สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ เรียกร้องให้มีแนวปฏิบัติการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการแสดง

รายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ทาง FM 100.5 พูดคุยประเด็น “การทารุณฯ สัตว์ ผ่านสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ษมาวีร์ พุ่มม่วง ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ เจ้าของเพจ “วันละภาพ” ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกํากับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช.

กรณีมีการร้องเรียนละคร “แม่หยัว” ที่ปรากฎภาพแมวชักกระตุก หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อมูลว่า มีการวางยาสลบแมว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมปศุสัตว์ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีทารุณกรรมสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เรียกผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่องที่เสนอละครเรื่องนี้ เข้าให้ข้อมูล

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ซึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมปศุสัตว์ โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล ระบุว่า ทางสมาคมฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า 1.สิ่งที่ต้องทำก็คือการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความกระจ่างทั้งฝั่งที่ถูกร้อง และฝั่งของสัตว์ที่ถูกกระทำ จึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมปศุสัตว์ 2.หลักที่เรายื่นไป คือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายการทารุณกรรมและสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งขอให้แจ้งผลการตรวจสอบต่อสาธารณชนโดยด่วน 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมาย อธิบดีเป็นเลขานุการของกฎหมายฉบับนี้ (พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557) ในการบังคับใช้กฎหมาย และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เรียกพยานหลักฐานบุคคลต่างๆ เข้าสู่กระบวนการได้ 

อีกทั้งปัจจุบัน เราควรประกาศเรื่องการจัดสวัสดิภาพของสัตว์ที่ใช้ในการแสดง ตามวัตถุประสงค์ของชนิด และประเภท ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราออกกฏหมายและมีหมวดหนึ่งที่เรียกว่า สวัสดิภาพสัตว์ ในมาตราที่ 22 กำหนดว่าเราจะต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามชนิดประเภทต่างๆ และมาตรา 24 พูดถึงเรื่องสัตว์ที่ใช้ในการแสดง จะต้องออกระเบียบประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ในการออกหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ทำอย่างไรเกี่ยวกับการใช้สัตว์ในการแสดง และจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ปลอดภัยมากที่สุด 

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป มีกฎเกณฑ์ระเบียบตรงนี้มานานมาก ที่เป็นตัวอย่างได้ เช่น ประมวลจริยธรรม การปฎิบัติเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ในภาพยนตร์ ซึ่งสัตว์ที่ใช้ในภาพยนตร์ทุกตัว จะต้องผ่านกระบวนการ และมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการทารุณกรรม หรือทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน เกิดความกลัว ความเครียด และทำให้คนเห็นว่า การทารุณกรรมสัตว์เป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งในต่างประเทศควบคุมถึงขนาดนี้ แต่ประเทศไทย ปัจจุบันระเบียบตัวนี้ยังไม่ออกมาชัดเจน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีแผน เช่น ใครจะเอาสัตว์มาใช้ในการแสดง ควรจะจ้าง และมีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณา เหมือนการทดลองในปัจจุบัน ใครจะทำสัตว์ทดลองเช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการวิจัยต้องแจ้งคณะกรรมการจรรยาบรรณของมหาวิทยาลัย ในการพิจารณาตรวจสอบขั้นตอนการใช้สัตว์นั้นๆ

สำหรับกรณีแมวในละครแม่หยัว หากมองตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีโอกาสเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ค่อนข้างสูง อันดับแรก มีการใช้ยาสลบ ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ และคนที่ใช้ยาสลบกับสัตว์ต้องเป็นสัตวแพทย์หรือไม่ และที่อ้างว่าผู้เชี่ยวชาญคือใคร ทำภายใต้การประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์หรือไม่ เป็นต้น ส่วนที่สอง มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ เช่น เป็นเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มในฉากนี้ 

เมื่อถามถึง การกำหนดบทลงโทษใน พ.ร.บ.นี้ เพียงพอที่จะสกัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ ดร.สาธิต มองว่า โทษทางกฎหมายค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่อยู่ที่การบังคับใช้ ที่ผ่านมามีการตัดสินมาแล้ว 40-50 คดี ส่วนใหญ่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ศาลตัดสินรอลงอาญา แล้วปรับ ส่วนที่ติดคุกจริงๆ ไม่มาก 1-2 ปี 

เรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์จนถึงวันนี้ ยังมีน้อยมาก ในช่วง 10 ปี ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเท่าที่ควร เช่น การปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็นตามมาตรา 23 หรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไม่ดี ก็แทบจะไม่มีการดำเนินคดี หรือใช้กฎหมาย 

“จริงๆ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายอย่างเดียว มันอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย แล้วปัจจุบันของไทย พอมีกระแสทีหนึ่ง ก็เรียกร้องทีหนึ่ง กระแสมันมาด้วยผลประโยชน์แฝง ด้วยอะไรบางอย่าง ตรงนี้ต้องให้ชัดด้วย การจะให้คนยอมรับและปฏิบัติตามกฏหมาย ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ก่อน ว่ากฎหมายใช้เพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม” 

“อีกทั้งจิตสำนึกทางสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ การจะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด กฎหมายในการคุ้มครองสัตว์ที่ดีที่สุดคือการต้องรักษาสวัสดิภาพคนด้วย เพื่อไม่ให้คนมาทำร้ายสัตว์  ทางสมาคมพยายามรณรงค์ รักสัตว์ต้องรับผิดชอบ” ดร.สาธิต กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการนำสัตว์มาเข้าฉากละคร หรือภาพยนตร์ จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องใช้สัตว์จริง แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ดร.สาธิต ระบุว่า เรื่องนี้สมาคมห่วงใยเป็นอันดับแรก เวลาแก้ไขปัญหา เราใช้แนวทางสันติวิธีก่อน และยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก เวลามีประเด็นดราม่าต่างๆ เราจะไม่เข้าไปอยู่ในกระแส บางทีความรู้สึกมากจนเกินไป ก็อาจมีผลร้ายต่อสัตว์ได้เช่นกัน เช่น บางทีหากหัวรุนแรงเกินไป ต่อต้านจนเกินไป ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม ผลร้ายก็จะตกกับสัตว์ จะทำให้คนเข้าใจกฎหมายและปฏิบัติกฎหมายให้เกิดความยุติธรรม ในสังคมทั้งกับสัตว์และความปลอดภัยของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ให้ได้เป็นเรื่องสำคัญและหัวใจหลักที่ทางสมาคมดำเนินการมาโดยตลอด อาจจะไม่โด่งดังหรือมีสีสันก็น่าจะเป็นทางออกทางเลือกหนึ่งของสังคม

สำหรับภารกิจของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินมา 30 ปี ดร.สาธิต บอกว่า ล่าสุดได้จัดสัมมนาหัวข้อเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันป้องกัน การทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 12 ปีนี้มี 51 องค์กรเครือข่ายเข้าร่วม โดยกฎหมายฉบับนี้ทางสมาคมฯ ได้ผลักดันและติดตามอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ จะอายุครบ 10 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มี 30 กว่ามาตรา หลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็น เรื่องการป้องกันการทารุณกรรม และเรื่องที่สองการจัดสวัสดิภาพสัตว์

ในประเทศไทย มีเพียงกฎหมายอาญามาตรา 381 และ 382 ที่สามารถเอาผิดเรื่องการทารุณกรรม เมื่อก่อนจำคุก 1 เดือนปรับ 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ปัจจุบันมาตรา 381 มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท แต่เป็นความผิดลหุโทษ และปี 2557 มีพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีโทษจำคุกในเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท 

จากสถิติข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ ปัจจุบันก็อาจจะลดลง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือกระแสตื่นรู้ทางสังคมถ้าใครกระทำต่อสัตว์ หรือทารุณสัตว์สังคมทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกก็จะวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนสนใจการปฏิบัติต่อสัตว์ ควรระมัดระวังมากยิ่งขึ้น นี่คือข้อดีของกฎหมายฉบับนี้

