แนวปฏิบัติการใช้ AI ให้เป็นตามจริยธรรมสื่อ คณะทำงานยกร่างมั่นใจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อ คาดสื่อปรับตัวได้เร็ว เตรียมประเมินผลใน 3 เดือน ด้านผู้บริหารสื่อชี้ แม้ AI เป็นประโยชน์ในการสนับสนุนงานข่าว แต่ต้องใช้ในกรอบจริยธรรม ขณะที่นักข่าวต้องเพิ่มทักษะให้เหนือกว่า AI ยกระดับเป็นกูรูเฉพาะด้าน ขณะที่นักวิชาการชี้แนวปฏิบัติมาทันสถานการณ์ที่ตื่นตัว หวังครอบคลุมไปถึงกลุ่มสื่ออิสระ พร้อมทั้งเสนอให้มีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อปฏิบัติได้จริง ควบคู่กันไป
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567 FM 100.5 ประเด็น “แนวปฏิบัติ การใช้ AI ตามจริยธรรมสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ คณะทำงานยกร่างแนวปฏิบัติการใช้ AI สำหรับสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดย ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ คณะทำงานยกร่างแนวปฏิบัติการใช้ AI สำหรับสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อธิบายถึงหลักการและที่มาของแนวปฏิบัติล่าสุดนี้ว่า เนื่องในสถานการณ์ปัจจุบัน การผลิตข่าวและการพัฒนาบริบทข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่าง ๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) โดยนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเนื้อหาข่าว ตั้งแต่การแสวงหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเรียบเรียงและปรุงแต่งข้อมูล การสร้างสรรค์เนื้อหา การผลิตข่าวจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงการเผยแพร่
ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างสรรค์ผลงานข่าวสารเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ แต่การใช้ประโยชน์จาก AI ในงานสื่อสารมวลชนยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำความเข้าใจ สภาการสื่อฯ จึงเห็นสมควรให้มีแนวปฏิบัติในการใช้ AI ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการพัฒนาด้านงานสื่อมวลชนและการใช้เทคโนโลยี AI อย่างเหมาะสมภายใต้กระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ และเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสื่อ
ฐิติชัย ระบุว่า แนวปฏิบัตินี้เป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนมากกว่าเรื่องของ AI ด้วยซ้ำ จะเห็นได้ว่าเป็นการสนับสนุนในด้านอุตสาหกรรมสื่อ การสร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเพิ่มเรื่องที่ทำให้สื่อตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีทุกอย่างอย่างปลอดภัยและเป็นจุดหมายในเรื่องการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น
วันนี้สื่อมวลชนใช้แหล่งข่าวจากยูสเซอร์ต่างๆ บนโลกออนไลน์ แม้กระทั่งตัวแหล่งข่าว บางทีก็ไม่รู้เอาข้อมูลจากตรงไหนมา เป็นการทำให้เราเห็นอีกขั้นหนึ่งไปเลยว่า เป็นการตรวจสอบข้อมูลในเชิงมิติ โดยใช้เทคโนโลยี และใช้ทั้งตัวบุคคล ประสบการณ์ของมนุษย์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ตั้งแต่การทำนิยาม เราแบ่งตั้งแต่ คนทำงาน องค์กร คนที่เกี่ยวข้องกับข่าว เนื้อหาข่าว คอนเทนต์ ภาพข่าว ภาพประกอบข่าว การผลิตการเผยแพร่ แล้วก็สุดท้ายการตรวจสอบข้อมูล เป็นการตระหนักว่า นอกจากสื่อจะตรวจสอบคนอื่น ตีแผ่ความจริง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้วเราจะต้องตรวจสอบทุกๆ เนื้อหาด้วยซ้ำ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าการนำคลิปของใครมาพูดเอาเนื้อหาใครมาบอกเล่า หรือหลงเชื่อแหล่งข่าวที่อ้างอิง แต่มีอะไรที่มากขึ้นไปอีก มันไม่ได้มีบริบทแค่ เราจะสร้างคอนเทนต์ด้วย AI หรือใช้เครื่องมือ AI ซึ่งวันนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เป็นไกด์ไลน์ของสื่ออิสระ สื่อบุคคล
