
แผ่นดินไหว ตึกสตง.ถล่ม บทเรียนภัยพิบัติ สถานการณ์ฉุกเฉิน นักวิชาการชี้จุดอ่อนภาครัฐ สื่อสารล่าช้า ประเมินการทำหน้าที่สื่อ คือสะพานเชื่อมรัฐกับประชาชน ให้ความรู้ ช่องทางความช่วยเหลือ ขยายผลตรวจสอบปมทุจริต ยกบทเรียนโควิด คาดหวังรัฐบาลมีศูนย์สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมชุดข้อมูลเตือนภัย ด้านนักวิชาชีพ มั่นใจแนวปฏิบัติ สื่อมืออาชีพ ทำหน้าที่หน้างานได้อย่างดี หนุนสื่อบุคคล อินฟลูฯ เติมความรู้จากสื่อ องค์กรวิชาชีพพร้อมช่วยเหลือ
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 ทาง MCOT NEWS FM 100.5 พูดคุยเรื่อง “การรายงานข่าว ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน อธิบายการรายงานข่าวในสภาวะวิกฤติ ถือเป็นวารสารศาสตร์สมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ในยุคปัจจุบันเรามีสื่อมากมาย และมีบทบาทสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนรับมือกับสภาวะวิกฤติได้ ดังนั้นข่าวที่ดี จึงไม่เพียงแต่ จะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ การกระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ข้อมูลที่แม่นยำสามารถช่วยชีวิตคนได้ และเป็นข้อมูลที่จะทำให้เขาตัดสินใจจัดการตัวเองได้ ในสภาวะฉุกเฉิน
กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ถล่ม ขณะเกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว สื่อที่นำเสนอข่าว มีหลายสถาบัน หลายประเภท ก่อนอื่นเราจะต้องประเมิน Stakeholders ที่อยู่ในสถานการณ์ก่อน มีทั้งผู้ประสบภัย ไม่ได้ประสบภัย แม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติ รวมถึงคนที่อยากรู้ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการรายงานข่าว อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบแล้ว พอรู้ว่าอาจจะมีอาคารสถานที่ ที่ยังไม่ปลอดภัยอีก หากการรายงานข่าว บางครั้งอาจจะเกินจริง ก็จะส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงของประชาชนที่ได้รับข่าวสารได้
ฉะนั้น การวางกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง จึงต้องประเมิน Stakeholders ก่อนว่า มีกลุ่มใดบ้าง แล้วเราจะสื่อสารอย่างไร ที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบ เช่น กรณีเอกสารภายในของ สตง.ที่ต้องการสื่อสารเฉพาะคนในองค์กร ถูกสื่อเผยแพร่ออกมา ทำให้ Stakeholders กลุ่มอื่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สูญเสีย อาจจะไม่เข้าใจ ไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเวลาที่สื่อรายงานข่าว ก็จะต้องคำนึงถึงกลุ่มอื่นๆที่อาจได้รับข่าวสารด้วย
เน้นย้ำแนวปฏิบัติสื่อในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับแนวปฏิบัติที่สื่อจะต้องทำ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
1. นักข่าวต้องคำนึงถึง การเป็นสะพานเชื่อม ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ขณะเดียวกัน ข้อมูลก็ต้องทันท่วงที เพราะปัจจุบันเห็นได้ว่า ทุกคนต้องการเสพข่าว ดังนั้นสื่อจึงเก็บรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบ ก่อนรายงาน ขณะเดียวกันก็ต้องทันต่อความต้องการของประชาชนด้วย สื่อก็จะเป็นตัวเชื่อมทั้งสองฝ่ายคือรัฐกับประชาชน และ Stakeholders ทั้งหมด
นอกจากนี้ ก็ต้องคาดการณ์ คำถามที่ประชาชนต้องการด้วย เช่น จะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ต้องเตรียมตัวอย่างไร จุดเสี่ยงต่อไป หากโครงสร้างใดมีรอยร้าว รอยแยกต่างๆ ขนาดเท่าไหร่ ควรต้องสงสัย สื่อจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนได้ข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเองมากขึ้น
