ควบคุมคอนเทนต์! แทนควบคุมสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็ก

รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 ทาง FM 100.5    อสมท. พูดคุยเรื่อง “จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต กับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย วุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชนและสถาบันครอบครัว ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อาจารย์ภัทราวดี ธีเลอร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ และสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 

เทคโนโลยีที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมกับภัยออนไลน์ เริ่มมีเสียงสะท้อนว่า จะป้องกันเด็กอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยมีข้อเสนอการจำกัดสิทธิ์เด็ก ซึ่งก็มีทั้งความเห็นด้วยและเห็นต่าง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่เด็กก็มีสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล 

ในมุมมองของอัยการ วุฒิชัย พุ่มสงวน ประเด็นการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กว่า เราไม่ควรไปจำกัดสิทธิ์ ด้วยการห้าม เพราะการห้ามที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของคน สุดท้ายคนก็ฝ่าฝืนอยู่ดี สำหรับเด็ก ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการไปจำกัดสิทธิของเขา โดยส่วนตัว ไม่เห็นด้วย แต่เราต้องเฝ้าดูเขาอย่างใกล้ชิด

แม้กฎหมายในประเทศเรา ไม่กำหนดอายุในการเข้าใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต หรือสื่อทั้งหลาย แต่แอปพลิเคชั่นต่างๆ จะมีกำหนด เรตของมัน กำหนดอายุการเข้าถึงไว้ ที่ต้องให้ตรงกับที่เจ้าของแอปฯออกแบบมา ทั้งนี้ ตนเคารพเรื่องเสรีภาพในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต การเข้าไปดูสื่อผู้ใหญ่ หากเป็นช่วงอายุที่สอดคล้องกับกฎหมาย และผู้ผลิตแอปพลิเคชันอนุญาต เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า กระบวนการในการสมัครของเด็กทุกวันนี้ ไม่ได้มีการคัดกรองอย่างแท้จริง มักไม่ตรงกับอายุที่แท้จริง นี่คือปัญหาประเด็นหนึ่ง

ปัญหานี้เป็นเรื่องระดับโลก ไม่เฉพาะระดับประเทศ แม้จะพูดในทางทฤษฎีได้ว่าตัวแอปพลิเคชันจะต้องลงทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก อาจจะต้องเป็นลักษณะการป้องกัน ด้วยการปลูกฝังเรื่องการรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ต (Internet Literacy) คือการสอนให้เด็กรู้จัก รู้ประโยชน์ รู้โทษ รู้เท่าทัน รู้จัก คือรู้ว่ามันคืออะไร ใช้อย่างไร – รู้ประโยชน์ เอาไปใช้ – รู้โทษ ถ้าใช้ไม่ดี หลุดรั่วข้อมูลตัวเองไป มีคนเอาไปสมัครเปิดบัญชีม้าออนไลน์ อันนี้ต้องรู้โทษ – รู้เท่าทัน ว่าแอปพลิเคชันนี้ เค้าใช้ทำอะไร ตนเชื่อว่าแม้กระทั่งยาพิษ ถ้าเราใช้ถูกสัดส่วน มันก็เป็นประโยชน์

ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 มาตรา 6 กำหนดหน้าที่สถานศึกษาไว้ว่า ต้องมีการอบรมสั่งสอนในเรื่องเพศศึกษาให้เด็ก ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเรามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เราไม่เคยสอนเขา สุดท้ายเขาไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันทะลุทะลวงรุนแรงไปมาก จนบางทีตกเป็นผู้เสียหาย หลายคดีตำรวจใช้คำนี้คือ “ตกเป็นทาสของอีกคนหนึ่ง” และคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด ว่าคนที่โดนหลอกลวง คือเด็กผู้หญิง แต่เดี๋ยวนี้จำนวนมากเป็นเด็กผู้ชาย แต่โดนหลอกลวงโดยโปรไฟล์ผู้หญิง ฉะนั้น ถ้าเราจึงต้องมี Internet Literacy คือการสอนให้เด็กรู้จัก รู้ประโยชน์ รู้โทษ รู้เท่าทัน จากข้อมูลหลายปีที่ผ่านมา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยสูงมากประมาณ 75% ของประชากรแต่ทักษะทางด้านดิจิทัลของเราต่ำมาก จะทำอย่างไรดีสำหรับเด็กและเยาวชน

