
3 ทฤษฎีจิตวิทยาที่คนอยากรู้เรื่องใต้สะดือคนดัง นักวิชาการเด็ก-ครอบครัวชี้ผลกระทบจากข่าวทั้งบวกทั้งลบ ส่งผลระยะยาวต่อสังคม สร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยนสร้างมาตรฐานใหม่เรื่องเสรีทางเพศที่อันตรายต่อเด็กและวัยรุ่น แนะสื่อ-พิธีกรนำเสนอข่าวควรเติมความรู้ด้านกฎหมาย นักวิชาการสื่อชี้ สื่อหยุดนำเสนอเรื่องฉาวเมื่อไหร่เอไอก็หยุดฟีด “ไทยพีบีเอส” ตอกย้ำ สื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องเติมแง่มุมที่เป็นประโยชน์สาธารณะ
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 ทาง MCOT NEWS FM 100.5 พูดคุยเรื่อง “สื่อกับบทบาทการนำเสนอเรื่องใต้สะดือ” ดำเนินรายการโดยณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธาณีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นพดล ศรีหะทัย บรรณาธิการบริหารไทยพีบีเอส รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์ และการสื่อสารภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ปรากฎการณ์สังคมไทยในการตามหาคลิปหลุด นักร้องสาว-แดนเซอร์ชาย สะท้อนสื่อกับบทบาทการนำเสนอเรื่องใต้สะดือ อย่างไร
ธาม เชื้อสถาปนศิริ มองว่า ข่าวลักษณะนี้ มีวนมาตลอดเรื่อยๆ ชิงพื้นที่สื่อได้มาก แม้คนที่ไม่สนใจติดตาม แต่อัลกอริทึม โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มก็ยังดันมาให้เห็น ไม่ว่าจะไม่สนใจ หรือหลบอย่างไรก็ได้เห็น แม้แต่สื่อหลักก็ลงมาเล่น ทำให้ชาวเน็ตอยากไปค้นหาคลิปหลุด

เหตุที่คนอยากดูข่าวลักษณะนี้ ธาม ได้หยิบยกทฤษฎีวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาตอบข้อสงสัยประเด็นนี้ว่า ทฤษฎีช่องว่างความสงสัย (ทฤษฎี Curiosity Gap โดย George Loewenstein นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม) พอคนรู้ว่ามีข้อมูลบางอย่าง ที่เขายังไม่มี ยังไม่เห็น ถ้ารู้ว่าหลุดออกมา ก็จะมีแรงจูงใจในการเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลนั้นๆ ทำให้ไปตามล่าหาคลิปนั้น ไปหาให้เจอเพื่อลดช่องว่างความสงสัยนั้น เพราะความอยากรู้
อีกทฤษฎีทางจิตวิทยา คือ “ผลไม้ต้องห้าม” Forbidden Fruit Effect อะไรที่ต้องห้าม อย่าค้นหา อย่าดู อย่าแชร์ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ และปัจจุบัน มีทฤษฎีใหม่คือ โรคกลัวตกข่าว Fear of Missing Out (หรืออาการ FOMO) เรื่องที่เขาตามกัน รู้ทั่วกันบ้านเมือง แต่ตัวเองไม่รู้ กลัวตกกระแส ต้องไปตามดู จึงเป็นลักษณะทางจิตวิทยาว่า ทำไมเรื่องเซ็กส์ เรื่องใต้สะดือของดารา จึงเป็นที่น่าสนใจของคนทั่วไป แม้สิ่งที่ต้องการรู้ จะไม่ก่อประโยชน์ทางชีวิต
ธาม ระบุว่า เรื่องเซ็กซ์เป็นแนวคิด 1 ใน 12 ของคุณค่าข่าวที่่นักศึกษาวารสารศาสตร์เรียนกันมา ยิ่งผนวกกับเรื่องของคนดัง ยิ่งกระตุ้นความอยากรู้ ความสนใจ เรื่องเซ็กซ์ เรื่องความรุนแรง ซึ่งตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ข่าวพวกนี้ไปกระตุ้นสารสื่อประสาทในสมอง ยิ่งอ่าน ยิ่งดู ยิ่งเห็น ยิ่งอยากรู้ ทำให้โดพามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุขมันหลั่ง