แนวปฏิบัตินี้ หากเราสามารถทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายได้ ก็สามารถทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ขณะเดียวกันถ้ามองโดยพื้นฐาน ที่ไม่ซับซ้อน จริงๆ แนวปฏิบัตินี้ ก็มีที่มาจากแนวปฏิบัติเกือบทุกแนว ที่เราเคยทำ ตั้งแต่เรื่องของการนำเสนอข่าวการเมือง การเคารพสิทธิ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เราเอาแนวปฏิบัติพวกนี้มาอัพเดตด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนมองในภาพที่จะต้องส่งเสริมด้วย ไม่ได้ตึงเกินไป และบางเนื้อหา บางหมวด เป็นการส่งเสริมทำให้องค์กรสื่อตระหนักในเรื่องการเน้นทักษะของบุคคลในองค์กรตัวเอง เพื่อให้เกิดการเทรนนิ่ง การส่งเสริมแม้กระทั่งเกิดตำแหน่งใหม่ๆ ในอาชีพของสื่อเอง ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะไม่เคยมองเห็นคนที่จบด้านไอทีมาทำงานข่าว ต่อไปก็สามารถเปิดรับคนจบด้านไอทีมาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในงานข่าว หรือนักวิชาการ นักวารสารศาสตร์ ข้อมูลก็มีการกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม มีมาตรฐานที่สอดรับกับสากล และทุกอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ยังไปสอดรับกับมาตรฐานด้านวิชาชีพอื่นๆ ในการตรวจสอบเชิงคุณภาพอื่นๆได้อีกด้วย
ฐิติชัย เน้นย้ำว่า แนวปฏิบัตินี้ ไม่เฉพาะสื่อที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเท่านั้น คนอื่นที่อยากจะยกระดับตัวเองเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เหมือนเป็นไกด์ไลน์ และในปัจจุบันนี้ไม่ได้กำหนดว่าองค์กรจะต้องมีแนวปฏิบัติเป็นของตัวเอง แต่สามารถใช้เป็นไกด์ไลน์ เพื่อนำไปสร้างแนวปฎิบัติของตัวเองขึ้นมาได้อีกทาง
ฐิติชัย ระบุด้วยว่า หลังจากมีแนวปฏิบัตินี้ออกมา คณะทำงานยกร่างฯ ก็ยังเปิดช่อง ให้สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ และคณะทำงานฯ ยังคงทำงานต่อเนื่องไปอีก โดยอาจจะช่วยดูให้สอดรับกับการใช้งาน เหมือนเป็นการประเมินผลด้วยว่า ออกไปแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร
ยังต้องประเมินผล คาดสื่อปรับตัวเร็ว
รวมถึงคณะกรรมการจริยธรรม สภาการฯ ในส่วนของคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ก็ยังต้องส่งเสริม ให้องค์ความรู้กับสื่อในองค์กรสมาชิกก่อน และยังมีแผนต่อไปว่า จะประชุมแลกเปลี่ยนในวงวิชาการ เป็นต้น ซึ่งทุกคนอยู่ในระหว่างช่วงการปรับตัว น่าจะเห็นผลประมาณไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ จะได้เห็นการปรับตัวของสื่อ ที่ใช้ AI เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจากการผลิต
อีกทั้ง เราจะเริ่มเห็นองค์กรวิชาชีพให้ความรู้กับนักข่าว เรื่องความปลอดภัย เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การใช้เครื่องมือต่างๆสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในสาขาองค์กรสื่อ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก็มีการเทรนนิ่ง และแลกเปลี่ยนกับองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านดิจิทัล เริ่มครอสกันระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้นิเวศสื่อของไทย เป็นเนื้อหาเชิงคุณภาพมากขึ้น และมากกว่าการที่ต่างคนต่างทำ
