
26 มี.ค. 2568 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาองค์กรของผู้บริโภค และ ThaiPBS จัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect สะเทือนอุตสาหกรรมสื่อ?” ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค และช่องยูทูบ ThaiPBS
โดยวงเสวนานี้มีที่มาจากกรณีเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งฝ่ายโจทก์คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูไอดี” ฟ้องว่าจงใจกลั่นแกล้งและทำให้เกิดความเสียหาย
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว ยังได้พูดคุยกับน้อง ๆ ทีมงานสภาผู้บริโภค น่าจะไลฟ์สดกันเพื่อดูว่าจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร แต่ในช่วงที่ฟังคำพิพากษาก็รู้สึกช็อกมาก เพราะมีคนตะโกนว่า “ไม่รอลงอาญาเลยหรือ?” แต่ก็ไม่ทันได้เห็นว่าเป็นใคร แต่เชื่อว่าบรรยากาศในวันนั้นนำมาพาซึ่งความผิดหวังและเสียใจต่อคำพิพากษามาก

และเนื่องจากสำนักงานสภาผู้บริโภคทำงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีโอกาสได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร พบว่า ประเด็นหนึ่งที่ทาง สคบ. กล่าวถึง คือ สคบ. มีเจ้าหน้าที่ร้อยละ 70 เป็นนักกฎหมาย แต่ทุกคนกังวลมากว่าหากดำเนินการอะไรไปก็อาจเจอแบบเดียวกับ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ซึ่งตนเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นปรากฏการณ์และเป็นทิศทางในการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต
“หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ก็จะมีความกังวล กลัวและไม่ตัดสินใจที่จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าเราอยู่เฉย ๆ ก็สบายดี ไม่ต้องทำอะไร ทำหน้าที่อย่างอื่นไปตามปกติ แต่เมื่อใดที่ต้องตัดสินใจคุ้มครองผู้บริโภคก็อาจเจอแบบนี้ได้ ซึ่งจริง ๆ ก็ผิดวิสัย การเลือกไปที่ศาลทุจริตทั้ง ๆ ที่ควรจะไปโต้แย้งกับศาลปกครอง ทำไมถึงไม่เกิดขึ้น” สารีกล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และกรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในอดีตมีความพยายามดึงสื่อออกจากรัฐ ต้องการให้อิสระ ให้เสรีภาพกับภาคเอกชนได้ทำธุรกิจแบบมีศักดิ์ศรีไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการเติบใหญ่ของเอกชนและนำไปสู่การผูกขาดจนอาจมีอภิสิทธิ์ยิ่งกว่าเดิม อยู่เหนือการกำกับดูแล ในขณะที่บทบาทของรัฐอ่อนแอลง

ซึ่งกรณีของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อความพยายามเปลี่ยนจากระบบที่รัฐควบคุมอุปถัมภ์เป็นระบบเอกชนแข่งขันเสรี แต่เกิดผลตรงข้ามในขณะนี้ เช่น เหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่เพียง 2 ราย ส่วนกิจการโทรทัศน์นั้น กฎ Must Carry ที่ออกมาครอบคลุมสิทธิของทีวีดิจิทัล ที่ไม่ให้ใครนำไปดัดแปลง ดังนั้นการนำไปออกในแพลตฟอร์มแล้วแทรกโฆษณา ไม่ว่าจะอธิบายด้วยเทคนิคอย่างไรก็ก็ถือว่าขัดเจตนารมณ์ เพราะกฎหมายต้องการคุ้มครองสิทธิของผู้ประกอบการที่ประมูลช่องมา
“อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ทำคือได้ปกป้องสิทธิของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนที่ที่เขาอุตส่าห์ลำบากมากในการที่เขาจะต้องเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ได้ใบอนุญาตดิจิทัลทีวี และมีกฎ Must Carry คุ้มครอง แต่ปรากฏว่าช่องรายการของเขาอาจถูกนำไปออกในสิ่งที่ไม่อยู่ในกติกา แล้วพอมีความพยายามจะกำกับดูแล กลายเป็นว่าอาจารย์พิรงรองซึ่งพยายามจะแก้ปัญหาตรงนั้นก็เจอคดีความ เป็นสิ่งที่สะท้อนใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ทำให้เห็นว่าบั่นทอนคนที่ตั้งใจทำงาน ถ้าเจอแบบนี้ครั้งต่อไป มีกรณีที่เกิดแบบนี้อีกใครจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่” สุภิญญา กล่าว
