ปชช. คาดหวังบทบาทสื่อนำเสนอข่าวกาสิโน แบบตรวจสอบ เจาะลึก

รายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 ออกอากาศทาง MCOT NEWS FM 100.5 พูดคุยประเด็น “บทบาทสื่อต่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ความพยายามในการผลักดันให้มีสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ยังคงเป็นประเด็นเห็นต่างทั้งฝ่ายการเมืองและสังคมโดยรวม 

ในมุมมองนักวิชาการ ที่คร่ำหวอดกับการศึกษาปัญหานี้ รศ.ดร.นวลน้อย สะท้อนสภาพปัญหาจากงานวิจัย ที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ได้สำรวจมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยพบว่า คนไทยอยู่ในแวดวงการพนันค่อนข้างมาก หากถามคนไทยที่เดินมา 3 ใน 4 คน จะพบว่ามีประสบการณ์เรื่องพนัน เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มาก

“จะมีกลุ่มที่เล่นเยอะ ติดพนัน เล่นอะไรก็ได้ เขาจะหาเล่นตลอด ขอให้มีการเล่นพนัน นี่ก็เป็นกลุ่มหนึ่ง ตอนหลังเนื่องจากมีพนันที่เข้าถึงคนได้ง่าย คือพนันออนไลน์ เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า อาจจะเล่นอันที่ชอบอยู่ 2-3 อย่าง แล้วก็มาเล่นพนันออนไลน์ เพราะมันมีตลอด เล่นได้ 24 ชั่วโมง ทุกวัน เล่นตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องไปหาซื้อ ฉะนั้นพนันออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายค่อนข้างมาก”

สิงคโปร์โมเดลใกล้เคียงบริบทไทย

สำหรับการผลักดันของรัฐบาล ให้มีกาสิโน มีพนันถูกกฎหมาย ในสถานบันเทิงเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ควรเป็นรูปแบบไหน รศ.ดร.นวลน้อย มองว่า โมเดลสิงคโปร์ มีองค์ประกอบของประชาชนในประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ถ้าทำได้แบบสิงคโปร์ ความเสียหายก็อาจไม่มาก แม้ผลกระทบทางสังคมก็ยังมีอยู่ แต่เขาก็พยายามควบคุมและลด ขณะที่ของเรา หากใช้โมเดลสิงคโปร์เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แต่ว่าวิธีการ หรือความเข้าใจในเรื่องที่จะจัดการคิดว่าเป็นคนละเรื่องเลย”

“ถ้าเราไปดูคำแถลงนโยบายของ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์สมัยนั้น แนวคิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาพูดถึงความจำเป็นที่ต้องมีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพราะคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวของเขาจะหดตัว เพราะแนวโน้มลดลงเยอะ อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะเขาไม่มีอะไรที่จะดึงดูดใจมาก ก็เลยรู้สึกว่า ต้องทำอะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจ ซึ่งก่อนนั้น หลายประเทศก็คิดอย่างนี้ แม้แต่ญี่ปุ่น ที่เพิ่งลงมือทำ ในขณะที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน” 

“ดังนั้น คำถามที่ควรถามเหมือนกันก็คือ ตอนนี้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศเราเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งสูงมาก แต่เราก็ยังบอกว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มันก็ดูแปลก เหมือนญี่ปุ่น แม้ตอนนี้จะมีนักท่องเที่ยวเยอะมาก จนกระทั่งหลายพื้นที่ต้องขึ้นภาษีที่อยู่อาศัย โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งรัฐบาล (ญี่ปุ่น) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ไปเอาแผนเก่าที่จะมีกาสิโน แล้วกำหนดไว้ว่าจะมี 3 แห่ง โดยให้เป็นการตัดสินใจของแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันก็มีโอซาก้า สร้างอยู่ที่เดียว ส่วนอีกสองที่ ในนางาซากิและฟุกูโอกะ เหมือนกับตอบว่าไม่ทำ หรือโยโกฮามาที่บอกว่าไม่เอา เพราะนักท่องเที่ยวเขาเยอะมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยกาสิโน และเขาก็ทำเป็นโมเดลเดียวกัน คือเป็นรีสอร์ท สถานบันเทิงครบวงจร”