ใช้ AI อย่างระมัดระวัง และเปิดเผย
ขณะที่ไทยพีบีเอส ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในงานข่าวในหลายๆ ด้านแล้ว โดย คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า ไทยพีบีเอสทดลองใช้มาหลายแบบ ทั้งการใช้เสียงในการอ่านข่าวบนเว็บไซต์ ใช้การแปลเป็นซับไตเติ้ลที่สามารถให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถอ่านภาษาได้ รวมทั้งการแปลภาษาจริงๆ โดยใช้มาตลอด ขณะที่สำนักต่างๆ ก็เข้ามาร่วมดูแลในการใช้ AI เช่น กลุ่มงานสื่อใหม่ สื่อดิจิทัล ก็ใช้มาโดยตลอด แต่ในส่วนของสำนักข่าวยังอยู่ระหว่างเรียนรู้ว่า จะใช้แบบไหนในการทำงานจริงๆ
อีกทั้ง ก็ยังส่งเสริมให้นักข่าวไปลองหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งครึ่งปีหลังมีความพยายามในการเรียนรู้กับ AI ค่อนข้างมาก ถ้าวิเคราะห์กันแล้ว ปีหน้า 2568 จะเห็นภาพชัดว่า จะเป็นปีแห่งการใช้ AI จริงจัง แทบทุกอาชีพ แม้กระทั่งงานข่าวก็มีแนวโน้มต้องมองเรื่องของการใช้ AI แต่จะใช้แบบไหน ใช้อย่างไร ควรใช้หรือไม่
ต่อข้อถาม ถึงการมีกรอบจริยธรรมในการทำข่าวซึ่งเคร่งครัดของไทยพีบีเอส พอมี AI เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามา บริหารจัดการกันอย่างไร คณิศ กล่าวว่า ได้คุยกันหลายรอบ โดยเอาตัวกรอบจริยธรรม ซึ่งไม่ว่าจะใช้ AI หรือไม่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นคน หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็อยู่ในกรอบจริยธรรมอยู่แล้ว เพราะเวลาเรานำเสนอข้อมูลข่าวสาร ตัวจริยธรรมจะเป็นกรอบบังคับการทำงาน เช่น ต้องใช้แหล่งข่าวที่อ้างอิงเชื่อถือได้ เว้นแต่ว่าแหล่งข่าวที่เราจะไม่เปิดเผยกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ แม้กระทั่งกฎหมาย PDPA เราก็พยายามใช้อย่างระมัดระวัง หรือภาพอันไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ ซึ่ง บก.มีหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหา การพาดหัว การโปรยสคริปต์ และภาพที่ต้องระมัดระวัง อันนี้เป็นกรอบการทำงานปกติ ไม่ว่าอนาคตเราจะต้องเอา AI มาใช้ในงานหลังบ้านก็ตาม แต่วิธีการนำเสนอ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างนี้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดที่จะต้องคุยกันในอนาคตอย่างจริงจัง
สำหรับการใช้ AI ในงานข่าว คณิศ มองว่า ไม่ได้อยู่ที่การใช้ แต่อยู่ที่ใช้แล้วผู้บริโภคสื่อเข้าใจหรือไม่ว่า มันคือ AI สำคัญตรงนั้น ขณะที่การทำงานของมนุษย์ อาจจะมีความละเอียดรอบคอบมากกว่า มีความระมัดระวัง และเรื่องใช้ภาษาได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ AI คณิศเห็นว่า เป็นเรื่องที่เราต้องบอกผู้บริโภคให้รู้ ก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง จะต้องเข้าใจว่า สื่อในปัจจุบันมีหลายกลุ่มหลายเฉดมาก มีทั้งสื่อวิชาชีพ ไม่เป็นวิชาชีพ สื่อบุคคล เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ที่เป็นอาชีพมีรายได้จากโฆษณา หรือได้ยอดวิว ยอดไลก์จากโซเชียลมีเดีย อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ผู้บริโภคอาจจะเข้าถึงสื่อเหล่านี้ในปัจจุบันมากกว่าสื่อกระแสหลักไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะต้องคุยกันอีกแบบ ถ้าเราจะต้องใช้ AI ควรจะใช้แค่ไหน การใช้หน้าบ้าน คงจะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนกันเยอะ แต่ถ้าใช้งานเพื่อการสนับสนุน เช่นการค้นข้อมูล การถอดเทป การเขียนโค้ดดิ้ง การสนับสนุนเรื่องงานกราฟิกให้เร็วขึ้น การลำดับภาพให้เร็วขึ้น มันอาจจะช่วยงานสำหรับคนทำงานให้เร็วขึ้น