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบ 1.ความน่าเชื่อถือ เกิดการตั้งคำถามว่าตกลงแล้วในขณะที่มีคนทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ให้กับผู้บริโภค แล้วใครจะคุ้มครองคนกลุ่มนี้ หรือคำถามถึง กสทช. เช่น ควรจะมีบทบาทอย่างไร มีอำนาจเพียงใดในการกำกับดูแล ต้องปฏิรูปหรือไม่

2.สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ตนมีข้อสังเกตว่า ความเห็นของคนในสังคมกับข่าวคดีความของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง หากไม่มองว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง มีอคติกับทุน ก็มองว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง มีเจตนาดีแต่ไปพลาดเรื่องข้อกฎหมาย จึงต้องเจอชะตากรรมแบบนี้ ซึ่งเป็นการมองในเรื่องตัวบุคคล ไม่ได้มองกลไกการทำงานขององค์กร กสทช. แล้วสังคมหรือพลเมืองจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น
“สื่อมวลชนก็อาจมีผลกระทบตามมาหลาย ๆ อย่าง หนึ่งก็คือตกลงทำแบบนี้ก็ได้ใช่ไหม? สื่ออาจมองว่าในเมื่อเขาทำได้ฉันก็ทำได้หรือเปล่า? หรือทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า? ก็อาจมีผล 2 อย่าง ในทางหนึ่งก็คือเขาทำได้ฉันก็ทำได้ สองก็คือสรุปแล้วต้องเป็นเบอร์ใหญ่ ๆ เท่านั้นใช่ไหมถึงจะทำได้? แล้วสื่ออื่น ๆ?” รศ.ดร.ปรีดา กล่าว
รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง คือกำลังทำให้ทุกคนกลัวจนเกิดความเงียบขึ้น เพราะกระเทือนมาถึงการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือหน้าที่การงาน เช่น การรวบรวมรายชื่อให้กำลังใจ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ก็ไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งนี่เป็นสัญญาณ หรือสื่อเองก็เงียบเพราะทุกคนก็อยู่ในภาวะของความไม่มั่นคง อยู่ภายใต้ธุรกิจสื่อและทั้งหมดคือนายทุน และไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกจิ้มให้ออก

“แต่ขณะเดียวกัน มีผลกระทบด้านบวกข้อหนึ่ง ที่เราบอกว่ากฎหมายที่จะควบคุม OTT (Over The Top – บริการสื่อผ่านอินเตอร์เน็ต) มันควรจะออกมาตั้งแต่มากกว่า 5 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้เราเห็นการตื่นตัว อย่างน้อยไปกระทุ้งใน กสทช. เกิดขึ้น เราเห็นการเคลื่อนบางอย่าง แต่ต้องถึงขั้นอาจารย์พิรงรองจะต้องถูกเชือดหรือ? ต้องถึงขั้นนั้นเลยหรือ? ใครเคยอยู่ในคดีต่าง ๆ มันมีความเครียดที่ยาวนานมากจริง ๆ นั่นคือสิ่งที่ควรได้รับหรือ? ผลกระทบต่อมา ใครจะกล้าเข้ามาทำงาน” รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว
รศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ผลกระทบจากคดีนี้มองได้เป็น 5 ด้าน 1.การสร้างมาตรฐาน (Standardization) เชื่อว่าผู้ประกอบการทั้ง OTT และไม่ใช่ OTT คงไปคุยกัน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีคดีแบบนี้มาก่อน หลายคนอาจคิดว่าแบบนี้เราทำบ้างได้หรือไม่ การที่ กสทช. พยายามปกป้องคนใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติในการไปสู้กับ OTT โดยเฉพาะจากต่างประเทศที่ไม่ได้จ่ายภาษีให้ประเทศไทย แต่กลายเป็นมาตรฐานของการไม่ถูกควบคุม
