“อนาคตสื่อไทย หลัง รธน. ฉบับใหม่” โดย ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปธ.คณะกรรมาธิการยกร่างฯ

1

‘ดร.บวรศักดิ์’ ถามหาอารยวัฒนธรรมสื่อมวลชน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงาน ‘กฎหมายใหม่พลิกโฉมสื่อไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง อนาคตสื่อไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใจความตอนหนึ่งระบุถึงร่างรัฐธรรมนูญพยายามทำหน้าที่ในหลักการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างเสรีภาพ สิทธิ และเทคโนโลยี 3 ประการ ดังนี้

1.สิทธิรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ถูกเขียนไว้ในมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมได้รับการคุ้มครอง

นั่นหมายความว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองสิทธิของประชาชนเป็นรากฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งแตกต่างจากศตวรรษที่ 18 ที่นำเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อสารมวลชนไปเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ดังนั้น สื่อมวลชนต้องเน้นสิทธิของประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน

“หากข้อมูลไม่ถูกต้องหรือรอบด้านถือเป็นการทำลายสิทธิของประชาชน และขาดความหลากหลายในการเลือกบริโภคสื่อ”

นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังห้ามครองสิทธิข้ามสื่อ โดยเขียนไว้ในมาตรา 50 วรรคสองและสาม ให้กำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และสารสนเทศ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น คนพิการ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ประโยชน์สาธารณะ และส่วนร่วมในการดำเนินสื่อสาธารณะของประชาชน

ปธ.กมธ.ยกร่างฯ บอกว่า สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในไทยไม่เกิน 18 ปี นำมาสู่การออกกฎหมายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีสภาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วม ทว่า ไม่เพียงพอ เพราะการมีส่วนร่วมไม่เฉพาะการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ รวมถึงการทำสื่อต่าง ๆ ระดับชุมชน และสื่อทางเลือก ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้น ยกเว้น บริบททางการเมือง

ทั้งนี้ การกำกับกิจการดังกล่าวต้องครอบคลุมอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ด้วยเพราะที่ผ่านมา องค์กรกำกับดูแลสื่อมักให้ความสำคัญเรื่องรายได้เข้ารับ โดยละเลยการใช้จ่ายของประชาชนที่เกี่ยวพันกับปริมาณการสื่อสารที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถูกท้วงติงจากนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กังวลว่า จะไม่ใช้วิธีการประมูลหรือประมูลคนละเงื่อนไข ซึ่งข้อเท็จจริง เงื่อนไขการแข่งขันใช้คลื่นความถี่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขเดียวกัน มิใช่ผู้ประกอบกิจการจะเสนอตามใจชอบได้ พร้อมกันนี้ ค่าใช้จ่ายของประชาชนลดลงจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาด้วย

“มาตรา 48 วรรคห้า และมาตรา 50 วรรคสี่ ระบุให้เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องมีสัญชาติไทย และบุคคลไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมหลายกิจการ ในลักษณะอาจมีผลในการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลในการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน”

เพราะฉะนั้น ดร.บวรศักดิ์ จึงเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือออนไลน์ ครองสิทธิข้ามสื่อในตัวเองได้ แต่ทำในลักษณะหนึ่งลักษณะใดใน 3 ประการ ข้างต้นไม่ได้ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นปัญหา ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เกิดจากสื่อประเภทอื่น ซึ่งอยู่ในกำกับองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่รับได้ให้ดีไม่ให้ผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความเห็นทางสังคม

 

2.ความเป็นอิสระที่มีความรับผิดชอบของสื่อมวลชน โดยร่างรัฐธรรมนูญสร้างหลักประกันความเป็นอิสระ ที่สำคัญ 4 ประการสำคัญ ได้แก่

– อิสระจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง ห้ามปิดสื่อมวลชน ห้ามเซ็นเซอร์ข่าว ห้ามนักการเมืองแทรกแซงหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ ยกเว้น ผู้พ้นจากการ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้ง จะซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐ ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมาย โดยต้องเปิดเผยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละราย เพื่อขจัดการใช้งบประมาณสาธารณะไปครอบงำ แบบไม่รู้สึกครอบงำ

-อิสระจากคนไม่ใช้สัญชาติไทย เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนต้องถือสัญชาติไทย แม้จะมีข้อถกเถียงในอนาคตจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจเกิดปัญหาหรือไม่ กรณีนี้ต้องติดตามดูต่อไป

– อิสระจากนายจ้าง

– อิสระในการตรวจสอบทุจริต ไม่เคยถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งมาตรา 70 วรรคสาม ระบุว่า บุคคลหรือสื่อมวลชนซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตต่อองค์กรตามรัฐธรรนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หน่วยงานภาครัฐ หรือสาธารณะ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ยังระบุว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 49 ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภคให้ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพในการเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคล ผู้สื่อข่าว คอลัมน์นิสต์

“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งการจัดทำกฎหมายย่อมขึ้นอยู่กับคนในวิชาชีพร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้มีองค์กรของตัวเอง จะได้ไม่เกิดปัญหา”

ดร.บวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า 3.การปฏิรูปสื่อมวลชน เขียนไว้ในมาตรา 296 เดิม แต่ขณะนี้กำลังนำเนื้อหาไปบรรจุไว้ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปแทน เพราะรัฐบาลระบุว่า หากนำสาระการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งในอนาคต ครั้นจะแก้ไขภายหลังก็คงยาก โดยมีเนื้อหากำหนดมีกลไกส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพเกิดเสรีภาพที่มีความรับผิดชอบ และปฏิรูปกลไกให้มีความเป็นอิสระของสื่อจากรัฐและทุน

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐไม่ได้คุมสื่ออีกต่อไป ตรงกันข้ามทุนกลับคุมสื่อแทน ฉะนั้นทำอย่างไรไม่ให้ทุนคุมสื่อ หรือทุนเลิกใช้อำนาจจนทำให้ผู้สื่อข่าวหรือคอลัมน์นิสต์มีอิสระลดลง ฝากให้คิดว่า ควรมีกฎหมายกำหนดให้กิจการสื่อไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) และบุคคลใดถือครองหุ้นเกิน 5% ไม่ได้

“ผมเชื่อว่าถ้าผลักดันเรื่องนี้จริง กมธ.ยกร่างฯ คงถูกตียับเยิน ทว่า ผู้แทนราษฎรอังกฤษกลับเห็นด้วย เพราะอำนาจทุนคนเดียวสามารถชี้นิ้วสั่งการได้ แต่เมื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อำนาจในการครอบงำสื่อจะลดลง”

สำหรับกลไกกำกับตนเองด้วยจริยธรรมนั้น ปธ.กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่า ต้องส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ และกำหนดให้จัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรด้านสื่อมวลชนให้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรสื่อสาธารณะได้ปฏิรูปให้มีสื่อทางเลือก สื่อชุมชน และสื่อสันติภาพ ที่น่าสนใจ ต้องกำหนดให้อุดหนุนการสร้างสรรค์และผลิตสื่อที่มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“สิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่กฎหมายทำไม่ได้คือการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระจากภายใน ซึ่งต้องอาศัยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน วิชาชีพของผู้ร่วมงาน และสังคม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารยวัฒนธรรมของสื่อมวลชน” ดร.บวรศักดิ์ ฝากทิ้งท้ายถึงสื่อมวลชนทางการ

241973