อัยการวุฒิชัย มองว่าการศึกษาภายในระบบ เราต้องมีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างอินเทอร์เน็ต ควรเปิดเป็นวิชาเรียน เพราะใช้ทั้งเรื่องหาความรู้ ทั้งเรื่องหาเงินก็ได้ ทำการตลาดก็ได้ ที่ผ่านมา ตนได้ไปเทรนนิ่งเด็กๆ ในโรงเรียนอยากให้เขาตระหนักถึงพิษภัย จริงๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา เรื่องกฎหมายต้องไปใส่ในหลักสูตร เดี๋ยวนี้มีอาชีพที่เราไม่รู้จักมาก่อน เอาพวกนี้มาเรียนในหลักสูตร  ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ก็พยายามผลักดันเป็นโครงการพิเศษ ที่ไปร่วมมือ เช่น ยูนิเซฟ (องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) ก็ให้งบฯ สนับสนุนทุกปี จึงพยายามทั้งอบรมความรู้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประสานงาน ผู้ดูแลเด็ก และอบรมตัวเด็ก อย่างน้อยอาจจะไม่ได้ครอบคลุมมากมาย แต่ถ้าทุกหน่วยงานช่วยกันทำ ก็จะพอเห็นภาพขึ้น

อัยการวุฒิชัย ระบุด้วยว่า เราต้องแบ่งเด็กออกเป็นหลายๆ แบบ ถ้าเป็นเด็กระดับบน การถูกหลอกลวงในเชิงนี้ อาจจะน้อย อาจจะเป็นลักษณะเป็นคนก่อเรื่อง ไปหลอกลวงเขามากกว่า แต่ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ตรงนี้ ที่เราจะต้องเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม ที่ทำให้เขาเกิดองค์ความรู้ แม้รัฐบาลสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด แต่ถ้าเราไปดู จะเห็นว่าประเทศเรามีแต่ยูสเซอร์ แต่เราไม่มีครีเอเตอร์ ในแง่ที่ว่า ไปผลิตแค่แอปพลิเคชัน ฉะนั้น ยอดใช้การใช้งานเราสูง แต่เราได้รับประโยชน์จริงๆ หรือไม่เราเป็นแค่ผู้บริโภค แล้วกดแอปสั่งซื้อของรับของ แต่ไม่เคยเป็นลักษณะสร้างแพลตฟอร์ม เป็นช่วงที่เราต้องทำ Internet Literacy ทำให้คนได้รับรู้ รับทราบ เพราะเราเป็นคนใช้อย่างเดียวก็จริง แต่ต้องใช้อย่างเป็นประโยชน์รู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไรบ้าง

อัยการวุฒิชัย ยกตัวอย่าง ล่าสุดยูนิเซฟ  กับอัยการที่ออสเตรเลีย เพิ่งร่วมกันจัดโครงการที่ จ.พิษณุโลก อบรมอัยการภาค 4-5-6 อีสานตอนบน และภาคเหนือ เกี่ยวกับเรื่องประเด็นการป้องกันเด็กจากการถูกละเมิดทางออนไลน์ อันนี้คือเรื่องป้องกัน และเรื่องการแก้ไข กรณีมีเคสเกิดขึ้น อัยการหรือหน่วยงานต่างๆ จะประสานงานกันอย่างไร ในการช่วยเหลือเด็ก 