นอกจากนั้น การที่ไม่ต้องจดทะเบียนก็ทำให้ไม่สามารถถูกสั่งปิดได้ ซึ่งตนเป็นอาจารย์ก็สอนนักศึกษาเรื่องจริยธรรมสื่อ แต่เมื่อไม่ต้องถูกควบคุมก็จะมีการไต่เส้นไปทีละน้อย เช่น ฉากล่อแหลมต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อดึงดูดผู้ชมไม่ว่าทางโทรทัศน์หรือทางออนไลน์ ซึ่งสิ่งนี้เราจะไม่ค่อยรู้สึก เหมือนกับกบต้มที่ถึงวันหนึ่งก็ตกใจว่ามีแบบนี้แล้วหรือ แล้วทำอะไรได้หรือไม่ กรอบจริยธรรมอาจถูกกัดกร่อน

2.กฎหมาย (Law) กลายเป็นว่าสื่อโทรทัศน์โดนจัดการ แต่ OTT กลับไปไม่ถึง จึงมีคำถามว่าเหตุใดประเทศอื่นควบคุม OTT ได้ อย่างฝรั่งเศสควบคุมถึงระดับเนื้อหา อังกฤษ สิงคโปร์ ควบคุมเข้มข้น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ควบคุมบางส่วน ที่ปล่อยคือญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาเพราะเนื้อหาเขาเข้มแข็งอยู่แล้ว หรืออย่างอินโดนีเซียแม้จะมีปัญหาแต่ก็พยายามควบคุม มีกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในขณะที่ประเทศไทยไม่รู้เจ้าภาพอยู่ตรงไหน พอบอกว่าอยู่ที่ กสทช. ก็เหมือนเป็นสุญญากาศ ในขณะที่ OTT ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
3.การโฆษณา (Advertising) การปกป้องผู้ประกอบการคือการให้เขามีรายได้ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในอนาคตหากเป็น Programmatic Advertising หรือการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยในงานโฆษณา หรือ Addressable TV ที่เป็นการโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย จะยิ่งมีข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) คำถามคือผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรเมื่อการแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งโฆษณาทางโทรทัศน์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการก็ต้องไปจัดรายการประเภทขายของ
หรือการที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะมีอะไรปกป้องผู้ผลิตเนื้อหาในท้องถิ่น (Local Content) หรือไม่ ซึ่งบางประเทศถึงขั้นกำหนดว่าแม้จะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงแต่ต้องมีโปรดิวเซอร์เป็นคนท้องถิ่นอย่างน้อยในจำนวนเท่าใด แต่ประเทศไทยไม่มีการควบคุม กลายเป็นว่าต่อไปเนื้อหาในท้องถิ่นจะต้องเข้าไปอยู่ภายใต้และถูกกำกับโดยสตรีมมิงหรือ OTT
“4.ประชาชน (People) ก็คือผู้บริโภค ได้รับผลกระทบโดยตรงแบบกบต้มโดยที่ไม่รู้ตัว เขาเสิร์ฟอะไรมาเราก็รับ แต่ตัวเราเองไม่ทราบว่าสิทธิของเราควรจะได้เนื้อหาที่ดีและมีประโยชน์ ไม่ได้รับโฆษณามากเกินสมควร ไม่ได้รับความเสี่ยงในเรื่องความเป็นส่วนตัว ผู้บริโภคเหล่านี้รู้สิทธิหรือยัง? ชาวบ้านที่ต่อไปทุกคนต้องดู TV ผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วค่าเน็ตใครเป็นคนกำหนด แทนที่จะฟรี มันก็จะมีผลด้วย สุดท้ายคือ 5.การคุ้มครอง (Protection) นอกจากคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคแล้ว คนทำงานต่อไปใครจะเสี่ยง ต้องรอเกษียณดีกว่า เกียร์ว่างดีกว่า” รศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการฟ้องคดีนี้ ว่า มูลเหตุเริ่มต้นจากกระดาษเพียงแผ่นเดียว กระดาษแผ่นนี้เป็นหนังสือที่สำนักงาน กสทช. ทำถึงผู้รับอนุญาต หมายถึงผู้มีอำนาจกำกับดูแลเล่าข้อเท็จจริงว่าขณะนี้มีแพลตฟอร์มซึ่งนำเนื้อหาที่ผู้ได้รับอนุญาตผลิตไปเผยแพร่ในโครงข่ายซึ่งไม่ใช่โครงข่ายที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งไม่ได้ออกหนังสือไปโดยเอ่ยชื่อเฉพาะเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง แต่เครือข่ายอื่นๆ ก็มีการออกหนังสือเช่นกันเมื่อตรวจเจอ
โดยเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว บอกว่าในฐานะที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การนำเนื้อหาไปใช้ต้องไม่มีการดัดแปลง ต้องเผยแพร่ในโครงข่ายที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งหนังสือหรือกระดาษแผ่นเดียวนี้ก็ไม่มีชื่อของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เพราะเป็นการออกหนังสือโดยสำนักงาน กสทช. ตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ตนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมานานก็ตกใจ ทำไมคนที่ไม่ได้เป็นคนออกหนังสือ อีกทั้งเป็นหนังสือที่ออกไปเพื่อบอกให้ปฏิบัติตามกฎหมายกลายเป็นการทำให้ถูกจำคุกโดยไม่รอลงอาญา

และหากเรื่องนี้จะผิด สำหรับตนมองว่ามีประเด็นเดียวคือทำให้เกิดความเสียหายกับใครหรือไม่ ซึ่งผู้ที่ถูกพาดพิงบอกว่า เมื่อมีหนังสือฉบับนี้ออกไป ทำให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งก็คือสถานีโทรทัศน์ทั้งหลายเข้าใจว่าผู้ที่ถูกพาดพิงเป็นผู้ไม่ได้รับอนุญาต และเกิดปัญหาว่าจะประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ อนึ่ง ในคำฟ้องระบุช่องที่บอกว่าเริ่มลังเลในการให้นำเนื้อหาไปเผยแพร่อยู่ 2 ช่อง สามารถไปตรวจสอบได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับผู้ถูกพาดพิง
ในขณะที่หากดูตามคำพิพากษา มีการบรรยายระบุว่า “..จำเลยคาดหวังว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจะไปไล่เบี้ยเอากับโจทก์ หรือเพื่อกดดันให้โจทก์เข้าสู่ระบบที่ผู้ประกอบการต้องขอรับใบอนุญาต เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบชัดแจ้ง อีกทั้งจำเลยย่อมเล็งเห็นว่าทางออกสำหรับโจทก์ในเรื่องนี้มีไม่มากนัก หากจะซื้อ – ขายหรือโอนลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจทำได้เพราะฝ่าฝืนกฎหมายชัดแจ้ง..” ซึ่งตนเคารพการตัดสินของศาล แต่ตนอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่ศาลบอกว่าทำไม่ได้ กลับกลายเป็นทางออกเดียวเสียด้วยซ้ำกับเรื่องนี้
เพราะแม้ OTT หรือการเผยแพร่เนื้อหาผ่านอินเตอร์เน็ต จะไม่ถูกกำกับ แต่ใครจะรวมช่องสัญญาณไปออกอากาศก็ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry ที่โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำหรือโฆษณาเกิดขึ้นในบางรายการ ไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1.ไปขอใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการ OTT รายอื่นๆ ไปขออนุญาตเป็นแบบ IPTV (เผยแพร่เนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน แต่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเฉพาะ พร้อมกล่องรับสัญญาณที่สามารถควบคุมคุณภาพสัญญาณได้) 2.ไปทำสัญญาข้อตกลงซื้อลิขสิทธิ์กับสถานีต่างๆ แต่ศาลกลับบอกว่า 2 ทางนี้ทำไม่ได้ ตนจึงไม่รู้ว่าแล้วทางออกคืออะไร
แต่คำถามเรื่องควรแก้ไขให้เพิ่มการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้มากขึ้นหรือไม่ ก็ต้องระวังเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐไปกลั่นแกล้ง แต่โดยสรุปแล้วการฟ้องร้องที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจากการฟ้องร้องคำสั่ง คือไปที่ศาลปกครองเสียก่อน ถ้าคำสั่งถูกก็ผ่านไป แต่หากคำสั่งไม่ถูก ระหว่างกระบวนการฟ้องก็ขอศาลคุ้มครองไม่ให้คำสั่งมีผลใช้บังคับและขอยกเลิกคำสั่ง