ขณะที่ผลกระทบจากข่าวลักษณะนี้ คือเรื่องของการทำลายชื่อเสียง ดิสเครดิต ในมุมของคนที่ตกเป็นข่าว หากเกิดกับคนธรรมดา ก็อาจเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค เพราะรับมือกับเรื่องราวได้ยาก แต่หากเป็นเรื่องของคนสาธารณะ คนดัง ที่เป็นดารา ศิลปิน นักร้อง อาจจะรับมือกับข่าวพวกนี้ได้ดีกว่าเพราะอยู่ในเส้นทางอาชีพ เป็นเรื่องปกติ ที่เขาชาชิน บางทีเขาอาจมองว่า อาจได้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ข่าว การมีพื้นที่สื่อ ส่งผลดีกับเรื่องงาน อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่สื่อ ต่อให้เป็นเรื่องฉาว ก็ยังนำมาสู่คิวงานที่เยอะขึ้น พื้นที่รายการเยอะมากขึ้น มีคอนเสิร์ตมากขึ้น
ธาม หยิบยกงานวิจัยทางวิชาการ กรณีกลุ่มคนที่ขายตัวเองในเรื่องเพศ ที่วัยรุ่นนิยม ผลกระทบในระยะยาวจะเกิดขึ้นหลายเรื่อง ทั้งความซึมเศร้า ความสัมพันธ์ทางเดียว เพราะการเป็นที่รู้จักของคนจากการขายคอนเทนต์ประเภทนี้ จะไม่รู้จักคนดูเลย ไม่เฉพาะคอนเทนต์เรื่องเซ็กซ์ แต่เรื่องทั่วไป เช่น ท่องเที่ยว แฟชั่น เพราะเราเอาตัวตนไปขาย
“กรณีเรื่องทางเพศ เราเอาตัวตนที่เป็นชีวิตส่วนตัวไปขาย ทำถึงระยะหนึ่งจะเป็นคอนเทนต์ที่กินตัวตน กินใจตัวเองไปเรื่อยๆ ก็จะมีความวิตกกังวลว่า ใครจะมองเราในทางไหน เมื่อเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนงาน เป็นเรื่องเดียวกันจนแยกไม่ออก ในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การเลิกอาชีพนี้ เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า เกิดหวาดระแวง เป็นโรคทางจิตเวช ก็มีความเป็นไปได้”
3 ประเด็นมาตรฐานเรื่องเพศน่ากังวล
นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลกว่า ข้อแรกคือ คนเหล่านี้อาจสร้างมาตรฐานใหม่ในเรื่องเพศ สำหรับวัยรุ่นที่เสพเรื่องนี้ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวนี้ การเปิดรับเสรีทางเพศได้ง่ายขึ้น การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ การถ่ายคลิป หรือคลิปหลุดออกไป กลายเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นข่าวดีข่าวดัง
ข้อ 2 วัยรุ่นจะเริ่มคิดว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส นอกสมรส หรือมีคลิปหลุด เป็นเรื่องปกติของชีวิต หากจะเดินเส้นทางนี้
ข้อ 3 คือภาพลักษณ์ ความเป็นคนเซ็กซี่ เป็นแบดบอย คาสโนว่า กลายเป็นจุดขาย ต่อไปอาจจะไปขายเรื่องอื่นได้ ทำให้คนมาสนใจมากขึ้นฉะนั้น การลงทุนกับเรื่องพวกนี้ก็จะได้ผล ซึ่งในอนาคตระยะยาวเรื่องพวกนี้จะเป็นค่านิยมวัยรุ่นที่ผิดเพี้ยนไปเรื่อยๆ