ขณะที่กฎหมายเขียนง่าย บอกว่าเมื่อเด็กมีปัญหา ก็ดำเนินคดีกับคนที่มากระทำผิด ตัวเด็กที่โดนล่อลวง ก็ปล่อยกลับบ้าน แต่ชีวิตจริงมันไม่ใช่ เด็กถ้ามีคลิปตัวเองหลุดไปในเว็บ ถูกคนเอาไปไถเงิน ฉะนั้น เราอาจจะแก้ไขเรื่องกฎหมายยาก แต่สิ่งที่เราเริ่มต้นทำได้ และก็ทำแล้ว ก็คือการสร้างเครือข่าย

“ผมเคยไปบรรยายในระดับโรงเรียน ช่วงอายุที่โดนหลอกลวงเยอะที่สุดคือช่วง ม.2 ม.3 ม. 4 ถ้าดูพัฒนาการของเด็กเป็นช่วงที่เขากำลังเจริญเติบโต อยากรู้อยากเห็น การยับยั้งชั่งใจน้อย มันไม่มีอะไรเป็นความจริงบนโลกอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งชื่อรูปภาพโปรไฟล์ต่างๆ เรื่องการล่อลวง ไม่น่าเชื่อว่าเด็กอินเตอร์มีโอกาสถูกหลอกลวงมากกว่าเด็กไทย เพราะในโลกออนไลน์ มีการแชทเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เด็กอินเตอร์ตกเป็นผู้เสียหายเยอะ เพราะมีพวกใคร่เด็ก คือไม่ต้องเจอตัว แต่ส่งรูปโป๊ไปให้เขา มีการกรูมมิ่ง เตรียมเด็กให้พร้อมในการกระทำความผิดทางเพศ” 

อัยการวุฒิชัย ยังระบุถึง การล่อลวงด้วยเกม มีการแจกของรางวัล อยู่อเมริกามาหลอกเด็กที่ไทย โดยส่งของขวัญเป็นของวิเศษในเกมมาให้ ฉะนั้นไม่ต้องเจอตัวคนจริงๆ แต่โลกออนไลน์ ส่งเสริมให้มีการล่อลวงเด็ก ฉะนั้นสิ่งสำคัญและจำเป็น นอกจากการไปสกรีนแอปพลิเคชันแล้ว ก็คือเรื่องการให้ความรู้กับเด็กๆ ในการเล่นเกม

สำหรับสาเหตุหนึ่งของปัญหา วุฒิชัย มองว่า บางทีตัวเด็กไม่ได้รับสารเคมีแห่งความสุขที่ครบถ้วนภายในบ้าน ซึ่งมี 3-4 ตัว คือความรู้สึกภาคภูมิใจ การได้รับสิ่งของต่างๆ อีกทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง คนไทยเรา นิยมกดทับ มันห้ามไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ตรงกันข้าม เรายิ่งต้องให้เขาเล่นแต่ให้อยู่ในสายตาเรา แม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ เราไม่เคยสอนเรื่องเพศ สุดท้ายเด็กก็ทะลุออกไป เราต้องยอมรับความจริง ไม่มีใครปิดหูปิดตาเด็กได้ เพียงแต่เราต้องเอาเด็กกลับเข้ามาอยู่ในสายตาเรา” 

ในตอนท้าย อัยการวุฒิชัย ระบุว่า “อยากฝากทุกท่านไว้ว่า ผมทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ทางด้านสังคม และพูดประโยคหนึ่งประจำว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหา มันจะยิ่งรุนแรงกว่านี้ ฉะนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าท้อใจ แต่อย่าท้อ เรามีภาระ เรามีอำนาจหน้าที่ ทำอะไรได้เต็มที่ ทำได้เลย เพราะถ้าไม่ทำ มันจะแย่กว่านี้” 