“กลับมาที่เรา ก็พูดถึงเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องเงิน ซึ่งต่างจากที่นายกฯสิงคโปร์พูด เพราะตอนที่เขาแถลงในสภาฯ นอกจากจะพูดเรื่องความจำเป็น เรื่องเศรษฐกิจ จะเป็นอย่างไร เขาไม่ได้พูดตัวเลขว่า จะต้องเพิ่มเท่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น แต่บอกว่าจะจำกัดให้น้อยที่สุด” 

“ในส่วนของกาสิโน เขายังพูดถึงเรื่องที่สอง คือผลกระทบทางสังคม ก็มีแนวทาง และมาตรการที่จะลด ส่วนอีกผลกระทบที่จะมาคู่กันกับกาสิโนคือเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องอาชญากรรม การฟอกเงิน นายกฯสิงคโปร์ ก็บอกว่า ได้มอบหมายให้ใครทำมาตรการเหล่านี้ออกมา” 

ค่านิยมรวยจากพนันแทนการทำงาน

“อีกทั้งยังพูดในการแถลง ถึงความกังวลใจ คือค่านิยมของคนสิงคโปร์จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งมีคนหยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะการพนันมันทำให้คนอยู่ในลักษณะความเพ้อฝัน คือ อยากรวยจากพนัน ถึงอย่างไร เขาก็ยังต้องรณรงค์ให้คนสิงคโปร์ยังเหมือนเดิม คือค่านิยมความสำเร็จ เกิดจากการทำงานหนัก ความมานะ บากบั่น พากเพียร ต้องดำรงเอาไว้” 

รศ.ดร.นวลน้อย ระบุว่า การแถลงของนายกฯสิงคโปร์ ที่พูดถึงหลายๆ เรื่องออกมา เงินจึงไม่ใช่เป็นตัวตั้ง แต่เข้าใจว่า การจะทำเรื่องนี้ มันอาจสร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวัง เรื่องผลกระทบทางสังคม ต้องมีมาตรการที่พร้อมควบคู่กันไป 

สำหรับของไทยเรา ถ้าฟังเสียงก็จะเห็นว่า เราไปพูดเน้นหนักว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น คนจะรวยขึ้น ก็นึกไม่ออกว่าจะรวยอย่างไร เพราะการพนันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการว่า เงินเยอะ เพราะเงินมันผ่านมือเยอะ แต่ในความเป็นจริง คนที่เล่นพนันมีแพ้มีชนะประมาณ 70-80% โดยทั่วไปเราเรียกว่าเป็นเงินโอนระหว่างกัน คือเป็นเงินที่แพ้-ชนะระหว่างผู้มาเล่นพนันด้วยกัน เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นรายได้จะอยู่ในคอมเพล็กซ์จริงๆ ก็จะเหลือแค่ 20-30% ของวงพนันเท่านั้นเอง

สุ่มเสี่ยงกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน

ถ้าไปดูประเด็นที่เราพยายามจะโต้เถียงกันว่า กรณีประเทศไทย ถ้าคิดอยากจะหาเงิน สิ่งที่น่ากังวลมาก เพราะสิงคโปร์ทำอันหนึ่งก็คือเนื่องจาก กาสิโนมันเป็นที่ผ่านของเงินเยอะ เพราะฉะนั้นกาสิโนจะเป็นเป้าหมายของอาชญากร ที่อยากจะมาฟอกเงิน หากย้อนไปดูเมื่อก่อนนักการเมืองพอร่ำรวย ก็จะอ้างว่าไปชนะพนันในกาสิโนมา เพราะฉะนั้นก็จะมีคนที่พยายามเอาเงินสกปรกเข้าไป แล้วหมุนกลับมา แล้วบอกว่าชนะพนันมา ได้เงินสะอาด เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สิงคโปร์ทำอย่างชัดเจน คือการที่เขาจะต้องตรวจสอบคนเล่น และเปิดบัญชีสำหรับคนที่มาเล่นต่างประเทศ ที่จะมาเล่นเป็นวีไอพี เค้าจะเปิดบัญชี แค่ 4,000 เหรียญสิงคโปร์ โดยตรวจสอบว่า เงินมาอย่างไร