“การแต่งกาย ท่าทาง กิริยาโชว์ความเย้ายวน กระตุ้นทางเพศ ด้วยพวกนี้ เด็กจะรู้สึกว่า ต้องทำตัวเซ็กซี่ เป็นมาตรฐานปกติของเด็กๆ วัย12-13 ต้องทำตัวเซ็กซี่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครสนใจความสามารถภายในที่แท้จริง เพราะยูทูบเบอร์ เน็ตไอดอล เซเล็ป ทำตัวเซ็กซี่กันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเด็กก็จะเข้าสู่วิธีคิดที่ว่า เอาตัวเองเป็นวัตถุทางเพศเร็วขึ้น เพราะเห็นคนเด่นคนดัง ดารา นักร้อง ศิลปิน ทำเรื่องพวกนี้ และไม่ใช่แค่คนดัง คนธรรมดาก็ยังทำ เพราะฉะนั้นเด็กก็จะทำให้ตัวเองเป็นวัตถุทางเพศ ถูกจ้องมอง”
“ผลกระทบระยะยาว เด็กวัยรุ่นจะเติบโตมาบนค่านิยมทางเพศที่ผิดเพี้ยนไปเรื่อยๆ จะลดทอนความภาคภูมิใจในตัวเอง ลดทอนคุณค่า ศักดิ์ศรีภายในของตัวเองที่เรียกว่า Self-Esteem คนที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ก็เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ และตัวเองก็เป็นคนทำคอนเทนต์พวกนี้ และกลายเป็นคนเสพด้วย”
แนะพ่อแม่-รร.ตระหนักการสอนเด็ก
ธาม จึงอยากให้พ่อแม่ตระหนักใน 3 ประเด็น 1. เด็กเห็นข่าวเรื่องใต้สะดือบ่อยๆ เขาจะมีทัศนคติต่อความสัมพันธ์ครอบครัวที่ไม่ยั่งยืนจะมองว่าความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตคู่เป็นเรื่องปกติ ต้องเลิกกันอยู่แล้ว เพราะเห็นในข่าวทุกวันตั้งแต่เล็กจนโต จนเป็นเรื่องปกติ 2.ถ้ามีเพศสัมพันธ์กัน ต้องถ่ายคลิป เป็นคู่รักต้องถ่ายคลิป อันนี้ยิ่งอันตราย ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสที่จะเสื่อมเสียจากเรื่องพวกนี้มากกว่า และจะนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ต่อไปจะส่งผลกระทบระยะยาว 3. เราจะเติบโตมาบนค่านิยมที่คิดว่า การรุกล้ำพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น อยากดู อยากเห็น อยากค้นหา จนเป็นเรื่องปกติ
ฉะนั้นพ่อแม่ต้องพยายามสอนเด็ก ในการเสพข่าว ต้องรู้เท่าทันสื่อ เรื่องดราม่าเยอะๆ ควรพลิกเป็นมุมสอนลูก ให้เป็นสื่อการเรียนการสอน แม้แต่ครูในโรงเรียนก็ไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นดราม่าเฉยๆ ควรถือโอกาสพลิกมาเป็นแบบเรียนจะดีมาก ถ้าเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ เด็กก็จะเข้าใจว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสื่อ สังคมให้ความสนใจ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เรื่องนี้พ่อแม่ ครู ต้องกำกับเข้มงวดว่า เรื่องทางเพศจะต้องยืนอยู่บนอายุ วัย พัฒนาการ และความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์ที่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย
ฝากสื่อ-พิธีกรเติมความรู้กฎหมาย
ธาม ยังฝากถึงสื่อมวลชน และพิธีกรที่ดำเนินรายการในสื่อต่างๆ การสัมภาษณ์คอนเทนต์ลักษณะนี้ ต้องให้ความรู้ด้วยว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบระยะยาว แม้จะเข้าใจว่าต้องการ เรตติ้งและธุรกิจ แต่ต้องฝากถึงเด็กๆ เยาวชน ที่ดูด้วยว่า เรื่องราวเหล่านี้กำลังจะกำหนดมาตรฐานค่านิยมทางเพศ และความเข้าใจผิดต่อไปในรุ่นอนาคต