2. สื่อต้องสร้างข้อความที่ชัดเจน เพราะหลายๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่า การรายงานข่าวไม่ใช่ทำทุกช่องทางสื่อ ในบางช่องทางอาจนำภาพจาก AI มาเสนอ หรือพูดในเชิงใช้อารมณ์ความรู้สึก แม้จะไม่ผิด แต่ถ้าในสถานการณ์วิกฤติ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนหนึ่งเขาอาจเกิดอาการแพนิคจากความไม่มั่นใจ การได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล ก็อาจจะเกิดการแพนิค หรือการรับข้อมูลข่าวสารจากหลายๆ ช่องทาง ก็อาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด เช่น เหตุการณ์ที่ศูนย์ราชการ เป็นต้น
สื่อสารภาครัฐล่าช้า ควรใช้หลายช่องทาง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการสื่อสารเรื่องภัยพิบัติของภาครัฐ รศ.ดร.อัจฉรา ระบุว่า ถือว่าล่าช้า หลังจากเกิดเหตุการณ์ การแจ้งเตือนล่าช้า เพราะไม่ได้มีการคาดการณ์ หรือเตรียมการ แต่อย่างน้อย อยากให้คิดถึงทางเลือก ช่องทางในการสื่อสารในช่องทางอื่น
“จริงๆ ในชุมชน หรือท้องถิ่น ก็มีช่องทาง เช่น เสียงตามสาย ระบบไซเรนตามตึกต่างๆ ซึ่งใช้งานได้ดี และเร็วมาก เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมช่วงใหญ่ หลังๆ มาแทบจะไม่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำป่าเลย เพราะทำได้อย่างรวดเร็วภายในชุมชน สิ่งสำคัญ เราอย่าไปมุ่งเน้น SMS เพราะเราปรับปรุงไม่ทัน ในเวลาที่เหลืออยู่ กับการที่เราจะทำเซลล์บรอดคาสต์ ( Cell Broadcast หรือ CB วิธีการส่งข้อความสั้น ๆ ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในพื้นที่ที่กำหนดพร้อมกัน) ให้สำเร็จ ชุมชนคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือขณะเกิดภัยพิบัติ”
“เรื่องการสื่อสาร เป็นสิ่งที่สำคัญ หลายชุมชน บางองค์กร ใช้ไม่ได้ เสียงกริ่งไม่ดัง เสียงเบา เพราะไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการซ้อมรับมือ การหนีจากภาวะภัยพิบัติ บางองค์กรเลิกทำไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ อาจจะต้องดำเนินการแบบท็อปดาวน์ลงไป และกระจายออกไปสู่ท้องถิ่น ให้ช่วยกันดำเนินงาน เรื่องแผนการรับมือกับภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
รศ.ดร.อัจฉรา ตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐด้วยว่า ภาวะวิกฤติ ไม่ใช่แค่น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ต่อไปสิ่งที่เราจะต้องรับมือก็คือ สภาวะที่เกิดจากแผ่นดินไหว หรืออาจจะมีความเสี่ยงอื่นๆ เกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยง ที่สำคัญต้องถามตัวเองด้วยว่า การประเมินความเสี่ยงที่ผ่านมาของเราเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะเรามุ่งเน้นว่า ประเทศเรามีความเสี่ยงสูงสุด จากน้ำท่วม แต่ไม่เคยมองความเสี่ยงในเรื่องอื่นๆ ว่าเป็นภาวะคุกคาม ที่อาจส่งผลผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้เช่นกัน
หนุนสื่อขยายผลตรวจสอบทุจริต
สำหรับประเด็นที่สื่อขยายผลจากภัยพิบัติ ตรวจสอบเรื่องการทุจริต ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีตึก สตง.ถล่ม รศ.ดร.อัจฉรา ระบุว่า ทุกวิกฤติ คือความสับสน และประชาชนต้องการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ ในซีเรีย ในตุรกี ที่เกิดแผ่นดินไหว ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกับเรา คือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มีการปิดบังข้อมูลจากทางภาครัฐว่า สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ มีประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อาจเกิดการพังทลาย มาจากการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ จึงไม่แปลก ที่ประชาชนยังสงสัยต่อการดำเนินงานของรัฐบาล จึงนำไปสู่การตรวจสอบของสื่อว่า ใครควรผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ฉะนั้นก็เป็น 2 ฝั่ง ที่จะต้องช่วยกัน คือ ภาครัฐต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ ฝั่งสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต หรือความล้มเหลวขององค์กร หรือภาครัฐ แต่ไม่ใช่เพื่อจับผิด ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่มันก็คือการถอดบทเรียนว่าในปัจจุบัน เราจะอยู่กันอย่างไร แล้วในอนาคตจากบทเรียนที่เราได้ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ เราจะแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต และวางแผนรับมือกับสภาวะภัยพิบัติ โดยที่ประชาชนไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ ทำไมการแจ้งเตือนภัยถึงเป็นไปได้ล่าช้า เราก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นบทเรียน ในการแก้ไข กระบวนการในการตอบสนองต่อวิกฤติในอนาคตสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รัฐก็ต้องนำไปเป็นบทเรียนด้วย
รศ.ดร.อัจฉรา ประเมินการทำหน้าที่รายงานข่าวของสื่อกระแสหลัก กรณีตึกถล่มว่า ในแง่คุณภาพให้เต็ม 10 เพราะนอกจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลมารายงานแล้ว ยังเป็นลักษณะ Investigates ได้ข้อมูลรวดเร็ว และเป็นข้อมูลในการสนับสนุนตำรวจได้อีกทาง ถือเป็นเรื่องดี ในแง่ทำให้เกิดการพิสูจน์ หาความจริงให้ปรากฏ
สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลยามวิกฤติ
ด้านนักวิชาการสื่อ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประเมินการทำหน้าที่ของสื่อ ในช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว ตึก สตง.ถล่ม ว่า วันเกิดเหตุทุกคนไม่ได้รับการสื่อสารจากภาครัฐ ทุกคนก็มุ่งไปหาโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็มีข้อดี คือมีทั้งสื่อมวลชน ที่เป็นสื่อหลัก มีเพจโซเชียลมีเดีย ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ ว่าเกิดแผ่นดินไหว และทุกคนต้องระมัดระวังอะไร อย่างไร

ตรงส่วนนี้ สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ที่เป็นออนไลน์ เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักกับประชาชน เนื่องจากภาครัฐไม่ได้สื่อสารอย่างรวดเร็ว ทำให้สื่อมวลชนเป็นพระเอกในการแจ้งว่า เกิดอะไรขึ้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นตรงไหน ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางตรงไหน ต้องทำอย่างไร สื่อมวลชนเป็นผู้ให้ข้อมูลตรงส่วนนี้ ถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบมาก โดยเฉพาะการบอกต่อ ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ต้องทำอย่างไร
“ตอนที่ที่เกิดเหตุ ผมเองอยู่ในพื้นที่ ที่มีคนหมู่มาก ทุกคนก็จะมองหาข้อมูลจากมือถือตัวเอง ดูจากโซเชียลมีเดีย ว่าเกิดอะไรขึ้น ในส่วนนี้ทำให้คนเห็นข้อมูลว่า เกิดอะไรขึ้นตรงไหน เกิดเหตุตรงไหน และควรจะหลีกเลี่ยงเส้นทางอย่างไร วันนั้นมีการปิดถนนบางจุด ทางด่วนบางส่วน รถไฟฟ้าปิด ทุกคนจะต้องวางแผนการเดินทางกันใหม่ ในส่วนนี้สื่อมวลชนก็เป็นผู้ให้ข้อมูล ทำให้ประชาชนสามารถวางแผนได้ว่าจะทำอย่างไร”
อีกส่วนที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือระบบโอปะเรเตอร์ หรือระบบการสื่อสารของประเทศไทยไม่มีปัญหาในวันเวลาที่เกิดเหตุอินเทอร์เน็ตยังใช้งานได้ ประชาชนยังใช้ระบบการสื่อสารได้ เขาก็ไปหาข้อมูลกันเองทำให้สื่อมวลชนให้ข้อมูลกับภาคประชาชนค่อนข้างดี แต่จุดเสียก็คือ มีข่าวปลอม ข่าวลวง ออกมามากมายเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ขณะที่ภาครัฐกลับไม่ได้สื่อสารกับประชาชน เป็นความโชคดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีความรุนแรงอะไรที่เกิดขึ้นจากข่าวปลอมถ้าหากข่าวปลอมบอกว่า ทุกคนต้องไปรวมตัวกันที่ใดที่หนึ่ง กลับกลายเป็นว่าพื้นที่นั้น เป็นพื้นที่อันตราย อาจเกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้นมา
ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของสื่อ หลังเกิดเหตุการณ์ สื่อรายงาน 2 แบบ คือ 1. การให้ความรู้ประชาชน นอกการเรื่องการขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ เงินชดเชย การแจ้งประกัน อีกทั้งยังให้ข้อมูลความรู้ว่าทำไมเขตจตุจักร เป็นเขตที่มีแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในกรุงเทพฯคือ 5.1 และจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ยังมีจุดไหนอีกบ้าง เป็นต้น
กับ 2.รายงานเรื่องขุดคุ้ยตรวจสอบเบื้องหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทำไมจึงมีตึก สตง.ถล่มเพียงตึกเดียว ทำให้ทุกคนพุ่งเป้าสื่อก็ได้ไปค้นหาข้อมูล การดำเนินการของหน่วยงาน มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ตรงนี้เป็นจุดที่ประชาชนให้ความสนใจกระบวนการสืบสวนสอบสวนของสื่อมวลชน ได้ตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นให้ประชาชนได้ทราบ ถือเป็นจุดดี
บทเรียนโควิดรัฐควรมีศูนย์สื่อสาร
ส่วนการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐในวันที่เกิดเหตุ ผศ.ดร.สิงห์ มองว่า เพื่อดูแลสถานการณ์ เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินใดก็ตาม ต้องมีทีมที่เป็นผู้สื่อสารโดยตรงกับประชาชน และต้องมีคู่มือ หรือชุดข้อความ ที่สื่อสารกับประชาชนว่า ถ้าเกิดเหตุอะไร ต้องใช้ข้อความใด เช่น แผ่นดินไหว ไฟป่า ชุดข้อความ หรือชุดข้อมูล ที่จะสื่อสารกับประชาชน จะต้องเตรียมเอาไว้
รวมถึงการกำหนดตัวผู้ที่จะให้ข้อมูลกับประชาชน ซึ่งตามปกติเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เหตุภัยพิบัติ ก็จะกำหนดว่า มีเพียงบุคคลคนเดียวเท่านั้น ที่จะแถลงข่าวในนามรัฐบาล หรือเป็นผู้ดำเนินการเพียงคนเดียว
ประเทศไทยเคยผ่านช่วงโควิดมาแล้ว เราเคยมีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว ในช่วงแรกก็เกิดความสับสนว่า ใครจะเป็นผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีค่อนข้างมาก คนให้ข้อมูลหลักคือใคร จนระยะหลัง ก็มีการเซ็ตชุดข้อมูล ว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก ตรงนี้เราไม่ได้ถอดบทเรียนมาว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ลักษณะเดียวกัน จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้มีชุดข้อมูลในการสื่อสารกับประชาชน
อนาคต รัฐบาลต้องเริ่มมองต่อไปว่า ถ้าเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก ต้องวางแผนสำหรับช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการสื่อสารอย่างฉุกเฉิน ที่มีรูปแบบ มีแผนล่วงหน้า หากเกิดเหตุ จะต้องทำอะไร 1-2-3-4-5 ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่มีแผน เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จึงเกิดความสับสนวุ่นวายทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะไม่จะเชื่อข้อมูลจากใครได้
แนวปฏิบัติทำข่าวภัยพิบัติอย่างมีระบบ
ด้านองค์กรสื่อ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง สะท้อนสถานการณ์ในขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า ในช่วงแรกที่ยังไม่มีประกาศสถานการณ์ ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการ ก็จะมีความวุ่นวายในพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักข่าวก็ไปรุมล้อมสถานที่เกิดเหตุยิ่งมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงพื้นที่ในทันที รถติดทั้งเมือง ก็อาจทำให้คนรู้สึกว่า ทำไมข่าววันแรกๆ มีแต่ความวุ่นวายในวันแรกเป็นเพราะการจัดการในพื้นที่ยังไม่มีการกันพื้นที่ และจัดการอย่างเป็นทางการ