ด้านมุมมองของ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ระบุว่า เป้าหมายของการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ระบุคืออะไร ถ้าต้องการให้เด็กใช้เวลาในภารกิจหลักอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีสมาธิในการเรียน ไม่ตกเป็นโรคสมาธิสั้น วิตก กังวล เล่นเกมจนมากเกินไป จนไม่สามารถทำภารกิจหลัก เสียการเรียนได้ เราก็ควรจะจัดสรรเวลา มีกติกา การจัดสรรเวลาในการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิ แต่เป็นการจัดการ 

ในความเป็นจริง ทุกคนต่างถูกจำกัดสิทธิอยู่แล้ว ตามกฎกติกาในสังคม ในบ้านทุกคนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เพราะฉะนั้นมองว่า นี่คือการปกป้องคุ้มครองเด็ก จริงๆ สิทธิเสรีภาพของเราทุกคนที่เกิดมาก็มีเต็ม 100% แต่เราไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพเราได้ 100% อยู่แล้ว ทุกคนถูกจำกัดสิทธิโดยกฎหมายฉบับต่างๆ ทั้งสิ้น เราถูกริดรอนสิทธิโดยกฎหมายที่มีอยู่ทั้งสิ้น มากน้อยต่างกัน ฉะนั้น สิทธิเด็กมี 4 ข้อ 4 ด้าน พื้นฐานที่ต้องทำความเข้าใจคือ 

  1. สิทธิของการมีชีวิตอยู่รอด เกิดและเติบโต มีชีวิตรอด
  2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองให้เกิดความปลอดภัย
  3. สิทธิที่ต้องได้รับการพัฒนา ให้การศึกษา โตมาอย่างมีคุณภาพ
  4. สิทธิของการมีส่วนร่วม โดยมุ่งให้ประโยชน์สูงสุดที่ตกแก่เด็ก แต่ไม่ได้บอกว่า ให้เด็กเป็นผู้ชี้ว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กคืออะไร แต่ให้ทุกฝ่ายร่วมกันเพื่อมุ่งประโยชน์สูงสุดให้ตกแก่เด็ก

4 ข้อรวมกัน หมายความว่า ทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายต้องทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น พ่อแม่อาจจะต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครอง และมองว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอย่างไร ให้เด็ก-ผู้ใหญ่-รัฐ-เอกชน มองด้วย นี่คือสิ่งที่เราควรจะต้องทำให้มันเกิด

สำหรับการเรียนการสอน Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อในสถาบันการศึกษา ตั้งแต่เด็กเล็กๆ มีหรือไม่ ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า ได้เริ่มมีแล้ว อย่างภาคเอกชน เอไอเอส ที่ตนทำงานร่วมกัน เคยไปให้ความเห็น ให้ข้อมูล “อุ่นใจไซเบอร์” ได้นำหลักสูตรออนไลน์ไปใส่ มอบให้ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)  เร็วๆ นี้ ก็มีหลักสูตรที่ กสทช.พยายามให้ทุนโรงเรียนต่างๆ ทำหลักสูตร เรื่องการรู้เท่าทันสื่อไปฝังอยู่ในแต่ละโรงเรียน ก็เริ่มมีหลักสูตรวิชารู้เท่าทันสื่อ ซึ่งตอนที่ตนเดินสาย ก็มอบชุดการเรียนรู้ให้ทุกครั้ง เพื่อให้ครูนำไปสอนต่อ และไปสอดแทรก 

“จริงๆคำว่าสอดแทรก คือพูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้ แต่ถ้ามีวิชาบังคับ อย่าง สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ที่เรามีส่วนร่วมทำ เขาก็แขวนไว้ ให้ไปเรียนแบบเป็นวิชาเลือก เริ่มมีมาหลายปีแล้ว ก็เรียนรู้กันไป เด็กๆ ก็เรียนวิชาเหล่านี้ เช่น การพนันออนไลน์ รู้เท่าทันเจ้ามือ เด็กๆ ต้องรู้ว่า มันไม่ใช่ทางรวย ทางหารายได้ เป็นต้น จึงพยายามให้ข้อมูลเหล่านี้ตลอด”  

