นักวิชาการ-สื่อเห็นพ้อง AI ยุคนี้ยังไว้ใจไม่ได้

นักวิชาการ-สื่อประสานเสียงบนเวทีเสวนา ชี้ AI ยุคนี้ยังไว้ใจไม่ได้ ข้อบกพร่องเยอะ สื่อควรลงทุนให้กอง บก.เรียนรู้ ยันนักข่าวยุคนี้ยังไม่ตกงาน ย้ำภาพข่าว-ข้อมูลภาคสนามสำคัญมากจำเป็นต้องมี มนุษย์ยังจำเป็นในการกำกับจริยธรรมสื่อ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเสวนา “สื่อมวลชนกับจุดเปลี่ยนด้านจริยธรรมในยุค AI” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ น.ส.อศินา พรวศิน ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร The Story Thailand นายโชค วิศวโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด (Kapook.com) และ ดร.เอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนายวิชัย วรธานีวงค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงฉากทัศน์ของ AI ในยุคปัจจุบันว่า ขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่ 1 ระหว่าง ค.ศ. 2020-2029 เป็นยุคการพัฒนา AI แต่ในช่วงที่ 2 หรือทศวรรษหน้า ระหว่าง ค.ศ. 2030-2059 คือ การทำงานร่วมกับ AI ซึ่งอาจมีเพื่อนร่วมงานเราเป็น AI ได้ หลายคนอาจตกงาน แต่อาจมีอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น เช่น นักออกแบบเวลาว่าง นักออกแบบท่าเต้นในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งน่าตกใจไปกว่านั้นคือช่วงที่ 3 อีก 2 ทศวรรษข้างหน้าไปอีก คือปี ค.ศ. 2050-2560 คือการอยู่ร่วมกับ AI ช่วงนี้ความสามารถของ AI จะมากกว่ามนุษย์เป็นพันเท่า โดยเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ตามการระบุของ World Economy Forum โดยนอกเหนือจากเรื่องสภาพอากาศที่สร้างผลกระทบแล้ว AI อาจสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ลึกซึ้ง ทั้ง 4 มิติ ร่างกาย ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์

ส่วนข้อจำกัด AI ในงานสื่อ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ตอนนี้ไม่เหมาะกับ Real-Time Data ยังไม่เหมาะในการรายงานข่าว ไม่เหมาะกับปัญหาในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข โดยผลงานของ AI แบบรู้สร้างที่วิเคราะห์คำนวณตัวเลขที่ถูกต้องยังไม่มีความแม่นยำมากนัก ไม่เหมาะเลยที่จะมาใช้แทน Breaking News ที่มีความซับซ้อน ต้องใช้ปฏิบัติการด้านงานข่าวที่เข้มข้น และต้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยการอ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง และ AI ยังมีความบกพร่องในการตรวจสอบ การผลิตอัลกอริทึ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการทำงานของมันเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของข้อมูลทั้งระบบ ทั้งนี้ความเห็นนี้ไม่ได้หมายความว่า ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง จะไม่มีบทบาทในงานสื่อสารมวลชน แต่ว่าเราไม่สามารถพึ่งพิงการทำงานของ AI เพียงอย่างเดียวได้