สำหรับองค์กรวิชาชีพ อย่างสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ประเมินสถานการณ์การทำหน้าที่ของสื่อ โดยพูดคุยกัน จากประสบการณ์ที่เกิดภัยพิบัติมาหลายครั้ง กรณีถ้ำหลวง เราเคยเสวนา ถอดบทเรียนครั้งใหญ่ กรณีภัยพิบัติน้ำท่วม ก็เช่นกัน เราจึงถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังกองบรรณาธิการต่างๆ ฉะนั้นในปัจจุบัน เราจึงแทบไม่เจอปัญหา หรือเสียงสะท้อนจากหน่วยงาน ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ เท่ากับว่า การถอดบทเรียนของเรา ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใดก็ตาม เมื่อมีเหตุ กองบก.ทุกที่ ที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ได้ข่าว และไม่เป็นภาระ
สำหรับสถานการณ์ที่มีบุคคลที่ไม่ใช่สื่อเข้าไปอยู่ในวงสัมภาษณ์ หรือมีสื่อบุคคลเข้าไปรายงานสถานการณ์ร่วมกับสื่อด้วย จีรพงษ์ อธิบายว่าประชาชนอาจจะไม่ทราบว่า ความต่างระหว่างอินฟลูเอ็นเซอร์ สื่อบุคคลที่ลงพื้นที่ด้วยสัญชาตญาณตัวเอง หรืออยากไปเอายอดไลก์ยอดแชร์ อะไรก็ตาม แต่พอเวลานักข่าวที่เป็นมืออาชีพลงไป นั่นหมายถึงจะต้องผ่านกระบวนการ การวางแผนข่าว จากที่ประชุมกองบก.ข่าว ว่าวันนี้ต้องการประเด็นอะไร
อีกทั้ง มีแนวปฏิบัติ ว่าตั้งอยู่จุดปลอดภัย หากเกิดเหตุ ต้องหนีทางไหน และมีอุปกรณ์เซฟตี้ ในการลงพื้นที่ เช่น หมวกนิรภัย มีการเตรียมความพร้อมในการทำงานระยะยาว มีบัตรแสดงตนที่เป็นสัญลักษณ์นักข่าว เพื่อเข้าพื้นที่ หลังจากมีการบริหารจัดการเป็นระบบ ลงทะเบียนคนเข้าออก ว่าเป็นใครบ้างสื่อมวลชนกู้ภัยหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการ จึงทำให้นักข่าวทำงานได้สะดวกขึ้น และไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่
หนุนสื่อบุคคล-อินฟลู เติมความรู้จากสื่อ
เมื่อถามถึงกรณีสื่อบุคคล ที่นำเสนอทางโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอ็นเซอร์ สถานการณ์น่าหนักใจหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องความรู้ความเข้าใจความรับผิดชอบ ที่สื่อเองก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม จีรพงษ์ ระบุว่าเป็นปัญหาที่คุยกันในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เช่นกัน ด้วยความที่ใครเป็นอินฟลูฯ ก็ได้ อันนี้น่าห่วงที่สุด โดยเฉพาะการใช้มือถือถ่ายอะไรก็ได้ แล้วบันทึกลงโซเชียลมีเดีย โดยไม่รู้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ถูก ผิดกฏหมายฉบับใดหรือไม่อันนี้น่ากลัว
ก่อนหน้านี้ เรามีความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน ที่มีอินฟลูเอ็นเซอร์อยู่ในมือจำนวนมากสำหรับกลุ่มอินฟลูฯที่มีสังกัดชัดเจน และทำงานร่วมมือกันกับสื่อใกล้ชิด ไม่มีปัญหา บางครั้งเราก็ยังเอาคอนเทนต์เขามาต่อยอดในเชิงข่าวด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันคอนเทนต์ที่เป็นข่าว เขาก็เอาไปใช้ต่อยอด เพื่อไปถึงกลุ่มแฟนคลับของเขา เพื่อเข้าถึง อีกทางหนึ่ง ซึ่งการทำงานร่วมกันใกล้ชิด ก็จะช่วยเติมองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เขาเอาเทคนิคการรายงานข่าวมาให้เรา ว่าทำอย่างไรให้คนสนใจ ขณะเดียวกัน องค์กรสื่อก็บอกอินฟลูฯว่าต้องระวังเรื่องใด ก็เป็นการเติมความรู้ให้กันและกัน
ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยินดีที่จะให้ความรู้กับสื่อบุคคลซึ่งเราก็เคยเปิดคอร์สร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ก็มีอินฟลูเอ็นเซอร์ คนที่ทำเว็บไซต์เล็กๆ จากต่างจังหวัดเข้ามาขอความรู้ เราก็เติมความรู้เรื่องกฎหมาย จริยธรรม เทคนิคการหารายได้บนแพลตฟอร์มต่างๆ ให้.
–/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-