“แม้วิชานี้ ในหลักสูตรโรงเรียน ครู lพฐ.บอกว่ามี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นภาคบังคับ ยังไม่ได้เป็นวิชาสามัญพื้นฐาน แต่เป็นวิชาที่สอดแทรก”

สำหรับวิธีการป้องกันและแก้ปัญหากรณีเด็กถูกล่อลวงจากการใช้อินเทอร์เน็ต ดร.ธีรารัตน์ ชี้ว่า ต้องทำหลายทาง และเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่ภาครัฐ ภาคเอกชน แต่ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม โรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตัวเด็ก และเยาวชนด้วย และการแก้ปัญหา ต้องเรียกว่า การป้องกันแก้ปัญหา รวมถึงปกป้องคุ้มครอง และยังต้องมีการบำบัดเยียวยาด้วย ในกรณีที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เพราะเวลาที่เราพูดถึงปัจจัยเสี่ยง เราต้องพูดให้ครบทุกมิติ ก็คือป้องกัน ปราบปราม ปกป้อง คุ้มครอง บำบัด เยียวยา เพื่อที่จะครอบคลุมทุกด้าน

ดร.ธีรารัตน์ ย้ำว่า การป้องกันเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน การป้องกัน และการปกป้องคุ้มครองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบจากภัยทั้งหลายที่อยู่รอบตัว ส่วนที่เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสื่อของเด็ก ถือเป็นการปกป้องคุ้มครองอย่างหนึ่ง แม้หลายคนจะมองต่างว่าเด็กถูกริดรอนสิทธิหรือไม่

ด้าน อ.ภัทราวดี ธีเลอร์ มองว่า คำว่าจำกัดสิทธิ การปิดกั้น กับคำว่าส่งเสริม ค่อนข้างเป็นเส้นบางๆ เพราะตามสิทธิของเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะรับรู้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะจริงๆ แล้วเทคโนโลยีมันมีประโยชน์ ในยุคนี้เด็กจะต้องเข้าถึงเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีที่เด็กเข้าถึงจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นพลเมืองที่ดี ในแง่องค์ความรู้ การศึกษา แต่ด้วยบริบทของครอบครัวในสังคมไปปัจจุบัน หรือทั่วโลกก็ตาม เราเป็นครอบครัวที่เลี้ยงเด็กด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น

ถ้ามองว่า จะล็อกสิทธิ เราน่าจะมาป้องกัน ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรให้เด็กใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาดดีกว่า เพราะถ้าไปล็อกสิทธิแบบเมืองนอกที่ทำกัน เช่น ฝรั่งเศสก็มี จีนก็มี ล่าสุดที่มาเลเซียมีแผนจะทำ ถึงแม้จะทำได้ แต่จะกลายเป็นว่าเราไปกั้นการเปิดโลกของเด็ก ในแง่ความฉลาดทางดิจิทัล ตนมองในแง่การให้ความรู้เด็ก ไม่ควรปิดกั้น แต่ควรให้ความรู้ในการระมัดระวังมากกว่า

อ.ภัทราวดี ได้สะท้อนถึงประเด็นปัญหาเยาวชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า จากที่ตนสอน Media Literacy การรู้เท่าทันสื่อ ได้พูดคุยกับเด็กๆ เสมอว่า เรื่องรู้ทันสื่อ ไม่ควรเริ่มเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ควรปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถม หรือแม้แต่ครอบครัว เพราะครอบครัวใกล้ชิดเด็กที่สุด จึงควรปลูกมาตั้งแต่ครอบครัวเป็นหลัก