ในมุมมองของ ษมาวีร์ พุ่มม่วง ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ เล่าประสบการณ์ว่า จากที่ทำงานมามากว่า 20 ปี ได้ทำงานกับสัตว์มาตลอด มีตั้งแต่สุนัข แมว งู ช้าง อุรังอุตัง นกทุกประเภท และหากย้อนกลับไปดูงานบันเทิง ทั้งหนัง ละครก็จะมีสัตว์อยู่ทุกเรื่อง

“มันเริ่มต้นมาจากบทภาพยนตร์ และในชีวิตคนเรา คนกับสัตว์ก็อยู่ร่วมกันมาตลอด มันก็จะต้องมีสัตว์อยู่ในชีวิตของเราตลอด ดังนั้นเรื่องราวของหนัง ละคร ก็เป็นเรื่องราวของมนุษย์ ก็มักจะมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อยู่ด้วยกันตลอด” 

ษมาวี เปิดเผยว่า ล่าสุดได้พูดคุยระหว่าง กสทช.กับตัวแทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมถึงสัตวแพทย์ เราก็นั่งคุยกันซึี่งมีประเด็นการขาดการร่วมมือกัน ตั้งแต่ภาคการศึกษา การให้ความรู้ในวิชาชีพ ที่ควรจะเกี่ยวโยงกัน อีกทั้ง ได้มีการเทียบกันระหว่างกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ กับกองถ่ายภาพยนตร์ในบ้านเรา จุดที่ต่างกันมากในบริบทไทยก็คือ เราไม่ได้มีงบเยอะเท่าฮอลลีวูด ดังนั้น ถ้าจะเทียบมาตรฐานการทำงาน หรือคุณภาพต่างๆ ก็เทียบได้ยาก จึงเน้นการพูดคุยในบริบทประเทศไทยมากกว่า ถึงมาตรฐานของฮอลลีวูด ว่าเค้าทำอย่างไรบ้าง เพื่อมาปรับใช้ เราควรจะคุยกันในบริบทของบ้านเราว่า เรามีอะไร อย่างไร ตรงไหนที่ควรจะปรับเพิ่ม-ลด และอนาคตจะยกระดับให้มาตรฐานการทำงานตรงนี้ ดีขึ้นได้อย่างไร และคุยกันในเรื่องของการต่อยอดว่า ถ้าจะต้องทำตรงนี้ หน่วยงานไหนจะต้องมาดูแล ก็ได้คำตอบว่า บ้านเราก็มีหน่วยงาน คือกรมปศุสัตว์ ดูแลตรงนี้อยู่ แต่ไม่ได้เอามาประสานงานกับงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็เลยเหมือนต่างคนต่างทำ

ความร่วมมือกันทุกวันนี้เป็นลักษณะคนข้างล่าง ภาคประชาชน ภาคการผลิต ร่วมมือกันเอง ไม่ใช่เราไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ แต่มันขาดการกำกับดูแล และบังคับใช้ รวมถึงการขาดการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราไม่รู้ว่า เป็นหน้าที่หน่วยงานไหน

สำหรับการใช้ หรือไม่ใช้สัตว์จริงในสื่อบันเทิง ษมาวีร์ มองว่า อยู่ที่งบประมาณ ถ้ามีงบเยอะ จะเอาอะไรก็ได้ แค่ไหน “จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นไปได้ กองถ่ายจะใช้ของจริงให้มากที่สุด เพราะถ้าเป็นคนทำงานในวงการด้วยกัน จะรู้ว่าซีจีเป็นสิ่งที่แพงมาก จะใช้น้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ก็จะใช้ของที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติให้มากที่สุด แล้วค่อยไปเพิ่มเติมเอา โดยคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งไม่ใช่ทุกบริษัทจะสามารถแบกค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้” 

