แนะสื่อประเมินผลกระทบรอบด้านก่อนเสนอข่าวจังหวัดชายแดนใต้

 

ถ่ายภาพหมู่

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2559 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ปัญหาการนำเสนอข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทบสิทธิและสร้างความหวาดระแวง ณ โรงแรมพาราไดส & รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทสื่อมวลชนกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อ่อนไหว จากนั้น นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 และประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดี คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา

DSC01407

นางอังคณา นีละไพจิตร  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์การนำเสนอข่าวที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ และในฐานะที่เคยถูกมองว่าเป็นแนวร่วมมุมกลับ ต้องขอบคุณที่วันนี้ริเริ่มการทบทวนจริยธรรมสื่อ นิยามของสื่อในวันนี้คืออะไร สื่อหมายถึงใครบ้าง และใครบ้างที่สื่อสามารถควบคุมจริยธรรมได้ และจะมีวิธีการอย่างไรในการควบคุม ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง และตรวจสอบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย สนับสนุนสิทธิในการรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน และไม่อยากเห็นสื่อถูกคุกคาม

นายโอฬาร กุลวิจิตร กล่าวว่า ขอเสนอให้สื่อมวลชนอย่าได้เสนอข่าวที่ซ้ำเติมผู้เสียหาย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา พยาน และจำเลย หากข่าวที่เสนอไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะก็เห็นด้วย แต่หากก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นก็ขอให้พิจารณาให้ดีก่อน

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวว่า นอกจากการเสนอข่าวภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนแล้ว สื่อต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติเป็นหลัก เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหาในมิติของความมั่นคงอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน มิเช่นนั้น อาจตกเป็นแนวร่วมมุมกลับ คือ การนำเสนอข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น หากสงสัยส่วนใดให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ก่อน จะได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพราะสื่อมวลชนถือว่าเป็นเครื่องมือหลักที่มาเติมเต็มการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างดี

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล กล่าวว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรังและซับซ้อน คนที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ระดับรากหญ้า อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญของสื่อที่เป็นปัญหา คือ การใช้วาทกรรมแบ่งแยกพวกเขา พวกเรา ทำให้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้แย่ลง การยิ่งนำเสนอข่าวแบ่งแยก ยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงและความหวาดระแวงมากขึ้น การใช้วาทกรรมเพื่อแบ่งแยกจะต้องใคร่ครวญให้ดี ไม่ว่าจากฝั่งทหาร ความมั่นคง หรือแม้แต่สื่อมวลชนก็ตาม สื่อไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ สื่อมีหน้าที่นำเสนอข่าวให้สมดุลและรัดกุมรอบด้าน อย่าให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่เป็นคู่ต่อสู้กันในเชิงสงคราม มีพวกเขาพวกเรา พวกเราจะต้องกำจัดพวกเขาให้สิ้นไปจากแผ่นดินเพื่อจะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น

นายปกรณ์ พึ่งเนตร กล่าวว่า ทุกวันนี้การเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิยังมีอยู่เพราะมีคนดู มีเรทติ้ง ดังนั้น ต้องปฏิรูปผู้บริโภคให้รู้เท่าทันสื่อ ว่าเป็นสื่อจริง สื่อปลอม และสามารถหาข้อมูลตรวจสอบเองด้วย รวมทั้งต้องให้กำลังใจสื่อดี ซึ่งมีแต่ใกล้ตายหมดแล้ว เพราะผู้บริโภคไม่สนใจ หากผู้บริโภคมีพลังก็จะสามารถกดดันให้สื่อกลับมาเข้ามารูปเข้ารอยได้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังมีความเห็นว่าการนำเสนอข่าวแบบอคติทำให้เกิดความเกลียดชัง จึงไม่อยากให้สื่อนำเสนอในลักษณะนี้ เพราะยิ่งนำเสนอข่าวความรุนแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ประชาชนหวาดระแวงกันมากเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้ระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวสรุปการสัมมนาว่า พบประเด็นปัญหาร่วมของการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ สื่อมวลชนในพื้นที่ไม่มีปัญหาเพราะเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ดี แต่ปัญหาคือ บรรณาธิการในส่วนกลางไม่เข้าใจปัญหา และเน้นข่าวที่เป็นความขัดแย้ง ผลกระทบจากการนำเสนอข่าวที่เข้าใจสถานการณ์ทำให้เกิดความหวาดกลัวจนประชาชนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสื่อมวลชนนำข่าวและภาพข่าวจาก Social media มานำเสนอโดยไม่มีการตรวจสอบ ปัญหาการรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในความหมายที่แคบ หรือเพียงแค่การละเมิดทางร่างกาย ไม่นำเสนอการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น รวมทั้งสื่อมวลชนขาดความระมัดระวังการเสนอข่าวจนกลายเป็นเครื่องมือของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ส่วนข้อเสนอแนะที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวว่า สื่อมวลชนต้องตรวจสอบข่าวอย่างรอบด้านก่อนการนำเสนอเพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด และการนำเสนอข่าวต้องระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตกเป็นข่าวในทุกกรณี นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์แก่บรรณาธิการผู้รับผิดชอบสื่อระดับชาติว่า การนำเสนอข่าวต้องประเมินผลกระทบให้รอบด้านเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์และส่งเสริมให้มีการรายงานข่าวในเชิงบวกที่สะท้อนว่า ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

 

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

2 มิถุนายน 2559

สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่ www.presscouncil.or.th

Download (ข่าวประชาสัมพันธ์สัมมนาภาคใต้.pdf,PDF, Unknown)