อ.ภัทราวดี มองว่า อีกปัญหาสำคัญก็คือ เด็กดูข่าวน้อยลง ทั้งที่เทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวมาก แต่การไถฟีดในโซเชียลมีเดีย ก็มักจะดูแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจ ซึ่งอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย ก็เลือกมาให้เขาดูแต่สิ่งที่สนใจ และไม่ดึงเขาไปสู่โลกอื่นๆ  เพราะฉะนั้นก็เห็นว่า เด็กยุคนี้อยู่ใกล้สื่อก็จริง แต่ถูกสื่อหลอกได้ง่ายมาก เพียงเพราะว่าข้อมูลใกล้ตัวมากๆ จนเค้าไม่ระวังตัว แต่ยุคเรา เราต้องค้นข้อมูลต้องหาความจริง เวลาที่มีอะไรขึ้นมา ก็ต้องหาช่องทางตรวจสอบข้อมูล แต่ยุคนี้ เด็กจะรู้สึกว่า อะไรก็ค้นหาง่ายๆ แล้วทุกอย่างที่เซิร์ช เด็กก็ไม่ได้ถูกสอนว่า ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่า เชื่อถือได้ไหม แล้วก็อ่านตามๆ กัน พูดตามๆ กัน 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น การใช้เวลาในสื่อออนไลน์มากเกินไป หรือเข้าไปดูเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่องความปลอดภัยส่วนตัวของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่ เรื่องความระมัดระวังข้อมูลส่วนตัวมีน้อยมาก จนนำไปสู่เรื่องของการล่อลวง และเรื่องของไซเบอร์บูลลี่อิงอีก และอื่นๆ อีกตามมา

สำหรับกรณีที่ถูกหลอก จากข้อมูลเด็กส่วนใหญ่ที่เคยพูดคุยแลกเปลี่ยน อ.ภัทราวดี ระบุว่า เด็กมักจะรู้ข้อมูลจากสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอต้องเผชิญเรื่องเอง หรือเอาเข้าจริงๆ พอถึงหน้างาน “ปุ่มเอ๊ะ” ของเด็กๆ จะยังไม่ทำงานท่วงที หรือประมาณว่า กรณีอะไรที่เคยเกิดขึ้น เขารู้เหมือนกับทุกคน รู้ว่ามีข่าวแบบนี้ มีเรื่องแบบนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากสิ่งหนึ่ง แต่พอไปอยู่ในสถานการณ์จริง สิ่งที่ทุกคนขาดคือ “ปุ่มเอ๊ะ” เพราะทุกอย่างมันดูเนียนไปหมด ข้อมูลก็ถูกต้อง ทุกอย่างมันดูโอเค ทำไมเค้ารู้เรื่องเราหมด แล้วเด็กๆ ก็จะหลงในประเด็นได้ง่าย  เช่น ไอดี บัตรประชาชน การถูกเอาภาพไปใช้ การแบล็คเมล์ มีที่เด็กเคยเล่าให้ฟัง เรื่องแอปฯ หาคู่ต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องการไปโหลดแอปฯ เพื่อเข้ามาในระบบออนไลน์ เข้ามาเป็นเพื่อน และขอข้อมูลส่วนตัว กว่าจะรู้ว่า ตกหลุมพราง 

ประเด็นการถูกหลอกลวงได้ง่ายๆ ที่พบ เพราะเด็กเราอยู่ในช่วงการตัดสินใจ และการรับรู้ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ วิจารณญาณในการคิด ในการชั่งใจไตร่ตรอง ยังไม่ค่อยดีมากนัก ยังไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมา เมื่อมีอะไรเข้ามา ก็จะตัดสินใจหรือพูดไปเลย โดยไม่ได้คิดอะไร