เมื่อถามว่า มีโรงเรียนฝึกสัตว์สำหรับใช้ประกอบภาพยนตร์ หรือละครหรือไม่ ษมาวีร์ บอกว่า เรื่องการฝึกหัดสัตว์ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่า สัตว์ที่เอามาประกอบการแสดง มันต้องถูกฝึก ถ้าเป็นต่างประเทศ จะมีตำแหน่งหนึ่งที่ชื่อว่า Animal Wrangler เป็นคนที่ทำงานกับสัตว์หน้างาน คอยประสานงานกับผู้กำกับและโมเดลลิ่ง คนๆ นี้ จะต้องถูกเทรนมา มีใบประกอบวิชาชีพ ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ ทำอย่างไรไม่ให้ฝืนธรรมชาติ และมีความรู้ทางการแพทย์ด้วย คือต้องถูกเทรนมาครบวงจร ซึ่งบ้านเราไม่มีตำแหน่งนี้เราก็เลยได้ยินจากในข่าวว่า โมเดลลิ่งแมว ทำงานกับผู้กำกับ โดยมันขาดตรงกลาง ซึ่งเป็นวิชาชีพที่จำเป็น 

สำหรับการฝึกสัตว์บ้านเรา ถ้าเป็นสัตว์คุ้มครอง หรือช้าง หรือลิงอุรังอุตัง เราไม่ห่วงเพราะเป็นสัตว์ที่มีไกด์ไลน์ชัดเจนอยู่แล้ว มีองค์กรที่คุ้มครอง ถ้าเป็นสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกฝึกกันอย่างกว้างขวาง อาทิ สุนัขตำรวจ กองถ่ายหาได้ง่ายมาก แต่พอเป็นสัตว์บ้านอย่างแมว หนูเราแทบจะไม่มีที่ถูกฝึก 

ต่อข้อถามว่า กรณีละครแม่หยัว จำเป็นหรือไม่ต้องเอาแมวไปทำอย่างนั้น ษมาวีร์ มองว่า จริงๆ แล้วก็มีหลายทางเลือก ด้วยความที่กองถ่ายประเทศไทย ถูกจำกัดด้วยงบประมาณอันดับแรก สิ่งที่แพงที่สุดคือ เวลาเป็นเงินเป็นทอง ดังนั้นในขั้นตอนการทำงานใดๆ ก็ตาม เมื่อจะต้องมีกระบวนการทางความคิดที่มากขึ้น มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น งบต้องเพิ่มขึ้น ทีนี้มายเซ็ตของคนทำงานเข้าใจว่า เขาก็อาจจะทำอย่างไรก็ได้ ให้ภาพที่ต้องการในระยะเวลาที่สั้น ในงบที่น้อย ถ้าถามแทนใจผู้กำกับ คิดว่าเขาน่าจะอยากได้ความสมจริง 

ษมาวีร์ กล่าวอีกว่า ในวง กสทช. มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า ถ้าเป็นการถ่ายทำในระดับมาตรฐานสากล สิ่งเหล่านี้มีขั้นตอนอย่างไร เราจึงอ้างอิงถึงกองถ่ายต่างประเทศ ที่เขามีองค์กรที่ดูแลเรื่องสัตว์ อย่างสหรัฐอเมริกา มีองค์กรที่ชื่อว่า Animal Humane Association

ซึ่งเป็น NGO แต่มีบทบาทในการพูดคุยด้วย ตั้งแต่ขั้นของบทภาพยนตร์ พอผู้กำกับอยากจะทำช็อตนั้นช็อตนี้ เขาจะเข้ามาร่วมประเมินความเสี่ยงของสัตว์ ต้องมีคอนดิชั่นแบบไหน สัตว์จะเครียดไหม ถ้าวางยาสลบจะมีสัตวแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่าขั้นตอนการเตรียมงาน และไปถึงการถ่ายทำ ซึ่งของไทยไม่มี

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ ก็เริ่มมาจากการทารุณกรรมสัตว์ แล้วก็ถูกประท้วงโดยภาคประชาชน ทำให้เอ็นจีโอฟ้องร้องผู้ผลิต กดดันให้รัฐเข้ามาควบคุมดูแล และทางผู้ผลิตก็ต้องเสียหาย ทั้งชื่อเสียงเงินทอง ดีไม่ดีหนังเรื่องนั้นอาจโดนแบน ถูกสั่งหยุดถ่ายทำกลางคัน จึงทำให้เขาระมัดระวังการทำงาน โดยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก็เกิดการทำงานที่รัดกุมขึ้นมา