“ต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอ ต้องตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาว อยากให้มีคำเตือน เรื่องกฎหมาย ผมไม่เห็นสื่อมวลชนช่องไหนที่พูดถึง กฎหมายอาญาที่เอาผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปลามกอนาจาร โดยเฉพาะในตอนจบรายการข่าว จึงอยากฝากให้พูดถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเรื่องนี้ หรืออาจมีนักวิชาการด้านเพศศึกษา นักจิตวิทยาเรื่องเพศ นักจิตวิทยาโรงเรียน มาร่วมรายการ อยากให้เชิญบุคคลเหล่านี้มาออกรายการ ให้ความรู้เยาวชนด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีแต่ทนายเต็มไปหมด”
สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อ เรื่องใต้สะดือ ธาม มองว่า ไม่ควรนำเสนอในลักษณะที่คุกคามพื้นที่ส่วนตัวมาก การอยากรู้ อยากเห็นก็ต้องมีพื้นที่แห่งการไม่คุกคามพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ทั้งคนที่กระทำ และคนที่เป็นเหยื่อ และอยากให้เน้นเรื่องกฎหมายมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะทำให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา
“อย่าลืมว่า มีคนกระทำ และมีคนเป็นเหยื่ออยู่ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอ เหมือนไปข่มขืนซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นคนเด่นคนดัง ถึงแม้ดารา จะรับมือได้ดีกว่าคนธรรมดา แต่จริงๆ แล้วคนที่ถูกเปิดเผยคลิป เขาก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ ฉะนั้นเขาต้องได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และทางด้านจิตใจ ที่สำคัญการสร้างค่านิยมใหม่ ในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องพวกนี้รู้เห็นมากไป ก็ใช่ว่าจะเกิดประโยชน์” ธาม ทิ้งท้าย
มาตรฐานสื่อต้องตระหนักประโยชน์สังคม
ในมุมมองของบริหารสื่อ นพดล ศรีหะทัย ระบุว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ก็ได้ถกเถียงกันมากในการประชุมข่าวรายวันว่า เรื่องใต้เตียง ใต้สะดือ ความเป็นส่วนตัวของดาราต่างๆ มีมุมอื่นหรือไม่ นอกจากความเคลื่อนไหว การตอบโต้กันไปมา ปกติเรื่องลักษณะนี้ ไทยพีบีเอสจะไม่นำเสนอข่าวอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบทางด้านสังคม

“เมื่อดูในมิติอื่น มิติทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ครอบครัว สุดท้ายแล้ว ก็มองกันว่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องของครอบครัว เรื่องของบริษัทไหทองคำ เรื่องยังไม่ได้กระเถิบไปในเรื่องมุม ที่เราจะขยายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร”