หนุนนักข่าวต้องเพิ่มทักษะให้เป็นกูรู
เมื่อถามว่าสื่อหลายค่ายอาจจะนำ AI มาทดแทน เพราะได้ประโยชน์มากกว่า เรื่องนี้น่ากังวลมากน้อยแค่ไหน คณิศ มองว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญมาก ที่องค์กรข่าวอาจจะมองเห็นว่า ถ้าจะลดต้นทุน จะลีนองค์กร เพื่อให้กระชับขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น AI ก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญจริงๆ เคยลองคิดว่า ถ้าข่าวต้นชั่วโมง หรือข่าวเบรกกิ้งนิวส์ ถ้าเราให้ AI ประมวลข้อมูล แต่ก็ต้องผ่านการคัดกรองของ บก.ผ่านการครอสเช็คข้อมูล ซึ่งมันสามารถทำงานได้เร็วมาก แต่ก็ยังอ้างอิงจากสื่อที่เป็นสำนักข่าวหลัก เว็บไซต์ข่าวหลัก ก็มีแนวโน้มให้คนผลิตข่าวเบรกกิ้ง หรือข่าวต้นชั่วโมงหายไป แต่นักข่าวก็ต้องไปทำงานที่มันยากกว่า AI คือ AI มันทำงานซัพพอร์ตในสิ่งที่ง่ายๆ ได้ แต่นักข่าวและคนทำงานต้องทำประเด็นสำคัญ ซึ่งไทยพีบีเอสก็มีแผน ที่ต้องคุยกันในสำนักข่าวเช่นกัน คือการเพิ่มทักษะให้นักข่าวมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น เป็นนักข่าวในเชิงสืบสวนมากขึ้น ซึ่งอันนี้ AI ทำไม่ได้ แต่ช่วยในการสนับสนุนค้นข้อมูลได้ เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าเพิ่มของความเป็นนักข่าวอาจจะชัดขึ้นมากกว่าการทำงานทุกวันนี้
“สื่อที่มีโต๊ะข่าวทุกโต๊ะ จำนวนมาก ถ้าวันหนึ่งต้องลดจำนวนผู้สื่อข่าวลง ขณะที่ปัจจุบันความเชี่ยวชาญทั่วๆ ไปหรือข่าวทั่วๆไป AI มันทำได้แทนเราแล้ว ฉะนั้นนักข่าวจะต้องทำอย่างไร ฉะนั้นจะต้องหนีสิ่งที่ AI มันตามมาทัน ไปทำเรื่องที่มันลึกซึ้งมากกว่า คือการไปค้นข้อมูลที่มันลึกมากกว่า เป็นนักข่าวสืบสวนในแบบต่างๆ ให้มากกว่านี้ จะทำให้เป็นกูรูมากขึ้น อาจจะเป็นทางออกสำหรับคนเป็นนักข่าว และสำหรับองค์กรก็ต้องไปจัดการว่า อาจจะเลือกเนื้อหาที่มันชัดขึ้น เพราะถ้าในภูมิทัศน์สื่อ จะเอาทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้”
ยกเคสความเสี่ยงสื่อในต่างประเทศ
ต่อข้อถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องที่สื่อนำ AI มาใช้ สุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกแนวปฏิบัติ หรือละเมิดจริยธรรมในการทำงานสื่อ ตรงไหนที่ควรระมัดระวังมากที่สุด คณิศ มองว่า เท่าที่ดูรีวิวงานจากผู้บริโภค ที่สะท้อนการใช้งาน AI ของสำนักข่าวในต่างประเทศ ที่พยายามทดลองใช้อยู่ ก็มี 4-5 ประเด็นที่เป็นเรื่องที่เป็นความเสี่ยง เช่นเรื่องการเขียน การรายงานข่าว การใช้ข้อมูลจาก AI มาเป็นตัวรายงานข่าว เนื้อหา ที่มีความน่ากังวลอยู่ ปัจจุบันไม่ว่า จะเลือก Generate มาจากเว็บไซต์ สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ แต่ว่าในอนาคตมันอาจจะไป Generate กับชุดข้อมูลอื่นๆ มันเป็นเฟกนิวส์มาก่อน แล้ว Generate ข้อมูลเหล่านั้นมา อันนั้นมีความเสี่ยง ดังนั้นตัวเนื้อหาเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเราไม่รู้ว่าที่ Generate
มาจากชุดข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง และต้องตรวจสอบให้เข้มงวด
นอกจากนี้ เรื่องภาพก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่อาจต้องบอกให้คนดูรู้ ถึงแม้จะใช้ AI ซึ่งปัจจุบันก็มีคนเริ่มนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกราฟิก หรือภาพที่ต้องนำมา Generate ภาพ ซึ่งเมื่อก่อนเราจะใช้การวาดรูป แต่ตอนนี้ให้ AI วาดให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องบอกผู้บริโภคให้รู้เพราะเราไม่สามารถไปถ่ายได้ ในพื้นที่จำกัด
