รมว.วิทย์ ชี้วงการมีเดีย กำลังมี Start Up และมีโอกาสสร้างสรรค์มากมาย สามารถทำให้วงการนี้เติบโตและมีการสร้างความหลากหลายในวงการได้อีกมากมาย เราอาจช่วยตัวปลดล็อค หรือคิดในประเด็นก้าวไปข้างหน้า
วันที่ 4 กรกฎาคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานครบรอบ 19 ปี โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติมาเป็นปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สื่อมืออาชีพยุคสงครามออนไลน์”ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.พิเชฐ กล่าวตอนหนึ่งถึง สื่อมืออาชีพ และพลเมืองโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ของเทคโนโลยี ซึ่งมีผลเชิงบวกและผลเชิงลบ ในวงการหนังสือพิมพ์ ตัวเทคโนโลยีจะเป็นตัวนำ ในวงการต่างๆ ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ จะมีคำว่า Disruptive Technology คือ มีความคิดใหม่ๆ ความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีและทำให้อุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมโหฬาร เคยมีกำไรมหาศาลล้มได้ภายในไม่กี่ปี
“วันนี้จึงเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เราต้องคำนึงถึง 1.ออนไลน์กับดิจิตอล มีผลกระทบอย่างไร 2.สังคมนวัตกรรม ที่อาจทำให้ไทยลืมตาอ้าปาก หรือพัฒนาแบบก้าวกระโดด แม้กระทั่ง ปรากฎการณ์ Brexit ก็อาจเป็นโอกาส ความอ่อนแอของตะวันตก ความเข้มแข็งของตะวันออก ศตวรรษนี้คงไม่หนีไปไหน และประเทศไทยในฐานะไข่แดงของอาเซียนจะปรับตัวอย่างไร และ 3.การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงจะรองรับอย่างไร”
รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการที่จะให้คนเข้าสนใจข่าวสาร เนื้อหา ถือเป็นหัวใจ ขณะที่การเชื่อมโยงสื่อสาร ก็เป็นเรื่องของสินค้า ที่มีให้เลือกมากมาย ทั้งสิ่งพิมพ์กระดาษ ออนไลน์ มือถือ การเคลื่อนย้ายข้อมูลได้สะดวกสบาย ซึ่งหากมองไปอีก 5 ปีข้างหน้าสิ่งที่เราทำในวันนี้สามารถล้าสมัยภายในเวลาไม่กี่ปี ฉะนั้น เนื้อหา จึงมีความสำคัญ เนื้อดี เท็จ ทำให้เกิดการพัฒนา เนื้อหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง มาจากมนุษย์ทั้งสิ้น
“เรากำลังพบกับปรากฎการณ์ สื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ ทีวี วันนี้ต้องคิดให้ดีจะโดน Disruptive Technology หรือไม่ ระบบต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว สื่อหนังสือพิมพ์อาจต้องระวังอาจ หากมีเทคโนโลยีใหม่มาทำให้เกิดการชะงักงัน ของเทคโนโลยี จะอยู่ร่วมกัน หรือดัดแปลงสื่อให้มาเป็นออนไลน์ 80% สื่อกระดาษ 20% ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากภายในประเทศ เป็นทั่วโลก ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สื่อต้องปรับตัว”
ดร.พิเชฐ กล่าวการเปลี่ยนแปลง เมื่อดูสถิติประชากรไทย 60 กว่าล้านคน มีอุปกรณ์โมบาย 97 ล้านการลงทะเบียนเป็นเจ้าของ หรือ 150%ของจำนวนประชากร ,มี internet users 23 ล้าน หรือ 37% ของประชากร, มีคนที่แอ็คทีฟมากในโซเชี่ยลมีเดีย 32 ล้าน หรือ 49% ของประชากร, มีคนเล่นโซเชี่ยลมีเดีย โดยใช้โมบาย 28 ล้าน ซึ่งจะเห็นว่า โซเชี่ยลมีเดียกับโมบายกำลังสนธิกำลังกันอย่างรุนแรง รวดเร็ว ไม่เพียงแต่เฉพาะในแง่การแชทเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา
นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย 2558 พบว่า 82% ใช้โซเชี่ยวเน็ตเวิร์ก, 56% ใช้หาข้อมูล 52% อ่านหนังสือ, 42% ดูทีวี ฟังวิทยุออนไลน์, 52% รับส่งอีเมล์, 32% ใช้ดาวโหลด, 28% เล่นเกมส์, 25% ใช้ซื้อของ, 20% ใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน และ 15% ใช้จองตั๋วออนไลน์
“หลายปีก่อนเราไม่ค่อยทำเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงิน เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย กลัวบัตรเครดิตคนอื่นเอาไปใช้ ปัจจุบันคนกลัวน้อยลง ระบบรักษาความปลอดภัยดีขึ้นเรื่อยๆ และยังพบว่า ใช้โมบาย ไอแพด ทำเรื่องพวกนี้ กำลังพุ่งขึ้นแทนคอมพิวเตอร์ มีการคาดกันว่า อีกไม่นาน คอมพิวเตอร์ก็จะถูก Disruptive Technology เช่นกัน”
รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงเรื่องนวัตกรรม ที่ดิจิตอลกับนวัตกรรมเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ซึ่งคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม ภาครัฐต้องสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมา สร้างฐาน Start Up ให้กว้าง ให้มีจำนวนมากเชื่อว่า สูตร Start Up สามารถแจ้งเกิดได้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนรุ่นใหม่ มีพลังการสร้างสรรค์ และนำสู่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
“ผมคิดว่า วงการมีเดีย กำลังมี Start Up และมีโอกาสสร้างสรรค์มากมาย สามารถทำให้วงการนี้เติบโตและมีการสร้างความหลากหลายในวงการได้อีกมากมาย เราอาจช่วยตัวปลดล็อค หรือคิดในประเด็นก้าวไปข้างหน้า”
นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ได้ยกตัวอย่าง นวัตกรรมเพื่อชี้ให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริดส์ โซล่าเซลล์
“โลกกำลังประหลาดๆ เพราะบริษัทรถยนต์ใหม่ๆ ที่ลุกขึ้นมาทำรถยนต์เป็นบริษัทไอที เพราะอุปกรณ์รถยนต์สมัยใหม่เต็มไปด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เกมเปลี่ยน อนาคต Start Up จะเกิดมากขึ้น”
สุดท้าย รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงนักข่าวมืออาชีพวันนี้อาจต้องเร่ง
เครื่องการเรียนรู้ นอกจากเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แล้วต้องเข้าใจสภาพโซเชี่ยลมีเดียที่มีทั้งบวกและลบ เพื่อให้สังคมมีปัญญามากขึ้น การป้องกันโซเชี่ยลมีเดียที่เป็นลบ การป้องกันทำอย่างไรก็ไม่สมบูรณ์ กำกับกันเองได้ระดับหนึ่ง ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่ที่ใจ ระบบการศึกษาต้องสร้างความเข้าใจและคัดกรองสิ่งที่ใช่ และไม่ใช่คืออะไร
“ผมเห็นใจนักข่าวที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ทำอย่างไรจะรักษาความปลอดภัย หรือการบริหารเนื้อหาของสื่อแต่ละประเภท ซึ่งนับวันจะทวีปริมาณจนกระทั่งรองรับไม่ไหว ทำอย่างไรจะมี Big data หรือ data mining” ดร.พิเชฐ กล่าว และว่า ในเมื่อเนื้อหาในสื่อสำคัญที่สุด เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการสร้างปัญญา ก็น่าจะเป็นเป้าหมายของสื่อ ในการเข้ามาร่วมทำงานในเชิงพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น จึงอยากเห็น สังคมที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คือเป้าหมายของการทำงานสื่อมวลชน นอกจาก เสรีภาพมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และหากจำเป็นเสนอให้มีระบบบอยคอตที่เป็นธรรมกับผู้ละเมิดด้วย