เมื่อถามถึงมุมด้านกฎหมาย เรื่องการนำคลิปลับมาเปิดเผย มองอย่างไร นพดล กล่าวว่า ในการประชุมข่าว ก็พูดคุยเรื่องนี้ เพราะเราทราบว่า กำลังมีการร่างเป็นกฎหมาย เพื่อเข้าสู่สภาฯ ซึ่งจะทำให้คนที่ถูกนำคลิปไปแชร์ สามารถขอคำสั่งศาล เพื่อให้ลบออกจากระบบในคอมพิวเตอร์ ในระบบโซเชียลได้ หากเป็นประเด็นในเชิงข่าว คิดว่ามุมนี้ จะทำให้เป็นประโยชน์ กับผู้ที่ถูกนำคลิปต่างๆ ไปเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ เป็นมุมที่น่าสนใจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม กรณีความจำเป็นของสื่อต่างๆ ที่ต้องแย่งชิงเรตติ้ง งบฯโฆษณา เขาจึงต้องเล่นข่าวลักษณะนี้ ซึ่งต่างกับไทยพีบีเอส นพดล มองว่า ในภูมิทัศน์สื่อที่กำลังเปลี่ยนไป ก็ต้องมีสื่อที่ต่างกันบ้าง ไม่อย่างนั้นทุกสื่อก็จะไปเล่นเรื่องนี้กันหมด ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์คนดู
ในแง่การเป็นสื่อสารมวลชน ก็ต้องมีหลักการ หลักคิด ที่ต้องดูว่าข่าวไหนควรนำเสนอ หรือไม่นำเสนอ นำเสนอแค่ไหน นำเสนอแล้วให้ประโยชน์กับคนดู ต้องช่วยกันคิด ไม่อย่างนั้นข่าวในทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งทีวี ก็จะเป็นเหมือนออนไลน์ แล้วทุกอย่างจะไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลย เอาข่าวออนไลน์มาออกทีวี เอาข่าวทีวีไปออกออนไลน์ กลายเป็นทุกอย่างมันง่าย เข้ากับจริตคนที่ในโลกโซเชียล ทุกคนไถจอ อยากรู้เรื่องชาวบ้าน ส่องชาวบ้าน แต่เรื่องตัวเองสนใจน้อย ไปสนใจเรื่องคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องรสนิยมแต่ละคน
การที่ยังมีการให้พื้นที่ข่าวแบบนี้ พยายามช่วยกันขุดคุ้ย หาข้อมูล เอาความเห็นในโลกโซเชียล เอาข้อมูลโลกโซเชียลมาเล่น มันก็ทำให้ยังตรึงคนดู ติดตามได้อยู่ ก็เป็นเรื่องผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่สนใจเรื่องประเภทนี้ เชื่อว่าคนอีกจำนวนมาก คงสนใจช่วงแรกๆ หลังๆ อาจจะไม่เอาแล้ว เพราะวนไปวนมา ตอบโต้กันไปมา ว่าใครพูดจริงพูดเท็จ แล้วแต่ใครจะได้แหล่งข่าวจากไหน คนดูก็ต้องตัดสินใจเอาเอง เรื่องแบบนี้สื่อเปิดพื้นที่ให้เยอะ ก็เลยทำให้เรื่องไม่จบ
สื่อออนไลน์ สื่อทีวี อาจจะหาคลิปมาเปิด มีความเคลื่อนไหวของตัวละครที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกคนก็มีสื่อของตัวเอง ในการโพสต์ ก็เป็นต้นทางที่สื่อทางด้านนี้ ยังเล่นต่อ แต่ในข่าวที่เป็นสื่อหลัก คิดว่าก็อาจจะจบ เพราะมีประเด็นข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่าเข้ามาเปลี่ยนความสนใจของคนได้ เชื่อว่าข่าวชู้สาว เรื่องใต้สะดือ คนก็คงติดตามได้ช่วงหนึ่ง ผู้บริโภคมีความรู้พอ ที่จะตัดสินใจได้ว่า ควรจะพอแล้ว หรือควรจะไปต่อ
สำหรับสื่อมวลชน เชื่อว่าทุกคนมีอุดมการณ์ความเป็นสื่อ แต่ในแง่เชิงธุรกิจ อาจจะทำให้ทุกคนทำเพื่อความอยู่รอด ในแง่อาชีพ ทำให้สื่อรุ่นใหม่สื่อบางช่อง ก็ปรับตัวในการนำเสนอ ไม่ได้คิดว่าเขาต้องการอยากจะเป็นแบบนี้ แต่ในเชิงธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ก็ต้องสร้างรายได้