ษมาวีร์ ระบุด้วยว่า บทสรุปในการพูดคุยกับ กสทช. คือสิ่งที่เกิดขึ้น คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้ ในเบื้องต้นคือ การให้ความรู้ ทั้งภาคประชาชน และภาคการผลิต และจะต้องมีไกด์ไลน์ กำหนดรูปแบบในการผลิตเกี่ยวเนื่องไปถึงทุกสิ่งมีชีวิตตั้งแต่คนสัตว์ และเด็ก ถ้าเป็นสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมานั่งคุยกันว่า เราจะเขียนเป็นร่างขึ้นมาอย่างไรได้หรือไม่ แล้วใครจะเป็นแม่งาน หน่วยงานที่จะดูแลรับผิดชอบตรงนี้ ซึ่งทางกสทช. ก็อัพเดตว่า ได้เริ่มทำไปแล้ว และจะให้ข้อมูลในอนาคต อัพเดตว่าทำไปถึงไหนบ้างแล้ว ซึ่ง กทสช. ก็เริ่มพูดคุยเรื่องนี้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ก็ยังพูดถึงกิจกรรมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประเภทอื่นด้วย เช่น คาเฟ่แมว อีเวนต์ต่างๆ แม้กระทั่งในวัด ที่มีการไถ่ชีวิตโค กระบือ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเค้าก็ถูกนำมาใช้ หรือสัตว์ก็ทำงานเหมือนกัน ถ้าเป็นสัตว์ที่ไม่ได้น่ารักน่าเอ็นดูทางปศุสัตว์ และสัตวแพทย์ก็พูดว่า จริงๆ สิ่งที่กลัวที่สุดก็คือ ภาพจำที่เราเห็น สื่อถ่ายมาซ้ำๆ อย่างปูถูกมัดก้ามอยู่ในตะกร้า แล้วเอาไปปล่อย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่เราเห็นกันจนชินชา จนคิดว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทั้งที่จริงๆ เค้าก็ถูกทรมานอย่างหนึ่ง เราอาจจะต้องคิดให้มากขึ้น ละเอียดอ่อนกับมันให้มากขึ้น

“กรณีเจ้าหน้าที่ฟิล์มบอร์ด ซึ่งควบคุมดูแลกองถ่ายต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ฟิล์มบอร์ดจะมีอำนาจในการควบคุม โดยกองถ่ายจะต้องส่งบทมา ทำรายละเอียดทั้งหมด และวันถ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปดู เคยไปดู พบว่ากองถ่ายหนึ่งใช้งู แล้วเย็บปากงู เจ้าหน้าที่ฟิล์มบอร์ดก็ไปยับยั้งไว้ได้ ขณะที่กองถ่ายไทยไม่ได้มีขั้นตอนตรงนี้ในการผลิต จึงไม่มีใครเข้าไปห้ามปรามตรงนั้น ถึงบอกว่าเมืองไทยไม่ใช่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่ไม่มีการตรวจ ดูแล และกำกับบังคับใช้ที่หน้างาน โดยเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” ษมาวีร์ ชี้ให้เห็นช่องโหว่

ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อนุกรรมการด้านเนื้อหารายการฯ หยิบยกประเด็นในเวทีเสวนา “ดาราสัตว์ในสื่อ นำเสนออย่างไรไม่ละเมิดจริยธรรม” ที่มีการหารือถึงการนำสัตว์มาใช้ในงานสื่อ ไม่ว่าในรูปแบบละคร ซีรีส์ วาไรตี้เกมส์โชว์ โดยได้พูดกันอย่างกว้างขวางเพื่อให้เห็นภาพรวม ไม่ได้โฟกัสแค่กรณีละครแม่หยัวเท่านั้น และไม่ใช่เกิดกรณีนี้ แล้ว กสทช. เพิ่งตื่นตัว 

สำหรับอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการฯ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยบอร์ด กสทช. ในการพิจารณาเรื่องใด ทำได้ 2 ทาง ทางแรก คือการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ส่วนอีกทาง กรณีมีกระแสที่แสดงให้เห็นถึงการมีปัญหาของเนื้อหาในสื่อ แล้วกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เราก็สามารถจะหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ 

ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ที่เข้าข่ายลักษณะการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ มีประเด็นที่นำมาสู่การพิจารณา หลายกรณี เช่น เรื่องเล่าข่าว ที่พูดถึงการทำร้ายแมวเพื่อนบ้านจนตาย เป็นข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อสาธารณะหลายช่อง เป็นการร้องเรียนเข้ามา เราก็นำมาพิจารณาแต่อาจจะไม่เป็นข่าว จึงไม่ได้สื่อสารถึงสาธารณะว่ากรณีนี้ไม่ควรทำ หรือกรณีรายการวาไรตี้โชว์ทำอาหารเชือดเป็ดสด เจาะคอเป็ดมาทำอาหาร ก็เป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏในรายการทีวี ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้ ที่มีลักษณะไม่เหมือนรายการข่าว ก็เข้าสู่การพิจารณา หากมีเรื่องแบบนี้ อาจจะต้องสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้

เมื่อถามว่า ในมุมการกำกับดูแลของ กสทช. หากมีใครละเมิด จะบริหารจัดการอย่างไรบ้าง ผศ.ดร.ชนัญสรา กล่าวว่า กสทช. ใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ซึ่ง กสทช. กำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น ก็คือสถานีโทรทัศน์ อย่างกรณีนี้ (ละครแม่หยัว) ก็คือช่อง One แต่เราไม่ได้มีอำนาจในการไปกำกับ โปรดิวเซอร์ ดูโมเดลลิ่ง อันนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรากำกับได้แค่ดูแลตัวช่องเท่านั้น แต่พอมีเรื่องร้องเรียนที่หยิบยกประเด็นขึ้นมา ก็จะพิจารณาเรื่องเบื้องต้น และเชิญทางผู้รับใบอนุญาตมาชี้แจง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ 

กสทช. ทำมาพอสมควร บางทีทำแล้วก็อาจจะเป็นข่าว แต่กรณีนี้กลายเป็นดราม่าขึ้นมา เราเห็นประเด็นเนื้อหา เรื่องนี้ทีมอนุกรรมการด้านเนื้อหา ได้เห็นประเด็นดราม่ามาอย่างต่อเนื่อง และได้พูดคุยปรึกษากันว่า เราจะเดินอย่างไร จึงรีบนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาก่อน เราก็มอนิเตอร์ปัญหามาตลอด และพูดคุยกัน คิดว่าน่าจะเป็นเพราะประเด็นนี้ มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

อันที่สองเป็นการเรียนรู้ ถ้าเราสื่อสารกับสังคมทำสิ่งต่างๆ ให้มันสอดคล้องเป็นไปตามกฎหมาย และสื่อสารกับผู้รับใบอนุญาต ให้ตัดไฟตัดต้นลม ต่อไปนี้ อย่าทำแบบนี้ ก็จะทำให้เกิดการตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในทางออกที่ผู้ร่วมเวที ปวารณาร่วมกัน อยากทำให้แนวปฏิบัติ ที่เป็นการแนะนำว่า อะไรควรทำ ไม่ควรทำ รวมถึงเรื่องการหาทางออก อะไรที่พอทำได้บ้าง รวมถึงกสทช. อาจจะพิจารณา การสนับสนุนการทำแนวปฏิบัตินี้ด้วย เพื่อให้มีแง่มุมครบถ้วน รอบด้าน ก็เป็นหนึ่งทางออก ที่เกิดขึ้นในการเสวนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

สำหรับผลหลังการสัมมนา จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ และนำไปสู่การกำกับดูแล ให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง ผศ.ดร.ชนัญสรา กล่าวว่า กสทช. ทำหน่วยเดียว อาจจะไม่ได้ เพราะมี สโคปจำกัดมาก พอเป็นออนไลน์ เราคุมไม่ได้ ไม่ได้มีอำนาจตรงนั้นอย่างเต็มที่ ที่เป็นไปได้ตอนนี้ เรื่องแพลตฟอร์มดิจิทัล เรื่องวิดีโอแชริ่ง ยูทิวป์ ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจกสทช. แต่ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำกฎเกณฑ์ และข้อกำหนดที่ชัดเจน 