ภาษีที่ได้อาจไม่คุ้มเสียกับปัญหาสังคม

เมื่อถามถึง ข้ออ้างความจำเป็นของบ้านเรา ที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รายรับไม่เพิ่มขึ้น รศ.ดร.นวลน้อย ยกตัวอย่างสิงคโปร์ว่า มีรายได้ปี 2023 จากกาสิโนประมาณ 130,000 ล้าน โดยจัดเก็บภาษีที่เป็นส่วนของรัฐบาล จาก 2 อัตรา คือวีไอพีจัดเก็บเต็ม 12-13% ส่วนบุคคลทั่วไปเก็บ 20% เมื่อเฉลี่ยประมาณ 15% บนฐาน 130,000 ล้าน ก็จะเหลือประมาณ 20,000 ล้าน ฉะนั้นงบจากภาษี 20,000 ล้านเท่านั้นเอง มันไม่มากพอจะแปรเปลี่ยนอะไร

สำหรับในสหรัฐอเมริกา มีการประเมินในหลายพื้นที่ว่าเป็นรายรับ เพราะแต่ละรัฐจะกำกับดูแลแตกต่างกันไป นโยบายเรื่องพนันอยู่ในระดับมลรัฐ ไม่ใช่ระดับประเทศ เพราะฉะนั้นจึงประเมินว่า บางทีก็ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเมื่อจัดการได้ไม่ดี ปรากฏว่าปัญหาสังคมมาก คนติดพนัน อาชญากรรมทั้งหลายเพียบ จนต้องเอาเงินอีกส่วนหนึ่งของรัฐ ไปรักษา เยียวยา ป้องกันปัญหา ปรากฏว่าใช้เงินมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้เสียอีก  

แนะสื่อเกาะติด ให้ความรู้สังคม

ต่อข้อถามถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เกี่ยวกับการรายงานข่าว เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และเรื่องกาสิโน รศ.ดร.นวลน้อย ระบุว่า ในแง่ภาพรวม สื่อต่างๆ สนใจประเด็นนี้มาก ทำข่าวทุกช่องทางค่อนข้างเยอะ ประเด็นก็ครอบคลุม โดยพยายามหาความเห็นต่างๆ ข้อเท็จจริงต่างๆ มานำเสนอ แต่ในส่วนที่อาจจะยังน้อยไปนิดหนึ่งคือ ปัญหาผลกระทบต่อภาคประชาชน

ปกติสื่อจะทำเรื่องที่เป็นกระแส พอกระแสอื่นมาก็จะกลบเรื่องเดิม เรื่องนี้สำคัญเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องใช้เวลา จึงอยากให้สื่อติดตามเกาะติดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย โดยทำข่าวในเชิงลึก สืบสวนสอบสวน เพื่อให้ความรู้กับสังคมมากขึ้น อย่างละเอียดรอบด้าน ก็น่าจะเป็นเรื่องดี 

ห่วงพนันออนไลน์ ถึงกาสิโนถูกกฎหมาย

ด้าน ธาม เชื้อสถาปนศิริ ระบุว่า เรื่องการพนัน เป็นวาระทุก 10 ปี โดยเฉพาะเรื่องการตั้งกาสิโน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาการพนันออนไลน์ โดยการตั้งกาสิโนออนไซด์ จริงๆ แล้วมันเป็นคนละประเด็นปัญหากัน ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ถ้าจะบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่อยากให้คนไทยไปเล่นการพนันในต่างประเทศแถวชายแดน หรือบินไปต่างประเทศ ฉะนั้น กาสิโนก็ควรตั้งในชายขอบ  ขณะที่วันนี้เด็กและเยาวชน ก็เล่นการพนันออนไลน์อยู่แล้ว ฉะนั้นการตั้งบ่อนกาสิโน จึงเป็นคนละกลุ่ม

ถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหา ในประเทศที่มีบ่อนปลายนิ้วออนไลน์ ค้น Google หาก็เจอ ในแอปพลิเคชั่นมือถือก็มี ไม่อย่างนั้นคงไม่มีข่าวจับกุมบ่อนพนันออนไลน์ มีวัยรุ่นที่รวยเร็วๆ ทำเว็บไซต์ ขายพนันออนไลน์ให้เด็กและเยาวชน อันนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเรายังหย่อนยาน 

การไปเปิดกาสิโนออนไลน์ คงจะมีแต่เสียงต้าน เพราะประสิทธิภาพในการวางกรอบ กฎระเบียบ ปกป้องผลกระทบต่อเยาวชน รัฐบาลก็ยังไม่สามารถทำได้ ถ้าไปตั้งกาสิโนออนไซด์ด้วยแล้ว กำหนดว่าผู้เล่น คือผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 21 ปี เกรงว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดเสียทีเดียว

ผลกระทบตรง-ทางอ้อมจากพ่อแม่นักพนัน

พฤติกรรมการเล่นในบ่อนออนไลน์ ส่วนใหญ่ผู้เล่นจะเป็นเด็กและเยาวชน วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกำลังเริ่มต้นทำงาน ต่ำกว่า 35 ปีลงมาเป็นกลุ่มฐานหลักของการพนันออนไลน์ ส่วนผู้ใหญ่ที่ชอบเข้าบ่อน จะมีไลฟ์สไตล์ชอบบ่อนออนไซด์ บ่อนเถื่อน บ่อนวิ่ง บ่อนผิดกฎหมาย 

หากตั้งกาสิโนออนไซด์ขึ้นมาแก้ปัญหา มองว่าจุดเชื่อมสำคัญ ที่เด็กที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือลูกหลานที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้าไปเล่นในบ่อนออนไซด์ แม้เขาอาจไม่ได้เล่นพนันออนไลน์ แต่เขามีพ่อแม่ที่เล่น แบบเข้าบ่อนออนไซด์ มีงานวิจัยจำนวนมากว่า เด็กและเยาวชนที่มีพ่อแม่เป็นนักพนัน จนกระทั่งเสพติดเรื่องการพนัน มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไม่ค่อยดี เพราะเขาจะไม่ได้รับการดูแล พ่อแม่เอาเวลาไปบ่อน ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว นั่นเรื่องหนึ่ง อีกทั้งพฤติกรรมการเล่นพนันในบ่อน ยังไปกู้ได้ เอาที่ดิน บ้าน สินทรัพย์ รถ ไปจำนองเอาไว้ได้ คนมีพฤติกรรมติดหนี้การพนันส่วนมาก มักจะส่งผลกระทบไปที่ครอบครัว

ถ้าตั้งบ่อนออนไซด์ คนเล่นเข้าสู่ลักษณะการติดพนันติดหนี้พนัน ถ้าเป็นบ่อนเถื่อน ก็เป็นหนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัว เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อเด็กที่ได้รับจริงๆ ก็คือผลกระทบทางตรง คือในครอบครัว ครัวเรือน มีภาระหนี้สิน พ่อแม่ไม่ได้อยู่ดูแลลูก เด็กเห็นพ่อแม่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเป็นตัวอย่าง เป็นนักพนัน เขาก็จะมองว่า การพนันเป็นเรื่องปกติ ในทางจิตวิทยาและการเลี้ยงดู ถือว่าการพนันแบบกาสิโนออนไซด์ ก็ส่งผลกระทบทางตรงต่อเด็กและเยาวชนได้เหมือนกัน

“ผมว่ารัฐบาลยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสังคม เวลาทำอะไรก็ต้องทำประชามติ ในต่างประเทศ ผมดูแผน ที่เคยมีการศึกษาว่า ไปทำในจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงราย-เชียงแสน สระแก้ว-อรัญประเทศ แม่สอด-ตาก ก็ถือว่าเป็นการศึกษาโดยทั่วไป ถ้าไปตั้งออนไซด์ ก็ถือว่าเพื่อต่อสู้กับบ่อนชายแดนคู่แข่ง ฉะนั้นรัฐบาลควรไปศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อนว่า กาสิโนออนไซด์ มันจะเกิดปัญหาอะไร และรัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันปราบปรามกาสิโนออนไลน์ก่อน เพราะอันนี้มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กเพราะแค่ค่าขนม ก็เล่นได้แล้ว ซึ่งรัฐบาลอาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด”