“สื่อรู้กรอบการทำงาน แม้จะจำเป็น ที่จะต้องตอบสนองความต้องการคนบริโภคที่สนใจเรื่องแบบนี้ แต่เชื่อว่าไม่ใช่สื่อส่วนใหญ่ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่มีคนส่วนหนึ่งที่ชอบบริโภคข่าวแบบนี้ สื่อที่ไม่นำเสนอเรื่องแบบนี้ ก็คงไม่ได้โทษกัน ก็ควรต้องมีสื่อหลายๆ แบบ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ไม่ใช่ทุกคนเทไปเล่นเรื่องเดียวกันหมด เปิดไปช่องไหนก็เจอ ทำให้สังคมไม่มีทางเลือก ฉะนั้นก็ต้องทำให้เห็นว่ามีข่าวอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า จึงอยากฝากเพื่อนสื่อมวลชนว่า ควรจะมีขีดจำกัดในเรื่องการนำเสนอ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจแต่ละช่องสำหรับไทยพีบีเอสก็ยังเน้นผลกระทบต่อประชาชน ต่อสังคม ต่อสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญ” นพดล กล่าว
งานวิจัยเด็ก 12 ดูคลิปโป๊มากกว่าวัยรุ่น
ด้านนักวิชาการด้านสื่อ รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล ระบุว่า ได้ทำการสำรวจอย่างเร็วๆ ตอนนี้มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Nudity เรื่อง Porn และ Sex เยอะมากทั่วโลก ไม่ใช่เป็นมีเดียเอฟเฟ็กต์ ปรากฎการณ์นี้ เราต้องยอมรับว่า คือผลกระทบที่เกิดมาจากการใช้การสื่อสารที่ไม่ทันรู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัว หรือตั้งใจจะรู้ตัว เพราะฉะนั้นในมุมของมีเดียเอฟเฟ็กต์ การรู้เท่าทันสื่อ มีงานวิจัยจำนวนมาก ที่มีการสำรวจกันว่า คอนเทนต์ลักษณะที่เป็นเรื่องใต้สะดือ หรือ Nudity ในภาษาอังกฤษ จะมีหลายคำ

มีเด็กอายุตั้งแต่ 12 ขวบ จนถึง 18 ปี ค่าเฉลี่ยตัวเลขในการดูมากที่สุด ปรากฏว่า จำนวนเด็กอายุ 12 ขวบ มีสถิติเข้าไปดูเยอะกว่าเด็กวัยรุ่น 15-16-17-18 นักวิชาการทั้งหลายก็ได้ไปซิสเต็มรีวิว ก็พบว่าเด็กเข้าไปเสพคอนเทนต์ลักษณะนี้ คือเขาเพิ่งกลัดมัน คือฮอร์โมนเริ่มมีกระบวนการทำงาน และด้วยหลายๆ ครอบครัว พ่อแม่อาจจะไม่ได้สอนลูก หรือโรงเรียนให้การศึกษาเรื่องเซ็กซ์มากมาย
มีรายการหนึ่ง ที่พูดถึงกรณีมิจฉาชีพใช้เซ็กซ์โฟนล่อซื้อ ซึ่งกระบวนการล่อซื้อ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการพูดไปก็ขำไป กับสิ่งที่เรียกว่าเรื่องใต้สะดือ ไม่ว่าจะเป็นภาษา ที่ล่อแหลม ปรากฏว่าอารมณ์ของการรู้เรื่องใต้สะดือ มันมี 2 อารมณ์ คืออารมณ์เย็น กับอารมณ์ร้อน ซึ่งอารมณ์เย็นคืออารมณ์ขำขัน ทำให้ทางจิตวิทยาทางการสื่อสาร คน 2 กลุ่มนี้ จึงไปสนใจคำว่าใต้สะดือมาก แล้วแมชีนมันก็เรียนรู้ว่า ถ้ามนุษย์สนใจอะไร ก็พยายามจะส่งข้อมูลให้เต็มไปหมด แม้จะไม่ได้อยากรู้กรณีนี้ แต่เนื้อหาในโซเชียลก็เต็มไปหมดอย่างอัตโนมัติ
เทคโนโลยีกำหนดสังคม สังคมกำหนดประเด็นทางด้านการสื่อสาร ทำให้คนที่ทำงานด้านสื่อ ต้องเร่าร้อนกับประเด็นเหล่านี้ด้วย ทั้งที่เมื่อก่อนสื่อจะเป็นผู้กำหนดสังคม ต้องรอให้สื่อเป็นเป็นฝ่ายหยิบยกขึ้นมาก่อน คนจะรอดูจากสื่อใหญ่ๆ ที่จะโพสต์หัวข้อข่าวอะไรขึ้นมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้ ปรากฏว่าบรรณาธิการข่าวก็พูดว่า ถ้าเราไม่เล่น เราจะกลายเป็นต่างกับเขาหรือไม่ ทำให้เราเร่าร้อนไปกับประเด็นตรงนี้
ในฐานะนักวิชาการสื่อ และเคยทำสื่อมาก่อน เห็นว่า คุณค่าของตัวเราเอง อยู่ที่ตัวของเรา ไม่จำเป็นต้องแตกตัวตาม เหมือนป๊อบคอร์นซึ่งเอไอมันก็จะ Generate ให้ แม้อาจจะสร้างยอดวิวเยอะ สร้างรายได้ให้กับสื่อ แต่เราด้อยคุณค่าตัวเอง Positioning ของเราจะกลายเป็นโปรดักส์ราคาหลัก 10 จากที่เคยเป็นพรีเมียม เป็นแบรนด์เนมที่ไฮเอนด์ กลายเป็นว่าตัวเราก็ถูกทำลายลงไป อยู่ในราคาของถูก
เราอาจจะได้กำไรแค่แป๊บเดียว แต่มันอยู่ไม่นาน เพราะฉะนั้น Positions ของ Media สำคัญที่สุด ที่จะเล่นในประเด็นตรงนี้ต่อไปหรือไม่ หรือถ้าเราไม่เล่น เราเล่นประเด็นอื่น ตอนนี้อาจจะมีผู้บริโภคสื่อสนใจวาระข่าวสารอื่นๆ แต่บังเอิญเขาหาหัวข้อเหล่านั้นไม่ได้ ถ้าเราคุมเกมสื่อได้ แอคทีฟตัวเองไปทำวาระตรงนั้น ก็จะทำให้เราได้ลูกค้าอีกหนึ่งกลุ่ม
เตือนฉุกคิดถึงการเผยแพร่ดาต้าส่วนตัว
เมื่อถามว่า หากสื่อหันมาให้ความสำคัญข่าวแนวใต้สะดือเยอะ จะมีผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ รศ.ดร.พนิดา ชี้ว่า มีผลกระทบแน่นอน เพราะมีเดียเอฟเฟ็กต์ ช่วงหนึ่งเราเคยเรียกร้องเสรีภาพของสื่อกันมาก ก่อนปี 2540 เพราะช่วงที่เรามีเสรีภาพเยอะแล้ว ปรากฏว่าสื่อไปอยู่บนมือถือของทุกคน ผู้คนใช้การสื่อสารที่ถูกต้องไหม การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย 4 ปี และพวกเรายังทำงานด้านสื่อกันทั้งชีวิต เราจึงรู้ว่า การจะพูดอะไร การจะเผยแพร่อะไร มีผลกระทบต่อคนแน่นอน
ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่อยู่บนมือ อยากจะถ่ายภาพอย่างไรก็ได้ ลงไปในมือถือ แล้วที่กรรมาธิการ อาจจะอนุญาตให้ไปลบได้ เอาจริงๆ เซิร์ฟเวอร์ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เราจะลบได้ไม่ครบด้วยซ้ำไป เพราะทุกวันนี้ชุดข้อมูลมันอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ อยู่ในอเมริกา ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่เราอัพขึ้นไปแล้ว กฎหมายมันข้ามประเทศอาจจะไม่ได้
อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องฉุกคิดกันให้เยอะ เพราะขนาดอาชญากรข้ามชาติ ยังตามไปจับไม่ได้ แล้ววันนี้เป็นโกลบอลมีเดีย เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องให้ความรู้ การถ่ายรูปตัวเองลงบนโทรศัพท์มือถือ พ่อแม่ถ่ายรูปลูกตัวเองลงไป เดี๋ยวนี้มันเจนด้วยเอไอ อาจจะเป็นหน้าลูกเราแล้วไม่ได้ใส่เสื้อผ้าก็ได้ มันไปอยู่บนโซเชียลเมื่อไหร่ ก็เป็นไบโอเดต้าของคนนั้นไปโดยไม่รู้ตัว พอถึงวันหนึ่งอาจจะมีคนมาขุดชีวิตตัวเองอนาคตต่อไปอาจจะมีเรื่องของไซโคดราม่าขึ้นมา เรื่องความทุกข์ใจ ซึมเศร้า หรืออาการที่มีความผิดปกติทางจิตใจ
ห่วงสังคมบ่มเพาะให้คุ้นชินเรื่องใต้สะดือ