“เคยมีคนพยายามทำโปรแกรม AI มาเช็คข่าวเหมือนกันแต่ผิดกว่า 50% อันนี้หมายถึง ณ ตอนนี้ ขออ้างอิง ศ.ชาร์ลี เบคเกตต์ หัวหน้าโครงการวิจัย Polis/LSE Journalism AI ที่ระบุว่า ควรใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยความระมัดระวัง และไม่สนับสนุนให้สื่อมวลชนใช้เครื่องมือใหม่เหล่านี้โดยไม่มีการกำกับควบคุมโดยมนุษย์” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ขณะที่ AI แทรกแซงการทำงานของสื่อ และอาจเกิดปัญหาด้านจริยธรรม ถ้า AI มีบทบาทมากกว่านี้ ต้องป้องปรามก่อนหรือไม่ หรือว่าหาวิธีการอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงในอนาคต น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เดือนที่แล้ว (มิ.ย. 2567) เพิ่งมีงานวิจัยการใช้ AI ของยุโรปตะวันออก เช่น เช็ค ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย มีข้อค้นพบน่าสนใจว่า ช่วยสื่อขนาดเล็กลดต้นทุน เข้าถึง Data ได้ แต่ข้อที่คนกังวลคือความถูกต้องของมัน ไม่สามารถทำงานโดยไม่ใช้มนุษย์ที่ใกล้ชิดได้ กระนั้นก็ตามความเสี่ยงของ AI ที่ใช้ในงานข่าวยังน้อยอยู่ เราอาจใช้เป็น Gimmick มากกว่า เช่นในไทย เรายังไม่ได้นำเข้าไปประมวลผล Data ประเด็นสำคัญคือสื่อมวลชนควรลงทุนเรื่องบรรณาธิการ ส่งนักข่าวภาคสนามไปเก็บข้อมูลข้อเท็จจริง ถ้าเราไม่มีนักข่าวภาคสนาม จะไม่มีข้อมูลให้ AI ประมวล และองค์กรธุรกิจสื่อสนับสนุนนักข่าวภาคสนามมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องมีนักข่าวเก่งในทุกมิติ ทั้งทำข่าว เก่ง IT องค์กรสื่อได้สนับสนุนเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ต้องกลับมายังองค์กรสื่อว่า ถ้าอยากให้ปรับตัว ต้องส่งเสริมทีมงานให้อัปสกิลเหล่านี้ด้วย

ถ้า AI ทำงาน “คราฟต์” แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อ นี่คือหายนะหรือไม่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ณ จุดนี้น่าจะเผยแพร่เองไม่ได้ถ้าไม่ผ่านกองบรรณาธิการ สื่อก่อนจะเผยแพร่ต้องผ่านกองบรรณาธิการก่อน เชื่อว่า บก.จะไม่ตกงานในตอนนี้ หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ยังเชื่อว่าสื่อมวลชน รวมถึง บก.ยังไม่ตกงาน ต้องมีคนตัดสินใจสุดท้ายก่อนเนื้อหาออกไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่มี บก.แล้วให้ AI คราฟต์เอง จะกลายเป็นสื่อ AI โดยสมบูรณ์ เราไม่รู้ว่ายุคนั้นจะถึงเร็ว ๆ นี้หรือไม่ คาดการณ์ไม่ได้ ประเด็นคือคนเรียบเรียงอาจลำบากขึ้นหน่อย เพราะน่าจะยังไม่ตกงานในยุคนี้ นักข่าวยังจำเป็น ไม่ใช่เหตุควรลดต้นทุนตรงนี้ แต่บางสำนักข่าวถ้าลดต้นทุนตรงนี้ จะเสียหายกับผู้บริโภคในการค้นหา สืบค้น กรองข่าวออกสู่ประชาชน

“อนาคตข้อมูลข่าวที่จะไปด้วย AI จะเยอะมาก สื่อมวลชนจะกลับมาเป็นหลัก ที่ให้คนกลับมาเช็คว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ บทบาทของสื่อคืออาจไม่ต้องขยายผล สิ่งที่จริงหรือไม่จริง แต่ต้อง Fact Check กับประชาชนมากกว่า ตอนนี้สื่อคงไม่ต้องกังวล AI มาแย่งงาน แต่สื่อใช้ AI ช่วยงานให้เร็วขึ้นได้” น.ส.สุภิญญา กล่าว