ปัญหาเสพติดพนันส่งต่อเจนเนอเรชั่น

ในต่างประเทศ เด็กที่มีผู้ปกครองติดการพนัน มีพฤติกรรมปัญหาทางสุขภาพจิตด้วย ซึมเศร้า พฤติกรรมต่อต้านสังคม เด็กที่พ่อแม่มีพฤติกรรมเข้าบ่อน มีแนวโน้มที่เด็กคนนั้น จะมองการพนันเป็นเรื่องปกติ แล้วเขาก็จะเล่นการพนัน พอมีลูกก็ส่งต่อไปยังลูก 

ในงานวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์ หากเรามีคนเจนเนอเรชั่นที่ติดการพนัน จะส่งต่อในระดับดีเอ็นเอ หมายถึง ลูก หลาน เหลนเรา มีระดับดีเอ็นเอ ความอยากเล่นการพนัน ฝังอยู่ในโครโมโซมเลย เราจะสร้างเจนเนอเรชั่นคนในอนาคตอย่างไร ถ้าเราไม่ริเริ่มมองให้ปัญหาถูกแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ตนถึงอ้างงานวิจัยต่างประเทศว่า ทำไมผลกระทบของมันจึงเป็นระยะยาว

งานวิจัยยังระบุด้วยว่า คนที่มีคนที่มีแนวโน้มเล่นการพนัน มักจะมีพฤติกรรมเสพติดอย่างอื่นเกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น ติดแอลกอฮอล์ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดเที่ยว เด็กที่เกิดมาก็จะอยู่ในภาวะครอบครัวเปราะบาง แนวโน้มจะมีพฤติกรรมติดเหล้าติดบุหรี่พนันตามพ่อแม่ประมาณ 1.7 ถึง 2 หรือ 3 เท่า

หวังสื่อเจาะลึกถึงแผนรัฐบาล

สำหรับมุมมองต่อการนำเสนอข่าวของสื่อในเรื่องนี้ อ.ธาม เห็นว่า สื่อยังรายงานข่าว ในลักษณะยังไม่ค่อยขุดลึก ควรจะรายงานว่า หากจะทำ รัฐบาลควรมีมาตรการที่รัดกุมอย่างไร ตอนนี้อาจมีเพียงแค่ รายงานวาทะกรรม แรงค้าน แรงต้าน แรงสนับสนุน เรื่องเศรษฐกิจเรื่องสร้างรายได้ เรื่องเขตพื้นที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายละเอียดเชิงภาพใหญ่

อยากให้สื่อช่วยขุดคุ้ยรายละเอียดแผนของรัฐบาลเป็นอย่างไร สถานที่ตั้งจะอยู่ตรงไหน รูปแบบ และเงื่อนไข อย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดให้คนที่จะเล่นพนันถูกกฎหมาย ต้องสำแดงบัญชีรายได้ รัฐบาลอนุญาตให้ใช้เงินเดือน เพียงแค่ 1 ใน 3 และกำหนดจำนวนโควตาการเล่น หรือต่อไปทำประชามติ คนมีลูกห้ามเข้าบ่อนได้ไหม เพราะถ้าเข้าบ่อนผลกระทบต่อลูกแน่นอน ฉะนั้นคนโสดเข้าได้ ถ้าแต่งงานแล้วไม่ควรเล่นหรือไม่ เพราะผลกระทบด้านการพนันอาจทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีปัญหา 

แนะวิเคราะห์ฉากทัศน์-ยกเคส ตปท.