ต่อข้อถามว่า แม้สื่อยังยึดหลักอุดมการณ์ แต่อาจจะเข้าไปอยู่ในองค์กร ที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในกรอบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายต้นสังกัด อาจทำให้คนสื่อเหล่านี้ ไม่สามารถจะงัดอุดมการณ์ขึ้นมาใช้ได้ มองอย่างไร รศ.ดร.พนิดา เราถูกบ่มเพาะให้คุ้นชินกับเรื่องใต้สะดือ ผ่านคอนเสิร์ตไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องไปรวมถึงคลิปหลุด ภาพหลุด การดูคอนเสิร์ตในลักษณะลูกทุ่งแบบนี้ มันเป็นเรื่องของเสื้อผ้าชิ้นเล็กๆ เต้นท่าทางที่แสดงออกถึงการยั่วยวน จนเป็นเรื่องปกติ การไปดูศิลปินคนนี้เพื่อคาดหวังว่าจะปรากฏตัวในลักษณะแบบนี้ เราต่างคนต่างตอบสนองความต้องการของกันและกัน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะต้องให้องค์กรอยู่รอด ผู้บริโภคอาจจะเครียดจากสภาพสังคม หน้าที่การงาน จึงกลายเป็นเป็นลูกค้าคนสำคัญ ที่จ่ายให้กับคอนเทนต์ลักษณะนี้
มันเป็นเรื่องที่เกิดจากความต้องการและอารมณ์ของผู้คนล้วนๆ อยู่ที่ว่าใครจะยับยั้งชั่งใจได้ ต้องกลับมาที่ตัวเราว่า รู้เท่าทันตัวเอง และสื่อขนาดไหน ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อ สิ่งที่ต้องบ่มเพาะกันต่อไป คือการที่พ่อแม่ หรือคนดูแลเด็ก อย่าเพิ่งโยนอะไรที่เร็วเกินไปให้กับเด็ก เช่น เวลาทานข้าว เราเห็นเด็กถูกตั้งโทรศัพท์มือถือ ถูกวาง iPad ไว้ตรงหน้า เด็กอาจจะดูแค่การ์ตูน แต่พอโตขึ้นมาหน่อย เด็กสามารถเข้าถึงสื่อได้ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการบล็อก ไม่มีการกำกับดูแลเรื่องของอายุคนดู
จึงเป็นความใส่ใจร่วมกัน อย่างที่สองคือ ถ้าเราปรับตัวเข้าหาเขา ในขณะเดียวกัน เราไม่เคยสอนเขาเลย แต่เราพยายามจะหาตัวเขา ว่าต้องการเอาใจเขา ให้เขามารักเรา และเราพยายามตามใจเขา แต่ไม่เคยสอนอะไรที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นจริง เด็กจะไม่รู้ว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ไม่ใช่เรื่องถูก แต่เค้าทำไปเรื่อยๆ และกลายเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง เก่ง ถึงขนาดพ่อแม่ยกยอปอปั้น เขาก็จะไม่รู้เลยว่า ถูกหรือผิด ที่กำลังทำอยู่ ไปก้าวล่วง หรือละเมิดคนอื่นหรือไม่
แม้กระทั่งเอาโทรศัพท์มือถือไปส่อง หรือไปอัดเสียง ไปถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอคนอื่น ซึ่งปัจจุบันนี้คอนเทนต์ลักษณะนี้ เต็มฟีดไปหมด มันคือพีดีพีเอ คิดง่ายๆ ไม่มีใครสอน ดังนั้นต้องช่วยกันพูดให้เขารู้เยอะๆว่า ไม่มีสิทธิ์เอากล้องไปส่องใคร ไปอัดเสียงใคร โดยไม่ได้ขออนุญาต
สื่อหยุดนำเสนอเมื่อไหร่เอไอก็หยุดฟีด
สำหรับความพอดีในเรื่องการนำเสนอข่าว คอนเทนต์ใต้สะดือของสื่อ ควรจะแค่ไหนดี ในฐานะคนดู แม้ไม่อยากดู แต่มันก็มาอยู่บนมือถือเอง เอไอจัดมาให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ อยากให้สื่อทำประเด็นข่าวอื่นกันต่อ และเพื่อให้แมชีนมันหยุดเรียนรู้ สื่ออาจจะไม่พูดประเด็นนี้อีก เพราะถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ มันก็จะเงียบของมันไปเอง ทฤษฎีมีเดียเอฟเฟกต์นำมาใช้กับปรากฏการณ์นี้ได้อยู่แล้ว.