ปัญหาติดโซเชียลออนไลน์ส่งผลการอ่านของเด็กลดลง สภาการสื่อมวลชนฯ ฟื้นโครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ-สื่อวิชาชีพมุ่งเพิ่มทักษะการอ่านให้เด็กตั้งแต่ประถม คิดวิเคราะห์ เรียนรู้จากเนื้อหาข่าว ให้รู้เท่าทันสื่อ-ภัยไซเบอร์ ชี้เป็นประโยชน์ทั้งการเรียนการสอน
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ทาง FM 100.5 พูดคุยเรื่อง “เด็กรู้เท่าทันสื่อได้ ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ ระวีพร แสนพยุห์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนทุ่งสองห้อง (คุปตัษเฐียรอุทิศ) ฐิติวรรณ ไสวแสนยากร บรรณาธิการข่าวการศึกษาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
หลังจากมูลนิธิสภาการสื่อมวลชน และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดตัวโครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีองค์กรสื่อต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ประชามติตราด หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา หนังสือพิมพ์หัวหินสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ หนังสือพิมพ์ส่องใต้นิวส์ จ.สตูล หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จ.เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย จ.อุบลราชธานี
รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ อธิบายรายละเอียดว่า โครงการฯได้ดำเนินต่อเนื่องมาจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ขณะที่ยังเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้จัดทำขึ้น และเว้นวรรคไปเนื่องจากข้อจำกับงบประมาณสนับสนุน และปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็ได้ดำเนินการต่อ
นักเรียนกว่า 6,000 คนร่วมโครงการ
โครงการได้คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วม 220 แห่ง จาก โรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สตูล เชียงใหม่ อุบลราชธานี โดยโครงการฯ เข้าไปทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทย
รศ.ดร.วิไลวรรณ ระบุว่ายังตระหนักว่า ณ วันนี้เด็กไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์ หรืออ่านตัวหนังสือแบบคิดวิเคราะห์ ซึ่งเรามองว่าเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะทุกอย่างที่มากับสมาร์ทโฟน และคัดย่อมาให้หมด ดังนั้นทักษะของการอ่านที่มีการคิดวิเคราะห์ด้วย จึงสำคัญมากโครงการนี้จึงกลับมา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ และมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สช. กทม.
กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นเด็ก ป.5 เนื่องจากในวิชาภาษาไทย มีเรื่องเกี่ยวกับการอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ ณ วันนี้หนังสือพิมพ์หายาก ขณะเดียวกันการพัฒนาสื่อการสอนก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับครูในยุคนี้ด้วย จึงเป็นความร่วมมือกัน และสื่อที่ร่วมโครงการ ก็เป็นหนังสือพิมพ์ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค ซึ่งหนังสือพิมพ์กระดาษยังมีอยู่ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการถึง 6,000 กว่าคน จาก 220 โรงเรียนและครูมากกว่า 200 คน ในหลักสูตรหนึ่งสัปดาห์
เสริมทักษะเด็กคิด-วิเคราะห์-รู้ทัน
“โครงการนี้ 1.เด็กๆ จะรู้จักหนังสือพิมพ์ จากที่ไม่เคยเห็นหน้าตา 2.จะได้อ่านแบบยาวๆ แล้วคิดวิเคราะห์ได้ และรู้เท่าทันได้ ตรงนี้จึงสำคัญมากในเรื่องการเสริมทักษะ เรามองว่า ณ วันนี้ หนังสือพิมพ์สามารถเป็นสื่อการสอนได้ ในรูปแบบของการอ่านเชิงวิเคราะห์ หลักสูตรนี้จึงเหมือนการฉีดวัคซีนให้ตั้งแต่ตอนเด็ก ให้มีภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญคือ รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ได้และรู้ทัน”
“ทุกวันนี้ ถึงแม้หนังสือพิมพ์จะเคลื่อนไปอยู่บนออนไลน์ ก็ยังเป็นตัวหนังสืออยู่ ดังนั้นทำอย่างไร คนอ่านจะเข้าไปอ่านที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ด้วย ไม่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์กระดาษอย่างเดียว และเรามองว่าในหนังสือพิมพ์ออนไลน์นั้น ก็มีรูปแบบของคน รวมกันอยู่เยอะ ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่การอ่านคิดวิเคราะห์อย่างเดียว แต่เราจะเพิ่มทักษะให้คนได้รู้เท่าทัน ทั้งข่าวปลอม โฆษณาปลอม ที่แฝงเข้ามาเยอะมาก”
รศ.ดร.วิไลวรรณ ระบุด้วยว่า หลักสูตรของโครงการได้ทำร่วมกันกับครูภาษาไทย โดยเอา Pain Point ทั้งหมดที่เด็กเจอวันนี้ แล้วแก้และเราคำนึงถึงสิ่งที่คุณครูสะท้อนมาว่า หลักสูตรนี้ไม่ใช่เป็นการยัดเยียด ให้รู้สึกเป็นภาระ แต่เป็นโครงการที่หวังดี ฉะนั้นการเริ่มจากต้นทาง คือครู ต้องมีความสุข ต้องสนุกก่อน แล้วถึงจะส่งต่อความสุข และสนุกให้นักเรียนได้ ตรงนี้สำคัญมาก ที่จะทำให้คุณครูเห็นความสำคัญของการอ่าน
“เราได้วางแผนอย่างดี จากการที่ดูชั่วโมงการสอน ดังนั้นหลักสูตรนี้ที่ทำหนึ่ง 5 วัน จะเป็นไปตามตารางสอนอยู่แล้วในวิชาชั้น ป.5 ที่ว่าด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ ดังนั้นจึงถือว่าเราจะเข้าไปช่วยจากครู จากที่ต้องไปหาสื่อการสอนเอง และหนังสือพิมพ์ก็หายาก ดังนั้นเราจะทำสื่อการสอนให้ครู และสนับสนุนหนังสือพิมพ์จริงๆ และก่อนที่คุณครูจะไปสอน จะมีการเวิร์กชอปก่อน เพื่อให้ครูได้เรียนรู้” รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว
ติดมือถือปัญหาการอ่านของเด็กลดลง
ระวีพร แสนพยุห์ ผอ.โรงเรียนทุ่งสองห้อง (คุปตัษเฐียรอุทิศ) ที่ร่วมดำเนินโครงการ สะท้อนปัญหาว่าพฤติกรรมการอ่านของเด็กในปัจจุบันว่าเปลี่ยนไปมาก การติดมือถือมากขึ้น ทำให้สนใจการอ่านลดน้อยลง เป็นปัญหาทุกโรงเรียน เพราะสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีผลกระทบอย่างมากตั้งแต่หลังโควิด ดังนั้นโรงเรียนจำเป็นต้องหากิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านให้เด็กๆ ได้อ่านในแต่ละวัน อย่างน้อย คือต้องได้อ่านหนังสือ หรือแบบเรียน หรือเข้าห้องสมุด โดยโรงเรียนจะมีกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กๆ ได้ทำ เช่น ตะกร้าหนังสือกิจกรรม บันทึกรักการอ่าน สำหรับหนังสือที่ตัวเองชอบ
การนำโครงการกลับมาทำต่อจากปี 2553 เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยการอ่าน ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม จะทำให้เด็กๆ มีความรู้เพิ่มมากขึ้นเพราะพื้นฐานสำคัญของเด็กคือการอ่าน ถ้าเขาได้อ่าน หรือแม้แต่อ่านสื่อ โปสเตอร์ ใบงาน โบร์ชัว หรือบอร์ดความรู้ต่างๆ ก็จะทำให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้น
“ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันด้วย ดังนั้นสื่อหนังสือพิมพ์ จึงมีประเด็น ทั้งจะต้องอ่าน และคิดวิเคราะห์ก่อนว่า มันจริงตามนั้นหรือไม่ แม้แต่ข่าวประเภทต่างๆ เช่น ข่าวอาชญากรรม นักเรียนก็ต้องมีวิจารณญาณว่า ควรจะเชื่อทันทีหรือไม่ ก็จะอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของคุณครู”
สำหรับการเริ่มต้นโครงการครั้งนี้ จะอบรมครูชุดแรกในวันที่ 10 มกราคม 2568 ก่อนเริ่มกิจกรรมห้องเรียนเดือนกุมภาพันธ์ โดยผอ.ระวีพร ย้ำว่า โครงการนี้ไม่ได้เพิ่มภาระให้ครู แต่ใช้ในชั่วโมงภาษาไทย ที่ครูจัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว เรื่องของการอ่านด้วยสื่อชนิดต่างๆ และสื่อหนังสือพิมพ์ มีอยู่ในหลักสูตร ป.5 เราเพียงนำสื่อเข้าไปเสริมให้นักเรียน แทนที่ครูจะสอนในช่วงอื่นๆ เราจะกำหนดวันให้สอนภายในหนึ่งสัปดาห์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์พร้อมกัน
“เชื่อว่าโครงการส่งเสริมทักษะนี้ดีมาก เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างน้อยนักเรียนก็ได้หยิบจับหนังสือพิมพ์ ซึ่งเริ่มหายไปจากแผงหนังสือ ครูเองจะได้อบรมเพิ่มพูนความรู้ ในการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งยังจะได้รับเกียรติบัตรจากโครงการ ซึ่งคุรุสภากำหนดไว้อยู่แล้วว่า ทุกปี ถ้าครูจะต่อใบประกอบวิชาชีพ ต้องมีการอบรมพัฒนาความรู้ ตรงนี้สามารถนำมาใช้ได้ หรือแม้แต่ครูที่จะใช้ทำวิทยฐานะ ก็สามารถนำไปทำผลงานได้” ผอ.ระวีพร กล่าว
เป็นประโยชน์ทั้งการเรียนการสอน
ผอ.ระวีพร บอกอีกว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการนี้มาปี 2553 โดยทำครูแกนนำ จนถึงปัจจุบันครูที่เข้าร่วมโครงการทุกคน ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมีประโยชน์กับเด็ก เพราะเราสนับสนุนทุกอย่าง เพียงแต่ครูจะใช้กระบวนการที่เข้ามาอบรม กลับไปสอนเด็กที่โรงเรียนและกลับมาแลกเปลี่ยนกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
“การสร้างผู้เรียนให้มีความสุข หรือห้องเรียนเชิงบวก เป็นเรื่องสำคัญที่ครูทุกคนต้องทำอยู่แล้ว หลายโรงเรียนก็ทำอยู่ ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม ที่สำคัญเราต้องชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ ทำความเข้าใจกับนักเรียนให้ทราบก่อนล่วงหน้า อย่างทุกเช้าที่มีกิจกรรมหน้าเสาธงเป็นเรื่องสำคัญ เราจะแจ้งข่าวกับเด็กๆ ว่าจะมีกิจกรรม มีโครงการนี้เกิดขึ้น ซึ่งเด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญเวลาที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ โรงเรียนก็จะมีการเสริมแรง มีรางวัลให้ ชื่นชม ทำเกียรติบัตร ยกย่อง”
“ที่สำคัญกิจกรรมในห้องเรียน จะไม่น่าเบื่อ เพราะเราไม่ได้ให้เด็กๆ นั่งอ่านเฉยๆ แต่เราจะมีกิจกรรมต่างๆ ก่อนคุณครูนำเข้าสู่บทเรียนด้วยเกม ด้วยเพลง และให้เห็นความสำคัญของการเรียนด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ กิจกรรมการเรียนรู้ มีทั้งกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมเดี่ยว”
“ในโครงการเรายังได้เตรียมทั้งแบบฝึก ใบงานไว้ให้ เป็นชุดการเรียนรู้ทุกวัน โดยที่ครูไม่ต้องไปสร้างเอง แต่ใช้ที่เตรียมไว้ให้แล้วไปจัดกิจกรรมกับเด็กทั้ง 5 วัน และก่อนหมดคาบเรียน ก็จะสรุปประเมินผล พูดคุยกับนักเรียนทุกคาบ สำหรับตัวโครงการ ก็จะมีการสรุปประเมินผล หลังจััดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว เชื่อว่าทุกครั้งเด็กๆ จะมีความสุข เพราะเขาจะได้ใช้สื่อที่แปลกใหม่ และยังได้เข้าไปเรียนในห้องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ในรายวิชาคอมพิวเตอร์ด้วยซึ่งเด็กๆ ชอบมาก” ผอ.ระวีพร กล่าว
เพิ่มภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อให้เด็ก
ด้าน ฐิติวรรณ ไสวแสนยากร บรรณาธิการข่าวการศึกษาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มองว่า โครงการนี้จะได้ประโยชน์แน่นอน เพราะอย่างน้อยจะมีเด็กจำนวนหนึ่ง ที่เข้าร่วมโครงการได้รับรู้ถึง การรู้เท่าทันสื่อโดยหนังสือพิมพ์ ได้เรื่องของภูมิคุ้มกัน เพราะกิจกรรมในห้องเรียนการเรียนการสอนจะต้องสอนเรื่องภูมิคุ้มกัน เช่น หากหยิบข่าวมาอ่าน จะสังเกตอะไรได้บ้าง อันไหนน่าจะเป็นเรื่องจริง ครูก็ได้สอนให้เด็กเริ่มคิดวิเคราะห์
ฐิติวรรณ ชี้ว่าจากปี 2553 ที่เริ่มมีโครงมาเรื่อยๆ แม้โซเชียลมีเดียจะไม่บูมเท่าปัจจุบัน แต่เรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมก็เริ่มเข้ามาแล้ว มาถึงปัจจุบัน ความเร็วของเทคโนโลยีที่มากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่เด็กส่วนใหญ่มีใช้ สามารถใช้ถ่ายรูป โพสต์เรื่องราวลงโซเชียลได้ อย่างที่กล่าวว่าใครๆ ก็เป็นสื่อได้
ฉะนั้น มาถึงวันนี้ เชื่อว่าโครงการนี้ก็จะยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะเฟกนิวส์ก็มากขึ้น และยังมีสารพัดสิ่งแปลกปลอม ที่ไม่ใช่แค่ทำร้ายเด็ก แต่ทำร้ายสังคม เช่น การหลอกลวงให้ลงทุนที่เกิดขึ้นเยอะมากในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นภูมิคุ้มกันได้ แม้ไม่ถึงกับให้เด็กๆ คิดได้อย่างผู้ใหญ่ แต่การทำให้เด็กเริ่มคิดนั้น สำคัญที่สุด คือสอนให้เด็กมีคำว่า เอ๊ะ! จริงหรือไม่ มันเป็นอย่างนี้ได้หรือ
“อย่างที่มองกันว่า ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้หมด แต่สื่อทั้งหมดมันก็เป็นดาบสองคม ก็ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า จะมองอย่างไร ว่าสื่อไหน หรือข่าวไหนที่เค้าเสพ ที่ได้รับ มันเชื่อถือได้หรือ อันไหนต้อง เอ๊ะ! โดยให้เป็นไปตามลำดับช่วงชั้นอายุของเด็กๆ ก็จะเป็นประโยชน์”
ไทยรัฐวิทยาปูพื้นฐานอนุบาล-ประถม
ฐิติวรรณ ระบุด้วยว่า ในส่วนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่มีจำนวน 111 แห่ง และมี 30 แห่งที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ก็มีหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษาอยู่แล้ว เป็นหลักสูตรที่อยู่นอกเหนือจาก 9 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งจัดเป็นหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา
“เราจะมี 2 หลักสูตรคือ สื่อมวลชนศึกษา กับหลักสูตรหน้าที่พลเมือง ซึ่งหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา เริ่มตั้งแต่เตรียมอนุบาล ให้เด็กจับหนังสือพิมพ์ขึ้นมาขยำ อย่างน้อยก็เป็นการฝึกกล้ามเนื้อให้เขาคุ้นชิน แล้วเด็กๆ ก็ได้เห็นภาพ เป็นต้น ซึ่งเรามีแผนการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล และแต่ละช่วงชั้นขึ้นไป เวลาสอนก็จะใช้หนังสือพิมพ์เป็นหลัก”
อีกทั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาวิทยา ยังอบรมครูทุกภาค คือครูกลุ่มที่สอนสื่อมวลชนศึกษาโดยเฉพาะในยุคนี้ เน้นที่สุดก็คือ การรู้เท่าทันสื่อ ในขณะเดียวกันก็จะสอนเด็กไปด้วย ซึ่งบทพิสูจน์อย่างหนึ่งนอกจากเรื่องภูมิคุ้มกันแล้ว สิ่งที่เด็กๆ ได้คือ เด็กอ่านหนังสือเป็นซึ่งผลการสอบที่เกี่ยวกับวิชาภาษาไทย คะแนนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาบางแห่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์ สพฐ.”
สำหรับความคาดหวังจากโครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ ฐิติวรรณ บอกว่าขอแค่ 50% ก็จะมีเด็กๆ ที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งในเรื่องภัยจากสังคม ภัยจากเฟกนิวส์ และเด็กได้เรียนรู้ในเรื่องของภาษาที่ถูกต้อง ท่ามกลางภาษาในโซเชียลที่บัญญัติศัพท์ใหม่ แปลกๆ เกิดมาแค่เดี๋ยวเดียว แล้วก็จะหายไป ซึ่งก็เป็นวิถีของเด็กยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีภาษาที่เป็นภาษาที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานของจริง อย่างน้อยในสื่อต่างๆ ที่เป็นสื่อหลัก แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ ทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์จะชัดเจนมาก เพราะเป็นตัวอักษรให้เห็น เป็นตัวอย่างมาตรฐานให้เด็กๆ เห็นได้ว่า คำที่ถูกต้องใช้อย่างไร.