ในอนาคตก็อาจจะช่วยแก้ปัญหา เรื่องความลักลั่นในการดูเนื้อหาความเหมาะสมต่างๆ ระหว่างทีวี กับโอทีที อย่างกรณีนี้ ทีวีไม่มีช็อตแมวกระตุก ขณะที่โอทีที มีช็อตนั้น ดังนั้น อะไรที่ทำไม่ได้ทางทีวี ที่กสทช .คุมอยู่ แล้วไปโอทีที อันนี้ก็จะทำให้ตัวร่างประกาศ หรือขอบเขต กสทช. ที่กำลังขยายไปตรงนี้เพื่อแก้ปัญหาได้ อันนี้คือส่วนที่หนึ่ง

อย่างที่สอง คือ ทำอย่างไรไม่ให้เป็นไฟไหม้ฟาง เป็นโจทย์ใหญ่ ธรรมชาติของกระแสบ้านเรา เมื่อมีเรื่องใหม่ขึ้นมา ความสนใจของคนก็ไปตามกระแส สำคัญคือ การจับมือกันระหว่างผู้มีอำนาจรัฐ เช่น กสทช. และตัวสื่อเอง ภาคประชาชนที่แอคทีฟในเรื่องประเด็นต่างๆ           

สำหรับสื่อที่ไม่สนใจ กสทช. ผศ.ดร.ชนัญสรา มองว่า กฎหมายที่ออกมากำกับดูแลสื่อต่างๆ มาจากการที่เราต้องไปละเมิดเสรีภาพสื่อแต่มันมีเหตุผลในการไปละเมิดเสรีภาพสื่อ เราใช้ในวิจารณญาณในการจะบอกว่า เค้าผิด ถูกจะลงโทษอย่างไร เราต้องตระหนักถึงเรื่องเสรีภาพสื่อเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ใช้อำนาจเกินหน้าที่ ใช้วิจารณญาณไปละเมิดเสรีภาพสื่อ อันนี้พูดฝั่งเสรีภาพก่อน

ส่วนในฝั่งความรับผิดชอบก็เช่นกัน ต้องยอมรับว่า ต้องตระหนักว่า เสรีภาพสื่อถูกรับรอง แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสื่อมวลชน ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่มีสิ่งนี้ เราก็มีเหตุผลพอที่จะละเมิดได้ จะลงโทษได้ 

ถ้าถามว่ากรณีที่ลงโทษไปแล้ว ก็ยังทำต่อ ในการพิจารณาของ กสทช. จะมีระดับของการลงโทษ ตั้งแต่เบาไปหาหนัก เพราะฉะนั้นต้องยอมรับให้ได้ ถ้าเพิกเฉยต่อการลงโทษแล้ว ถ้าครั้งหน้าทำผิดกรณีเดียวกัน หรือพฤติการณ์เดียวกัน ก็จะลงโทษเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงโทษทางสังคมอาจจะหนักกว่า รุนแรงมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ กสทช. ทำคนเดียวไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ประชาชนไม่รู้สึกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เค้าก็ยังดำเนินต่อไปได้ ถ้าสังคมยังยอมรับ ยังชอบ ยังชื่นชม ก็จะทำให้เขารู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะสังคมรู้สึกว่ายอมรับได้ 

ฉะนั้น ก็คือพลังของสังคมสำคัญมาก ถ้าจะให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หน้าที่หนึ่งของผู้กำกับดูแล คือกสทช.  และภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา จะต้องให้ความรู้คนในสังคมด้วยว่า อะไรคือคุณค่าที่ควรจะยึดถือ หรืออะไรคือมาตรฐาน ไม่ใช่ทำจนเป็นปกติ ทั้งที่สิ่งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นบนสื่อสารธารณะ.