ถ้าเราจะแก้ต้องแก้ระดับครอบครัว สังคม ครอบครัวถือเป็นฐานแรก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม 1.ต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตที่ลูกดูอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่ อันนี้เป็นเบื้องต้น ที่พ่อแม่ควรจะต้องรู้ 2.ควรจะต้องให้คำแนะนำ ปลูกฝังว่ามันดี หรือไม่ดี เอาอะไรมาใช้ได้บ้าง 3.เรื่องของการควบคุม กำหนดเวลาการเล่น 4.ส่งเสริมกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่น่าสนใจ ที่เป็นเรื่องของเรียนรู้ชีวิต ทักษะ เรื่องเวลา และเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สำหรับระดับโรงเรียน ก็ต้องรู้จักหยิบข่าว หยิบประเด็นในสังคม มานั่งถกกับเด็กบ้าง เพราะวิชาที่รู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนไม่ค่อยมี นอกจากครูบางคนจะหยิบประเด็นที่เป็นข่าว แล้วมานั่งถกในห้องเรียนกับเด็กๆ ครูอาจารย์ก็จะได้เซอร์เวย์กับเด็ก

“นักศึกษาที่มาเรียนในสถาบันฯ ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ค่อยมีวิชา ที่จะหยิบข่าวมาคุย พอถามเรื่องข่าว เด็กก็จะไม่รู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างเวลาที่อาจารย์สอน ก็เลยจะบังคับให้เด็กต้องดูข่าว แล้วมานั่งคุยกัน แล้วก็มาถก คุยกันว่าควรจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ถ้าเรามาแก้ที่ปลายทาง คือเด็กเค้าโตแล้ว ควรจะเริ่มตั้งแต่ตอนเล็กๆ เพราะในความเป็นจริง การเข้าถึงเทคโนโลยี ถ้าตามคำแนะนำของแพทย์ได้ในคู่มือการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนมา เค้าบอกว่า ช่วงอายุของเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรเล่นเลย แต่เราสังเกตว่า พ่อแม่ผู้ปกครองผู้ปกครองจะให้เด็กเล่นมือถือตลอดเวลา มีทั้งต่ำกว่า 2 ขวบ” 

อ.ภัทราวดี เน้นย้ำว่า ถ้าอยากให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ ไม่ต้องจำกัดสิทธิโดยภาครัฐ ถ้าพ่อแม่ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าๆ กัน สังคมช่วยกัน รวมถึงภาครัฐมีนโยบายควบคุมบางอย่างช่วยกัน โดยที่ไม่ให้ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งทำงานเพียงฝ่ายเดียว อย่างพ่อแม่ทำงานคนเดียว ภาครัฐไม่มีนโยบายควบคุม ก็ทำไม่ได้ สังคมไม่ช่วยกัน มีกิจกรรมดีๆ ส่งเสริมเรื่องราวเหล่านี้ พ่อแม่ทำฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ มันคือการทำงานร่วมกัน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เกิดผล” 

“อย่าง TikTok ในประเทศจีน ก็มีการควบคุมคอนเทนต์ ที่เป็นการให้ความรู้ ไม่ค่อยเน้นบันเทิง อาจจะต้องมีการควบคุมคอนเทนต์ของเด็ก หรืออายุ และมีการยืนยันตัวตนของเด็กในการใช้แอปพลิเคชั่น โดยไม่สามารถเอามือถือของพ่อแม่ เอา Account พ่อแม่มาใช้ได้ถ้าทำได้ ก็จะควบคุมเรื่องเยาวชนได้มากขึ้น ภาครัฐอาจจะต้องทำการบ้านมากขึ้นว่า ในต่างประเทศเค้าทำอย่างไรกันบ้าง ถ้าจำกัดก็ในแง่ของคอนเทนต์ แต่ไม่อยากให้จำกัดในแง่ของการเข้าถึง เพราะยังมองว่าเทคโนโลยียังเป็นข้อดี แต่เราต้องบริหารจัดการมันให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมให้ได้ ถ้าปิดกั้นไปเลยเด็ก ก็ค้นหาอะไรไม่ได้เลย” 

เรื่องนี้่จึงเป็นภาระหน้าที่ของทุกคน เพราะไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ถ้าช่วยกัน ให้ความสำคัญกับเยาวชนมากขึ้น ปัญหานี้ก็จะน้อยลง ซึ่งก็ต้องใช้เวลา อาจจะไม่ได้แก้ได้ในทันที.