และหากคำสั่งไม่ถูกอีกทั้งเห็นได้ชัดว่ามีการทำผิดกฎหมาย ขั้นตอนต่อไปคือฟ้องหน่วยงาน ในที่นี้อาจรวมถึงคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการก็ได้ หากผิดจริงหน่วยงานก็ไปไล่เบี้ยกับคนที่กระทำผิด ซึ่งหากทำอย่างนี้ก็จะทำให้ตัวผู้ปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความมั่นใจมากขึ้นว่าการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทำในนามของเจ้าหน้าที่ รัฐต้องรับผิดชอบไปก่อน ซึ่งหากผิดจริงและผิดเพราะตัวของเจ้าหน้าที่ รัฐก็จะไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่
“ความจริงหลักนี้คิดว่าหลายเรื่องที่ผมคิดว่าจะใช้ได้ อย่างในวงการแพทย์ก็เถียงเรื่องนี้กันมานานว่าการวินิจฉัยของแพทย์ผิดหรือไม่ผิดอะไรเราบอกให้ฟ้องโรงพยาบาลก่อนได้ไหม? แล้วโรงพยาบาลก็ไปพิจารณาเอาว่าแพทย์ผู้นั้นเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่? มันก็จะมีการคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม เรื่องที่พิสดารคือจดหมายฉบับนี้ไม่ใช่คำสั่งทางปกครองก็เลยไปฟ้องศาลปกครองไม่ได้ แต่ก็เหลือเชื่อที่สิ่งที่ไม่ใช่คำสั่งทางปกครองสามารถทำความเสียหายถึงขั้นบอกได้ว่ามีคนทุจริต” อภิสิทธิ์ กล่าว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย (ThaiPBS) กล่าวว่า หน้าที่ของ กสทช. คือดูแลเรื่องเสรีภาพ คุ้มครองผู้บริโภค และให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ โดยสรุปคือให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันอย่างไม่มีการเอาเปรียบซึ่งผลดีก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค แต่ด้วยอะไรบางอย่างทั้งในประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก กิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกิจการขนาดใหญ่ที่เคยถูกผูกขาดโดยรัฐกลับกลายเป็นการผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ ตนมองว่าปัญหาอยู่ตรงนี้

ซึ่งเมื่อเอกชนผูกขาดเข้ามาอยู่ในระบบที่มี กสทช. เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) อำนาจของการผูกขาด อำนาจผลประโยชน์ อำนาจเงินก็มีอิทธิพลเหนือฝ่ายกำกับดูแลได้ และไม่ใช่เฉพาะ กสทช. ในวงการสื่อเท่านั้น อย่างในวงการพลังงาน หน่วยงานกำกับดูแลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน รวมถึงเรื่องการเงินและอื่นๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลจะถูกโน้มน้าวจูงใจ ถูกอิทธิพลจากทุนผูกขาดแทบทุกแห่ง
ส่วนประเด็นว่าหนังสือที่สำนักงาน กสทช. ออกมาที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ หากไปศาลปกครองก็อาจถูกยกคำร้องเพราะไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง แต่ก็มีคำถามว่าเหตุใดจึงไปที่ศาลทุจริต ส่วนผลกระทบจากคดีที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลหวั่นไหวแล้ว ยังทำให้คนไม่อยากเข้ามาทำงานในจุดนี้เพราะมองแล้วไม่คุ้ม แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจมีผลกระทบเชิงบวกได้เช่นกัน คือ กสทช. น่าจะรีบประกาศกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ OTT ออกมาเสียที
“มันหลายปีแล้ว แม้กระทั่ง กสทช. ชุดนี้ ประธานเก็บไว้ทำไม? ผมคิดว่าถ้าประธานเอาเข้าที่ประชุมเสีย อนุฯ เขาก็ร่างมาเสร็จแล้ว อันนี้อาจจะเป็นผลกระทบในแง่ดีก็ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถ้ามองในมุมนั้นพวกเราก็ต้องช่วยดันไปในทางที่ถูกต้อง” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว.