คำจำกัดความ “สื่อมวลชน” ของสว. เปิดทางกลุ่มนอกวิชาชีพเป็นตัวแทน
นักวิชาชีพ-วิชาการ ชี้คำจำกัดความ “สื่อมวลชน” ในความหมายของสว.เปิดกว้าง กกต.ตีเช็คเปล่า เปิดทางกลุ่มนอกวิชาชีพเป็นตัวแทนสื่อ เผยภาคีเครือข่ายองค์กรสื่อนัดหารือก่อนแสดงจุดยืน จับตา กกต.กล้าสอยรายที่คุณสมบัติไม่ตรง หนุนแก้รธน.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือก หวั่นสว.ตัวแทนไม่รู้ปัญหาในวงการสื่อ-ภารกิจในอุตสาหกรรมสื่อจริง ที่กำลังเผชิญ 3 วิกฤติ
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 13 ก.ค.2567 ทาง FM 100.5 ประเด็น “คำจำกัดความของสื่อมวลชน ในความหมายของ สว.” ดำเนินรายการโดย สืบพงษ์ อุณรัตน์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ปรึกษา ANNIE LAB มหาวิทยาลัยฮ่องกง และอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว บอกเล่าประสบการณ์ในการสมัคร สว.ในครั้งนี้ว่า เนื่องจากเป็นภารกิจในงาน เพื่อเข้าไปติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินกระบวนการได้มาซึ่ง สว. จึงจำเป็นต้องสมัครเข้าไป โดยตั้งแต่เริ่มกระบวนการเลือกแต่ละระดับ ธรรมสถิตย์พบว่า ผู้สมัครมีทั้งคนสื่อที่เขาคุ้นหน้า และคนที่ไม่เคยเห็นในแวดวงสื่อ
“ผมสมัครในพื้นที่ กทม. เขตบางกะปิ ในเขตหรือระดับอำเภอ สายสื่อที่มาลงสมัครในพื้นที่เดียวกัน เช่น คุณมงคล บางประภา อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และพบอดีตผู้เคยทำวิชาชีพสื่อ ทีวี ทำรายการทีวีในอดีต 6-7 คน และมีคนถูกตัดสิทธิ 1 คนซึ่งขาด คุณสมบัติ ลืมออกจากสมาชิกพรรคการเมือง ในการแนะนำตัวกันเองในส่วนที่ไม่คุ้นก็มี แต่สื่อก็มีหลากหลาย อาจมีรุ่นใหม่ ขณะที่บางท่าน เราก็ตั้งคำถามในใจตัวเองกับคนสื่อที่เราคุ้นเคย”
ข้อสังเกตในการรับสมัคร ขั้นการตรวจสอบคุณสมบัตินั้น ธรรมสถิตย์ เล่าว่า ในเขตที่ตนสมัคร เป็นลักษณะที่เจ้าหน้าที่เขต ทำหน้าที่เสมือน กกต.เขต ตรวจสอบข้อมูลในใบสมัคร แต่ไม่ได้ซักถามนอกเหนือจากข้อมูลที่กรอก เพียงให้ยืนยัน ใบรับรองจากองค์กร ที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ต้องมีผู้รับรองเอกสาร เมื่อเอกสารครบถ้วน ก็ไม่ได้ถูกซักถามเพิ่มเติม
ในฐานะกรรมการสภาการสื่อฯ ธรรมสถิตย์ อธิบายถึงนิยาม“สื่อมวลชน” เมื่อเข้าไปอยู่สถานการณ์นี้เอง และเรื่องคุณสมบัติกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากในกระบวนการคัดเลือก อาทิ กรณีมีผู้ผ่านเข้ามาในกลุ่มสื่อ คนที่เคยทำหน้าที่ประกาศเสียงตามสาย นักวิชาการบางคน อาชีพหลักสอนหนังสือ และช่วงเวลาหนึ่งเคยจัดรายการ
“ก็เป็นคำถามในกลุ่มผู้สมัครเองเช่นกัน เช่น อ.นันทนา นันทวโรภาส เคยเป็นนักวิเคราะห์ข่าวสารทางการเมือง จริงๆ น่าจะเลือกลงกลุ่มด้านการศึกษาก็ได้ แต่ในที่สุดมาเลือกลงสมัครกลุ่มสื่อ เพราะเปิดกว้างตามระเบียบ กกต. น่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งกลุ่มวิชาการ อาจจะมีผู้สมัครเยอะกว่า และการที่เคยปรากฎตัวหน้าจอ คนอาจจะจำได้”
แก้กติกาเปิดกว้าง-เปิดช่องหลายกลุ่ม
ธรรมสถิตย์ ชี้ว่า การระบุคุณสมบัติ ตามหมวด 1 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก ได้แบ่งกลุ่มตามมาตรา 11 วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม โดยแบ่งเป็น 20 กลุ่ม กกต.เปิดกว้างไว้ ทำให้คนที่เคยทำเสียงตามสายเกี่ยวเนื่องได้ นี่คือความหมายสื่อมวลชนของ กกต.ที่กำหนดไว้ ฉะนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร สมัครได้หลายกลุ่มด้วย กรณีนิยามสื่อมวลชน จึงถือว่ากติกาเปิดช่อง
“ระเบียบ กกต.ที่ระบุเรื่องอาชีพ ปรับแก้ จากระบุอาชีพ เช่น เดิมกลุ่มสื่อสารมวลชน เพิ่มเติมว่า ผู้สร้างสรรวรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน โดยปรับแก้ทุกกลุ่มเป็นปลายเปิดหมด เป็นเจตนาให้เกิดความหลากหลาย ขยายนิยามออกไป กลายเป็นต้นทางของเรื่อง ทำให้สมัครกลุ่มอื่นได้ กกต.ปรับตามข้อเรียกร้อง จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อีก จึงนำมาสู่นิยามของสื่อมวลชนเช่นนี้”
ยกนิยามวิชาชีพ“สื่อมวลชน”ชัดเจน
ขณะที่ ธรรมนูญของสภาการสื่อมวลชน 2563 ข้อ 6 กำหนดนิยาม “สื่อมวลชน” หมายถึง “สื่อหรือช่องทางที่ผลิต เผยแพร่ นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน อย่างสม่ำเสมอเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ต้องมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย และสามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”
อย่างไรก็ตามองค์กรสื่ออื่นๆ ก็กำหนดนิยามเช่นกัน ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องนิยามสื่อฯ จะนำไปสู่อะไร เรื่องนี้กรรมการสภาการสื่อฯ ก็ได้พูดคุยกันในบรรยากาศก่อนการรับรองสว.ในการประชุมถึงนิยามสื่อมวลชนที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ คุณสมบัติคนที่ถูกเลือกเข้าไป ซึ่งตนก็ได้บอกเล่าให้ที่ประชุมรับทราบ
ภาคีองค์กรสื่อนัดหารือก่อนแสดงจุดยืน
“องค์กรวิชาชีพสื่อเองก็ตั้งข้อสงสัยว่าจะทำอะไรได้ ซึ่งกำลังจะมีการพูดคุยกันในภาคีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับเรื่องนี้ คาดว่าองค์กรสื่อต่างๆ ที่จะระดมความเห็น น่าจะมีข้อเสนอ หลากหลายมุมมอง เสียงจากองค์กรวิชาชีพ เป็นหนึ่งในพลังในการเผยแพร่สู่สาธารณะ” ธรรมสถิตย์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านมาถึงขั้นที่รับรอง 200 สว.ไปแล้ว แม้จะมีการคาดการณ์ว่า รับรองก่อน สอยทีหลัง ธรรมสถิตย์ มองว่า เราก็ต้องมองไปข้างหน้า เช่น สว.สายสื่อมวลชน ที่เข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภา ที่สำคัญต้องมีความเกี่ยวเนื่องในการเสนอกฎหมาย ที่สภาการสื่อฯ องค์กรสื่อ ที่ติดตามกฎหมายเกี่ยวกับสื่อฯ กระบวนการเหล่านั้นต้องผ่านไปถึงวุฒิสภา คนที่เป็น สว.สายสื่อฯ จะมีบทบาทในการทำหน้าที่ในการติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน จะมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสื่อเองก็ต้องสนับสนุนการทำหน้าที่ สว.ที่เป็นตัวแทนด้วย
นิยาม “มั่ว” ยกสาระสำคัญวิชาชีพสื่อ
ทางด้าน มานิจ สุขสมจิตร มองผลการเลือกตั้ง 200 สว.ว่า มีจำนวนมาก ที่พอจะเป็นความหวังได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบให้ สว.เป็นผู้มีอาชีพหลากหลาย เพราะต้องการความหลากหลายทางอาชีพเหล่านี้ และประสบการณ์ต่างๆ กันมาช่วยกันทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ กลั่นกรองบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช.ฯ แต่อยู่ที่ว่า 1. จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณตนไว้ได้หรือไม่ 2.ไม่ใช้เอกสิทธิ และความคุ้มกันอย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
สำหรับข้อวิจารณ์ สว.สายสื่อ ที่กกต.ผ่านคุณสมบัติไม่ตรงกับวิชาชีพสื่อมวลชน 100% มานิจ ระบุว่า ขอใช้คำแบบชาวบ้านพูดกันว่า “มั่ว” เพราะคำว่าอาชีพ หมายถึงการทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิต ทำมาหากินเป็นประจำ เพื่อเอารายได้มาเลี้ยงชีพ เป็นเรื่องชัดเจน ถ้าถามว่า สื่อคืออะไร ทั้งในตำรา กระทั่งก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อ 27 ปีที่แล้ว เราก็พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ของใหม่
เมื่อปรับมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นิยามของสื่อมวลชนก็คือ สื่อหรือช่องทางที่ผลิต เผยแพร่ นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน “อย่างสม่ำเสมอ” เป็นปกติธุระ นี่เป็นคีย์เวิร์ดแรก และไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมาย ให้ประชาชน “ทราบได้เป็นการทั่วไป” นี่เป็นคีย์เวิร์ดที่สอง ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่การมานั่งซุบซิบคุยกันสองคน เป็นต้น
คีย์เวิร์ดตัวที่ 3 ทั้งนี้ “ต้องมีผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย” คือจะต้องมีคณะบรรณาธิการ มีบรรณาธิการ หัวหน้าสถานี ต่างๆ และคีย์เวิร์ดตัวที่ 4 และ“สามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” อันนี้สำคัญ สื่อต้องมีจริยธรรม ไม่เช่นนั้น บ้านเมืองก็จะสับสนวุ่นวายแน่
ชี้กกต.ตีเช็คเปล่า-จับตากล้าสอย
มานิจ มองด้วยว่า การที่กำหนดว่าอะไรๆ ก็เป็นสื่อหมด ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะฉะนั้นเขาถึงใช้คำว่า “มั่ว” ซึ่งตนก็เห็นด้วย
เมื่อถามว่า ถ้ามั่ว จะด้วยกลยุทธ์ใดๆ ก็ตาม แล้วจะสะท้อนความต้องการของคนที่อยู่ในอาชีพสื่อมวลชนได้หรือไม่ อย่างไร มานิจ กล่าวว่า “เจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้คนที่มีความคิด ประสบการณ์หลากหลาย จากผู้มีอาชีพนั้นๆ อาจจะมีมุมมอง เรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ตรงกันอย่างนี้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงให้ไปออก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่ให้ยืดหยุ่นได้ ต้องชัดเจน เมื่อยืดหยุ่นได้ มันกลายเป็นตีเช็คเปล่า ใครไปลงรายละเอียดอะไรก็ได้ จึงคิดว่าขัดเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ”
“เพราะฉะนั้นความคิดเห็นที่ได้มาจากคนใดคนหนึ่ง ที่อ้างอาชีพใดอาชีพหนึ่ง อาจไม่ตรงกับความจริง เช่น อ้างความเห็นสื่อ แต่ตัวเองไม่ได้ทำอาชีพสื่อ เข้าไปอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน จะรู้ได้อย่างไรว่า ถ้าเป็นสื่อจริงๆ เขาจะมีความเห็นอย่างไร ฉะนั้น จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด”
“เหมือนคนเป็นแพทย์ หมายถึงคนที่ได้รับปริญญาทางการแพทย์ มีความรู้ความสามารถในการรักษาคนอย่างสมัยใหม่ ไม่ใช่ประเภท หมอผี รดน้ำมนต์ หรือวิศวกร ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านวิศวกรรม ไม่ใช่ที่เรียกกันว่า ช่างเถอะ หรือพยาบาล ก็ต้องเรียนมาไม่ใช่หมอตำแย ก็เรียกว่าพยาบาล ฯ ฉะนั้นเรื่องนี้ จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่มั่วๆ อย่างที่ว่า”
เมื่อถามว่า องค์กรต่างๆ จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อ กกต.รับรองไปแล้ว มานิจ มองว่า ก็คงทำอะไรไม่ได้ อยู่ที่จะมาตรวจสอบอีกครั้งว่า เขามีอาชีพตามที่ยื่นสมัครหรือไม่ ซึ่งอาชีพนั้นๆ จะต้องทำมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ถ้าไม่ตรงก็ดำเนินการ ใช้เอกสารเท็จ กรอกข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ก็ว่ากันไปตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
“ที่บอกว่าจะสอย ก็อยากจะเห็นเช่นกันว่า จะสอยเรื่องอะไรบ้าง คงต้องว่ากล่าวกันต่อไปอีก คงไม่จบเท่านั้น และที่บอกว่าจะสอยๆ ยังไม่เห็นจับไม้ขึ้นมาเลย” มานิจ ระบุ
หนุนแก้รธน. ให้ ปชช. มีส่วนเลือกด้วย
มานิจ เห็นว่าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้แต่ละคนที่ไปยื่นสมัครให้เลือกอาชีพหนึ่ง เมื่อเลือกมาแล้ว เช่นได้ 10-20 คน ก็ให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เลือก ถึงจะอ้างได้ว่า คนเหล่านี้เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติไว้ว่า ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือก ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย “ผมคงรับลำบาก เอาสามัญสำนึกตัดสินก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกเลย แล้วมาอ้างว่าเป็นผู้แทนเราได้อย่างไร อันนี้ต้องไปแก้ไข”
เมื่อถามว่า ภารกิจ สว.สายสื่อ ที่เข้าไปในวุฒิสภา อยากให้ผลักดันเรื่องใดบ้าง มานิจ กล่าวว่า ก็ต้องไปดูเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง ถ้าหากสื่อมวลชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นแล้ว ประชาชนก็จะไม่ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งประชาชนก็อาจตัดสินใจผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยืนยันว่า การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ นั่นคือต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพไว้ให้ดี
ชี้ภารกิจตัวแทนวิชาชีพ-อุตสาหกรรมสื่อ
ในมุมนักวิชาการด้านสื่อ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล มองว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการเลือก สว.สายสื่อ โดยเฉพาะคุณสมบัติ และที่มาว่า คนที่เข้ามาเป็น สว.แม้ไม่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับสื่อ แต่การมีอาชีพของคนที่เข้าไปอยู่ในสล็อต สว. ก็ย่อมเป็นที่หวังพึ่งในการทำหน้าที่ ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งการถูกดิสรัปฯ จนอุตสาหกรรมสื่อจะไปไม่ไหวแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล คอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้นทุกวัน
สำหรับประเด็นคุณสมบัติผู้สมัคร สว.สายสื่อ จะเห็นได้ว่าสายสื่อมีผู้สมัครน้อย เพราะมีข้อบังคับ กกต.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ มีจำนวนสมัคร 800 คนหากเทียบกับสายอื่นที่มีหลักเป็นพันๆ คน ซึ่งข้อจำกัดที่มีนี้ แต่คำถามคือ สว.สายสื่อ จะเป็น(อาชีพ)อะไรได้ทุกอย่าง ตามที่ กกต.นิยามหรือไม่
ในนิยามจึงต้องตั้งต้นไปถึงปัญหาก่อนว่า ทำไมต้องเอาวิชาชีพสื่อมาเป็นนัยสำคัญในการดำรงตำแหน่ง สว.ด้วย เพราะฉะนั้นสื่อในที่นี้ จึงหมายถึงอุตสาหกรรมสื่อ การบอร์ดแคสติ้ง ภาพและเสียง ลิงค์ไปถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่สื่อจะเป็นกลไกในการส่งออกทางวัฒนธรรมของประเทศ สร้างจรรยาบรรณ จริยธรรม วิธีคิดให้คนในประเทศ
“นิยามของ กกต.ค่อนข้างกว้าง เมื่อพูดถึงสื่อมวลชน การเป็นสื่อต้องมีคนส่งสาร มีพาหะในการส่งสาร อย่างพิธีกรทุกคนก็ส่งสารผ่านบอร์ดแคสติ้ง มีซิกแนลในการส่งสาร ที่เรียกว่าแมสมีเดีย หมายถึงสื่อสารมวลชน ไม่ใช่เป็นมวลชนกลุ่มเล็กๆ เวลาเราพูดถึงสื่อมวลชน คือมวลชนระดับประเทศ ฉะนั้นการนิยามสื่อในสายนิเทศศาสตร์เราจะมองในรูปแบบนี้มากกว่า”
ปัญหากระบวนการ-นิยามเปิดกว้าง
ในส่วนของนิยาม ของ กกต. รศ.พิจิตรา ตั้งข้อสังเกตว่า มีทั้งเรื่องศิลปะวัฒนธรรม สายวรรณกรรม เรื่องความบันเทิงต่างๆ อยู่ในนิยามกลุ่มอาชีพสื่อด้วย จึงค่อนข้างกว้าง ทำให้กระบวนการคัดเลือกคน ตั้งแต่สมัครคัดกรองระดับอำเภอ ซึ่งต้นทางใช้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ หรือระดับเขตดำเนินการ เสมือนเป็นตัวแทน กกต. แต่เป็นแค่การรับรองเท่านั้น ว่าเคยผ่านอาชีพนี้มาก่อน ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อาจไม่รู้ การตีความว่าสื่อมวลชนหมายความว่าอย่างไร ก็ปล่อยผ่านมาในระดับประเทศ ดังนั้นเราก็ต้องติง เรื่องกระบวนการ
“ฉะนั้นคนที่เข้ามาได้ ระดับท็อป 1-5 เราอาจต้องไปคุยกับเขาว่า มองอุตสาหกรรมสื่ออย่างไรอุตสาหกรรมสื่อจะไปไม่รอด ในฐานะ สว. มีแนวทางในการช่วยเหลืออย่างไร ดิจิทัลดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น เขามองอย่างไร เขาตอบได้ไหม นั่นคือสิ่งที่เราต้องตระหนัก”
หวั่นตัวแทนไม่รู้ปัญหาวงการสื่อจริง
เมื่อถามถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เปิดกว้าง และถูกมองว่าใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ฉะนั้นคำจำกัดความเดิม อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วยหรือไม่ รศ.พิจิตรา ระบุว่า ต้นตอของการเลือก สว.ที่อยากให้เป็นตัวแทนวิชาชีพ คล้ายๆ กับหลายประเทศที่สมาคม สมาพันธ์ เค้าจะช่วยกันเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เห็นซีนาริโอ และเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรม ฉะนั้นที่มาที่ไปของการให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเองจึงมาแบบนี้
“แม้ปัจจุบันจะมองว่าใครๆ ก็ผลิตสื่อได้ แต่ความทรงคุณวุฒิที่เข้ามาคือ อย่างแรกคือ ต้องเป็นอุตสาหกรรมสื่อมวลชน คือ ต้องทำอุตสาหกรรมสื่อ ที่ผ่านการบอร์ดแคส ผ่านตัวกลางที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ก็ตาม ที่เป็นแพลตฟอร์ม อย่างน้อยมีช่องยูทิวป์ของตัวเอง ต้องเข้าใจความเป็นสื่อมวลชนก่อน ต้องมีคุณวุฒิพอที่อุตสาหกรรมต้องเคารพคุณได้ เพราะเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมฯ”
“ต้นตอของ สว.ที่กำหนดว่าต้องเป็นตัวแทนอาชีพอะไร ตัวแทนอาชีพนี้คือเสียงของคนสื่อทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่เราได้มา คนในวงการสื่อรู้จักไหม เคยทำงานด้วยไหม เคยอยู่ในโต๊ะประชุมร่วมกันในการตัดสินใจเชิงนโยบายไหม ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า เพราะที่มาที่ไปของการให้เลือกกันเอง และเลือกไขว้ของวิชาชีพมาแบบนี้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของสายอาชีพนั้นๆ ก็จะเป็นคำถามต่อไป”
“ถึงแม้จะเป็นยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ แต่นี่เป็นการทำงานระดับนโยบาย คุณไปถึงตรงนั้นได้ไหม หรือการอ่านกฎหมายสื่อ บางทีตัวเองยังต้องอ่าน 10 รอบ ซึ่งคุณต้องเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย ไปร่าง ไปกลั่นกรอง พ.ร.บ.ต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ”
เมื่อถามว่า สว.สายสื่อ 10 คนที่เข้าไปทำหน้าที่ มองว่าจะไปผลักดัน เรื่องสิทธิเสรีภาพได้หรือไม่ รศ.พิจิตรา กล่าวว่า ต้องถามสว.ว่า ได้ลำดับความสำคัญนโยบายในมุมสื่อว่ามีอะไรบ้างมีจุดยืนอย่างไรบ้าง
เสนอในชั้น กมธ.ดึงคนสื่อจริงเข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม อีกมุมที่รศ.พิจิตรา มีข้อเสนอว่า เมื่อเทียบกับ สว.กลุ่มอื่นแล้วกลุ่มสื่อไม่ได้ตัวใหญ่ของอุตสาหกรรมมานั่งตรงนี้อาจจะด้วยกฎระเบียบส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้คือ ในคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ก็ต้องเอาคนที่ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมสื่อมานั่งด้วย ไม่อย่างนั้นจะไปไม่ถูกจุด ไม่รู้ Pain Point ของอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งตอนนี้วิกฤติมากๆ
ภารกิจนี้เป็นบทพิสูจน์การทำงานคนสื่อในกลไกนิติบัญญัติหรือไม่ รศ.พิจิตรา ระบุว่า แน่นอน ในฐานะตัวแทนอาชีพ อุตสาหกรรมสื่อ เมื่อเขาโหวตเรื่องใดผ่านร่างกฎหมายใดออกมา นั่นหมายถึงกำลังเอาศักดิ์ศรีคนสื่อทั้งอุตสาหกรรม ไปเป็นเดิมพัน
ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อที่สอนหนังสือมากว่า 10 ปี อุตสาหกรรมสื่อ ขึ้นลงเร็ว ถูกดิสรัปเร็วมาก มีสิ่งที่ห่วงใย 2-3 เรื่อง คือ 1. ทีวีดิจิทัลใกล้จะครบอายุใบอนุญาต 2.รายได้ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่มีแพลตฟอร์มเข้ามา ส่งผลต่อเม็ดเงินโฆษณาแตกตัวไปเยอะ ทีวีได้น้อย เพราะโอนไปอยู่แพลตฟอร์มอื่น ซึ่งแต่ละเจ้าไม่เหมือนเดิม เรื่องรายได้จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ที่ต้องช่วยกันสนับสนุนสื่อ และ 3.งานข่าว ต้องการการสนับสนุน เพราะสื่อไม่ใช่สินค้าเอกชน เป็นสินค้าบริการสาธารณะเป็นบริการที่กระทบวิธีคิดของคน ความรู้เยาวชนในอนาคตรายการข่าว รายการความรู้ที่ต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะถ้าอุตสาหกรรมสื่อดี ผู้รับข่าวสารดี ประเทศก็จะพัฒนาไปได้
ฉายภาพ 3 วิกฤติสื่อที่ต้องช่วยกันแก้
รศ.พิจิตรา เน้นย้ำถึงวิกฤติในอุตสาหกรรมสื่อที่เป็นปัญหาสำคัญ ทุกประเทศให้ความสำคัญกับสื่อมวลชน เพราะเชื่อว่าสื่อช่วยประกอบสร้าง ช่วยไกด์วิธีคิดของคนในสังคม สื่อดีสังคมก็จะดีด้วย ซึ่งหลายๆ ประเทศสื่อไม่ได้เสรี เป็นสื่อสาธารณะ เพราะมีการคัดกรองเนื้อหาที่จะไปสู่ประชาชน
ปัจจุบันมีโกลบอลแพลตฟอร์ม ที่ใครๆ ก็ผลิตสื่อได้ เกมมันเปลี่ยนไป ฉะนั้นจึงต้องการผู้ทรงคุณวุฒิที่่ตระหนักรู้ในการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มาพิจารณาว่า
1.อุตสาหกรรมสื่อที่มีคุณภาพจะอยู่รอดไหม คนในอุตสาหกรรมสื่อตกงานมาก จะวางยุทธศาสตร์ให้อุตสาหกรรมสื่อไปต่อได้อย่างไร 2. ฝั่งคนดู ซึ่งมีข้อมูลขยะเต็มไปหมด อย่างสหรัฐอเมริกา ฯ ได้มีการกำกับเนื้อหาแพลตฟอร์มเยอะมาก เพราะบางแพลตฟอร์มมีหนังโป๊เข้าไปได้ เขา(สว.)จะมองออกไหมว่า จะกระทบต่อเด็กเยาวชนในการรับข้อมูลข่าวสาร เมื่อมาเป็นตัวแทนประชาชนจะไปต่อรองโกลบอลแพลตฟอร์ม หรือปกป้องผู้รับสารได้ไหม ถือว่าสำคัญมาก
อีกอย่าง คือ สว. มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องเป็นคนที่มีองค์ความรู้ มีความรู้ ความสามารถ ถ้าแต่คิดว่า เป็นแค่คนในพื้นที่ มีอาชีพอะไรก็ได้ ใครก็ได้ ถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน แต่ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นต้องไปลง สส. เราต้องการสว.ไปกำกับ สส.อีกที เพราะสว.ในประเทศมีอำนาจเยอะ ต้องโหวตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ จึงต้องมีจุดยืน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และซื้อไม่ได้
หวังกกต.พิจารณา-สอยรายคน
เมื่อมาถึงจุดนี้ ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง หลังจาก กกต.รับรองไปแล้ว รศ.พิจิตรา เห็นว่า อาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป และองค์กรวิชาชีพอาจจะต้องทำเรื่องร้องเรียนไป ทุกคนที่ลงสว.เวลากรอกใบสมัคร ต้องลงลายมือชื่อรับรองสิ่งที่ตัวเองระบุ คุณสมบัติตัวเองแต่ถ้าไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็มีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง 5 ปี
“คนที่ได้มา เขา Represent เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมสื่อได้ไหม ในฝั่งอุตสาหกรรม หรือองค์กรสื่อ ต้องไปนั่งคุยกันว่า คนนี้เข้าเกณฑ์หรือไม่ ทางที่จะแก้ได้ ก็ต้องรวมกลุ่มกัน ทำเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.หรืออาจจะต้องสอยทีละคน ถ้าไม่โดนสอยเรื่องคุณสมบัติ ที่รับรองตามกระดาษ มากกว่าประสิทธภาพ คุณวุฒิ ถ้าประเทศเราจะเอาแบบนี้ ก็ต้องตรวจสอบกันหนัก”
“คุณสมบัติ สว. คือ ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่อย่างนั้นคงไม่กำหนดคนอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือเอาใครก็ได้เข้ามานั่ง สว.ก็ได้ แต่เราต้องการคนมีประสบการณ์ มาช่วยเหลือประเทศได้ ถ้าเราได้คนไม่มีประสบการณ์ ไม่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม กับปัญหาปัจจุบันที่ประเทศเรากำลังเผชิญ” รศ.พิจิตรา ทิ้งท้าย.