สำหรับเรื่องเสียง เรื่องแปลภาษา แม้จะให้ AI ถอดเสียงได้ภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ก็ต้องมาอ่านทวน เพราะมันแปลบางคำ เวลาเราพูดอาจจะไม่ชัดบ้าง ควบกล้ำผิดบ้าง หรือแปลแบบทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ฉะนั้น ก็ต้องมาอ่านทวนอีกครั้งแล้วแก้ใหม่
ชี้แนวปฏิบัติทันสถานการณ์ AI
ทางด้าน รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ระบุว่า ในมุมของนักวิชาการ ดีใจที่มีแนวปฏิบัติออกมาเสียที เพราะเป็นปีที่รู้สึกว่า มีความตื่นตัวอย่างเข้มข้นในเรื่องการใช้ AI ในแวดวงการศึกษา ทางนิเทศศาสตร์ ก็ชัดมาก เมื่อมีผู้จัดอบรมเกี่ยวกับ AI อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้เข้ารับการอบรม เพราะเราก็ตื่นตัวกันมาก ตอนนี้ถ้าอาจารย์ไม่ใช้ ลูกศิษย์เราใช้กันเยอะแล้ว แล้วก็ใช้ทำงานส่งอาจารย์ แม้กระทั่งทำงานเฉพาะทางด้านสื่อ ทำคลิป ทำข่าว ทำสคริปต์ เขียนบท ทำภาพ ทุกอย่างครบแล้ว ถ้าเราไม่ใช้เลย ก็จะไม่ทันลูกศิษย์ ฉะนั้นจึงต้องตื่นตัวอย่างเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับการนำ AI มาใช้กับงานสื่ออาชีพ รศ.ดร.เสริมศิริ ระบุว่า หลายอย่างที่เราได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ได้เห็นความก้าวหน้า ที่เราเจอตอนนี้ ต้องยอมรับว่าคนที่เป็นสื่อมวลชนวิชาชีพ ทุกวันนี้คือคนที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่เยอะ เจน Y เจน Z เยอะ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ใช้ อย่างไรก็ต้องเติบโตตามนั้น ส่วนจะใช้มากใช้น้อย ใช้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ก็ต้องใช้แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้
ประเด็นที่เรากังวลคือนอกจากสามารถใช้งานได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการรู้เท่าทันว่า AI บางตัวใช้งานในลักษณะใด เรื่องของการเขียน Prompt ชุดคำสั่งทั้งหลาย แต่ประเด็นเดียวที่เรากำลังกังวล คือเรื่องของการ“เท่าทัน” ซึ่งการเท่าทัน ทั้งเรื่องข้อมูลที่ AI Generate มา หรือการเท่าทันเรื่องของอัลกอริทึมของสื่อทั้งหลาย หรือเท่าทันในเนื้อหาที่สื่อ Generate ออกมาให้ อันนี้คือความกังวล
รวมทั้งเรื่องของจริยธรรม ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นวงการสื่อ หรือวงการใดก็ตาม ถ้าเป็นสื่อมืออาชีพ สิ่งที่เรากังวลตอนนี้ที่เราเจอ และพูดคุยกระบวนการด้านข่าวเป็นหลัก เมื่อข่าวเป็นการเสนอข้อเท็จจริง เราก็จะกังวลว่าบางครั้งผู้สื่อข่าวได้ยินมาว่า เดี๋ยวนี้เวลาถอดเทปใช้ AI ช่วยถอด สรุปประเด็นเขียนเป็นแพตเทิร์นข่าว พาดหัวข่าว เหล่านี้้คือสิ่งที่น่าจะเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และมันร่นเวลา เพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่ข้อเสียของมัน คือตัวที่เค้าเขียนมา ให้สรุปมาให้
ถ้าหากว่าผู้สื่อข่าวคนนั้นคนในวิชาชีพ รวมทั้งระดับหัวหน้าขึ้นไป ถ้าปล่อยและเชื่อใจกับ AI มากเกินไป ผลกระทบที่ตามมาบางทีก็อาจจะไม่เท่าทัน เพราะว่า AI มันพยามเน้นวิธีทำงานเหมือนสมองของมนุษย์ บางครั้งมันก็มีอคติ มันมีความไม่เป็นกลาง ทั้งการเขียน การสืบค้นข้อมูล อันนี้ก็เป็นข้อที่ต้องพึงระวังจริงๆ
หวังครอบคลุมไปถึงกลุ่มสื่ออิสระ