หากลงรายละเอียดอย่างนี้ วิเคราะห์ฉากทัศน์ต่างๆ เหมือนให้สื่อช่วยทำการบ้านก็จะดีมากขึ้น เพราะในต่างประเทศเรื่องการพนันเขาทำคือ เพื่อลดการขาดดุลการพนันที่เงินตราไหลออกนอกประเทศ ซึ่งเพื่อนบ้านรอบเราทำ สำหรับเรา ทำเพื่ออะไร 

อยากให้สื่อมวลชนช่วยขุดรูปแบบ ของการทำการพนัน ที่มันรัดกุม และลดผลกระทบ อาทิ ตั้งเงื่อนไขคนเล่นพนัน ไม่มีสิทธิ์ขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี ลดสิทธิสวัสดิการทางภาคประชาสังคมไป มันคือการตีกรอบ

ในบางประเทศ มีตัวอย่างกฎหมายเรื่องบุหรี่ อย่างนิวซีแลนด์ ใครที่เกิดหลังปี 2009 ห้ามสูบบุหรี่ มาตรการแบบนี้เค้าเรียกว่าเอนเกมเจนเนอเรชั่น คือพวกกลุ่มที่อายุไม่พอ ต้องควบคุมที่ปี พ.ศ.เกิดด้วยว่า หากใครเกิดหลังปี พ.ศ.นี้ ห้ามเข้าบ่อนพนัน เพราะเราไม่ต้องการให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่การพนันเลยทั้งเจนเนอเรชั่นนี้ อันนี้เป็นกฎหมายต่างประเทศ ที่อาจจะพอนำเสนอข้อมูลความรู้พวกนี้ ให้ประชาชนเห็นภาพว่า เราสามารถปกป้องเด็กได้อย่างไร จึงอยากฝากให้สื่อมวลชนทำในเชิงของรายละเอียดพวกนี้ให้เยอะๆ และเป็นวาระสำคัญ

สื่อเกาะติดนโยบาย หวังรัฐมาตรการชัด

ด้าน ปราเมศร์ เหล็กเพชร ระบุว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้เกาะติดความคืบหน้า และรายละเอียดเรื่องนี้ อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด ความเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. พร้อมให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของทุกหน่วยงานที่ท้วงติง ไปพิจารณาให้ครบถ้วน ก่อนให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ และปรับปรุงรายละเอียดของร่างกฎหมาย

ทั้งนี้สื่อกำลังติดตามรายละเอียดในร่างกฎหมายลำดับรองอีก 24 ฉบับ ที่จะออกตามร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยกระทรวงการคลังเสนอแผน แยกเป็นด้านต่าง ๆ เช่น กำหนดเขตพื้นที่ตั้ง จำนวนใบอนุญาต วันเวลาเปิดปิด หลักเกณฑ์ วิธีการ ลักษณะพนักงาน มาตรฐานเครื่องมือ ลักษณะบุคคลที่ต้องห้าม หรืออนุญาตให้เข้าสถานบันเทิงประเภทต่าง ๆ รวมถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยหลังจากนี้ ร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระและส่งต่อการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ได้ติดตามประเด็นฝ่ายคัดค้าน ได้ตรวจสอบคู่ขนาน รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ โดยกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาฯ ไม่เห็นด้วยหลายประเด็น ส่วนฝ่ายค้านแม้จะเห็นด้วยในหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยบางส่วน อาจจะได้เห็นการอภิปรายในเวทีสภาฯที่ สส.คงทำการบ้านเต็มที่ เพราะเป็นเมกกะโปรเจ็กต์

สำหรับหลักการนำเสนอข่าว ปราเมศร์ ได้ย้ำถึงความรอบด้าน ทุกแง่มุม และเรื่องนี้สื่อมวลชนทุกสายข่าว ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้เกาะติด นำเสนอข่าว เพื่อให้ประชาชนได้เห็นทุกมิติ แม้รัฐบาลจะระบุว่ามุ่งฟื้นเศรษฐกิจ แต่ด้านสังคมก็ต้องไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ปราเมศร์ยอมรับว่า สื่ออาจจะเสนอข่าวตามกระแสค่อนข้างมาก แต่ยังไม่เห็นการเจาะลึก หรือชี้ให้เห็นถึงมุมมืดจากปัญหาการพนัน แต่ยืนยันว่าสื่อยังเกาะติดเรื่องนี้ ต่อความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทุกแง่มุม ซึ่งต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการ ครอบคลุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต.