักข่าวกรองมาดีพอเเล้ว แต่เมื่อไรที่เราตัดส่วนนี้ไป คนเสพจะตั้งคำถามแล้วว่า จะเชื่อหรือไม่ ซึ่งนั่นทำให้คนเลือกไปเชื่อเพจในเฟสบุ๊คมากกว่า
นางสาววาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า สงครามโลกออนไลน์ ทุกวันนี้สื่อออนไลน์ เมื่อฉบับไหนขึ้น ฉบับอื่นๆ ก็จะตามกันไป ผิดก็จะผิดเหมือนกัน ทำไมต้องรีบ เราไม่สามารถรู้ว่าอันไหนเป็นต้นฉบับ เพราะออกมาคัดลอกกันเลย ในที่สุดเมื่อผิดก็ต้องมาแก้ตามกัน มองว่าเป็นปัญหา ที่เกิดจริงๆ นักข่าวเป็นเหมือนคนที่จะต้องตรวจสอบ ข้อมูลให้มากกว่าในยุคโซเชียล ข่าวลือเยอะมาก หรือข่าวประเภท เอาเร็วไว้ก่อน โดยไม่ตรวจสอบทำอย่างไร ให้ข่าวที่ออกจากนักข่าวมืออาชีพคือความจริง เชื่อถือได้ ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องแข่ง เอาแค่ทันข่าว ทันสมัยพอ
น.ส.วาสนา กล่าวด้วยว่า ยุคนี้คือยุคเปลี่ยนผ่าน ณ วันนี้ไม่ใช่จุดพีคของการแข่งขันสื่ออนไลน์ เป็นแค่สัญญาณเตือนเท่านั้น การต่อสู้จะมากกว่านี้ การให้เครดิตข่าวของแต่ละที่ คือการให้เกียรติซึ่งกันเเละกัน คนในสนามข่าวต้องช่วยกันตรวจสอบ ในอนาคตหากเราไม่จัดการดีๆ จะเกิดสงครามออนไลน์