สำหรับแนวปฏิบัติ ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการใช้ AI ภายใต้กรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง 5 หมวด รศ.ดร.เสริมศิริ เห็นว่า ทุกหมวดเขียนได้ดี เชื่อว่าน่าจะผ่านการตรวจสอบมาอย่างดี
ในหมวดที่ 3 การใช้ AI ขององค์กรสื่อมวลชน เป็นหมวดที่ดีมาก คือเขียนคลุมไว้คือ AI ต้องมาจากนโยบายขององค์กรสื่อ และหมวดที่ 4 การใช้ AI ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน/ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนงานข่าว เท่าที่ดูเขียนครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการเอาไปเผยแพร่ กระบวนการดีแคลร์ กับแจ้งกับผู้รับสาร ผู้ชม กับสังคม ว่าอะไรคือเนื้อหาที่เราใช้ AI ผลิตหรือเข้ามาช่วย อันนี้ถือว่ามีความโปร่งใส พยายามให้เป็นเรื่องของการเปิดเผย
ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของความระมัดระวัง โดยเอาเรื่องกฎหมายเข้ามาดู เข้ามาช่วย เช่นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อนุญาตเรื่องของการ Generate ภาพข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต อันนี้ก็เป็นข้อที่เป็นไปตามกฏหมาย และหลักการสากล เหล่านี้รู้สึกว่าทำได้ครอบคลุมดี
หลักการดี แต่สิ่งที่เรากังวล คือเรื่องของการบังคับใช้มากกว่า หรือการกำกับขององค์กรสื่อเอง เมื่อมีแนวทางปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าองค์กรสื่อมวลชนในประเทศไทยเอาไปใช้ เอาไปเป็นกลไกในการตรวจสอบภายในองค์กร อันนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมาก และมีพัฒนาการด้านงานข่าว หรือจริงๆ ภาคธุรกิจขององค์กร ก็จะดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีคนที่ทำงาน เผยแพร่ข่าวสู่สังคม แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อโดยตรง ไม่ได้สังกัดองค์กรใด ไม่แน่ใจว่าจะครอบคลุมถึงมากน้อยแค่ไหน เพราะงานบางอย่างของเขา ก็เกินกว่าที่หมวด 4 จะครอบคลุม ก็อยากจะฝากไว้ว่า พัฒนาการของการปรับ ต่อไปอาจจะให้ครอบคลุมมากขึ้น
เสนอให้มีหน่วยงานกำกับดูแลควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ประเด็นที่เราควรจะต่อยอด จริงๆ ก็อาจจะไม่ใช่หน้าที่ของสภาการสื่อฯ เสียทีเดียว แต่ก็อยากเสนอว่า เมื่อแนวปฏิบัติออกมาชัดเจน ก็ควรจะต้องมีการกำกับดูแล หรือการรับผิดชอบร่วมกันขององค์กร ที่เป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลด้านสื่อด้วย อย่างเช่น กสทช.ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่เราเชื่อว่าต้องทำหน้าที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอที ทางกฎหมาย ทางจริยธรรม ที่สามารถให้คำปรึกษา หรือตรวจสอบการใช้ AI ในวงการสื่ออย่างต่อเนื่อง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ในการพัฒนาวงการสื่อ ซึ่งคาดหวังว่า องค์กรอิสระเหล่านี้ น่าจะเข้ามาช่วยกำกับดูแลได้ด้วย
จริงๆไม่ต่างกับสิ่งที่เคยทำมา ในหน้าที่หลักปกติของกสทช. แต่ตอนนี้เราก็คาดหวังว่า กสทช. หรือกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องของ AI กับวงการสื่อได้มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้นอกจากจะกำกับแล้ว ต้องสนับสนุนให้เท่าทัน ให้รู้ทัน ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องมีการกำกับอย่างต่อเนื่องเพราะ AI พัฒนาตัวเองได้เร็วมาก เปลี่ยนได้เร็ว อาจจะพัฒนาการได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงว่าเป็นระยะ 3-5 ปี แต่พูดถึงแต่ละปี ที่จะมีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นก็ต้องทำควบคู่กัน.