ขณะที่แนวปฏิบัติการใช้งาน AI ของสื่อ ควรต้องทำอย่างไร น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า จำเป็นมาก ทุกวงการ เราต้องมีโค้ดหลาย Code (โค้ด) ไม่ใช่แค่โค้ดของ AI เท่านั้น ผู้บริโภคเองต้องท่องว่า อย่าเพิ่งเชื่อ แชร์ หรือโอน ส่วนองค์กรสื่อต้องมีแนวปฏิบัติมาใช้ อาจมีการร่างกันอยู่ เช่น ถ้าใช้แล้วแจ้งผู้รับสารอย่างไร หรือสิ่งไหนไม่ควรใช้ เช่น Breaking News เพื่อช่วยให้กอง บก.ทำงานง่ายขึ้น หรือเรื่องลิขสิทธิ์ทำอย่างไรให้ไม่ละเมิด เราต้องอัปเดตโค้ดเหล่านี้ ส่วนในระดับ News Room นอกจากโค้ดกลางที่ใช้กับสื่อทั่วไป แต่ละสำนักข่าวควรอัปเดตคู่มือของตัวเองว่า ต้องทำอย่างไร และต้องให้เวลาในการอัปสกิลของบุคลากรของเรา ในการเรียนรู้ AI เพื่อให้ใช้เป็น และฉลาด เพื่อประสิทธิภาพงานขององค์กร ส่วนระดับองค์กรเทคโนโลยีระดับโลก เริ่มมีการรวมตัวกันเพื่อประกาศแนวปฏิบัติการใช้งาน AI เช่น ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเริ่มมีการแปะป้ายระบุว่า สิ่งนี้สร้างโดย AI เป็นต้น

ส่วน น.ส.อศินา สรุปเกี่ยวกับ AI ในการทำงานสื่อว่า เป็นผู้ช่วยที่มีความสามารถ และมีความฉลาด แต่เราจะต้องใช้เขาให้เป็น เอา AI รุ่นปัจจุบันก่อนที่ดังตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2022 เหมือนการมาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหมือนการมาของ Internet ยุค .com สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย เป็นต้น การมาของเทคโนโลยีใหญ่ ๆ เช่นนี้เหมือนเราเจอคลื่นยักษ์สึนามิ เราจะผงะนิดหนึ่ง แล้วค่อยตั้งสติว่าจะจัดการอย่างไรกับคลื่นนี้ หลังจากนั้นเราจะรู้ว่าการมาของสิ่งนี้จะมีประโยชน์กับเรา แต่ก็มีโทษกับเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือเราจะฉวยมาทำประโยชน์ให้กับเราอย่างไร นำมา Apply ใช้กับวงการสื่อได้อย่างไร

น.ส.อศินา พรวศิน

เมื่อถามว่า AI เป็นตัวแปรสุ่มเสี่ยงด้านจริยธรรมหรือไม่ น.ส.อศินา กล่าวว่า พูดถึง AI กับสื่อขอแบ่งเป็น 2 มิติ 1.การทำงานของสื่อ มีคนเคยบอกอยู่แล้วว่า ไม่ต้องเป็นสื่อมวลชน ทุก Industry ถ้าคนใช้ AI กับคนไม่ใช้ AI คนที่ใช้ AI น่าจะชนะคนที่ไม่ใช้ นี่ประยุกต์ใช้ได้กับวงการสื่อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขั้นเริ่มต้น แล้วค่อย ๆ ไต่เรียนรู้ไป ตรงนี้มีความสามารถในการเอา AI มาใช้ในงานข่าวได้ดีกว่านักข่าวที่ไม่ใช้ แต่ต้องเป็นนักข่าวที่มีความสามารถด้านงานข่าวด้วย แบบนี้ยิ่งทับกันเข้าไปใหญ่ แต่ถามว่าเอา AI มาใช้ในแง่ไหนบ้าง คือใช้ในแง่ของเพิ่มประสิทธิภาพงานตัวเอง ให้เหนือคู่แข่ง ประเด็น Exclusive กว่า หรือใช้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

2.ธุรกิจสื่อ องค์กรสื่อควรจะมียุทธศาสตร์การลงทุนด้าน AI เหมือนธุรกิจอื่น ใช้กับทุกแผนกไม่ใช่แค่กองบรรณาธิการ ควรให้กองบรรณาธิการใช้แล้วเทรนด์คนในองค์กร เพราะสึนามิลูกนี้ใหญ่กว่าลูกที่แล้ว ถ้าไม่มีการลงทุน หรือมียุทธศาสตร์ด้าน AI อีกหน่อยอาจจะมีคนออกไปจากอุตสาหกรรมสื่อ และมีคนใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม แต่อยู่ที่ว่า คนใหม่เข้ามาต้องมี Domain Expert ทางด้าน Journalism และมีความสามารถด้าน AI มาผสมผสานกันด้วย ถ้าคนใหม่เข้ามาแต่ไม่มี Domain Expert ด้าน Journalism อาจสู้คนเก่าไม่ได้

ขณะที่มิติการทำงาน Content ถ้าเอา AI มาเป็นผู้ช่วยไว้ใจได้แค่ไหน แล้วตรวจสอบอย่างไร น.ส.อศินา กล่าวว่า ไว้ใจไม่ได้เลย จริง ๆ แล้วเชื่อว่ามีนักข่าวหลายคนเอา AI มาช่วยแล้ว เพราะมีตัวฟรีให้ลองใช้ เราลองเล่น ลองคุย เราจะรู้จักเล่นมากขึ้น เล่นตอนแรกเราไม่รู้ว่าจะคุยหรือใช้งานอย่างไร ขอตอบว่าเคยเอามาใช้ในงานข่าว ใช้ในแง่ของการศึกษาประวัติแหล่งข่าวก่อนสัมภาษณ์ หรือตั้งคำถามแบบนี้โอเคหรือไม่ แต่เราเอามาใช้แค่งานดราฟต์แรก หลังจากนั้นเราต้องเช็คก่อนว่าข้อมูลที่ AI หามาถูกต้องหรือไม่ ส่วนช่วงสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ใช้ AI แต่นักข่าวเคยถามว่า ให้ AI ถอดเทปได้หรือไม่ สรุปว่าทำได้ แต่มีราคาต้องซื้อแอปพลิเคชั่นมา และไม่ตอบโจทย์นักข่าว เพราะ AI ไม่มีการจับประเด็น นักข่าวต้องทำงานอยู่ดี ส่วนเรื่องให้ AI ช่วยเขียน ก็ยังไม่ใช่ อาจได้แค่ช่วยร่างโครงสร้าง หรือปรับพาดหัวข่าว ที่สำคัญนักข่าวต้องมีความรู้ด้าน AI เพราะถ้าไม่รู้ AI จะมีจริยธรรมในการอยู่กับ AI ได้อย่างไร

ขณะที่นายโชค อธิบายถึงการมาของ AI ในยุคปัจจุบันว่า ความกลัวเป็นสิ่งปกติสำหรับสิ่งที่เราไม่รู้จัก แล้วเกิดขึ้นใหม่ คิดว่าเราทำลายความกลัวตรงนี้ได้ง่าย ด้วยการทำความเข้าใจ เหมือนเราเห็นห้องที่มืด ถ้าเปิดไฟแล้วเห็นห้องโล่งเราก็จะไม่กลัว การทำความเข้าใจ AI อย่างที่มันเป็น สำคัญมาก แปลว่า เราอาจไม่ได้ตั้งธงว่า AI ต้องเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้สร้าง ดังนั้นการมองตามความเป็นจริง จึงสำคัญมาก และมองในแง่หนึ่งที่สำคัญคือ ไม่ตั้งกังวลมากนักว่า AI ทำอะไรได้ แต่ให้โฟกัสว่าเราเอา AI มาทำอะไรได้ ถ้าเราโฟกัสการเคลื่อนไหวของ AI ที่มีทุนใหญ่มากมาทำเรื่อง AI เยอะมาก เราไม่สามารถตามทุกพัฒนาการได้ แต่เราต้องมีจุดยืนของเราเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ คุณค่าความเชี่ยวชาญ ชำนาญที่เรามีอยู่ อะไรที่หยิบ AI มาทำต่อได้ ถ้าเรารู้ว่า AI ตัวไหนใช้ได้ เราจะเห็นประโยชน์ มุมมองของเราที่มีต่อ AI จะชัดขึ้น

นายโชค วิศวโยธิน

เมื่อถามว่า การ “ดราฟต์” เป็นผลงานของ AI ยุคปัจจุบัน แต่อนาคตจะทำงานเป็นงาน “คราฟต์” ขึ้นมาได้ วันนั้นจะเกิดอะไรขึ้น นายโชค กล่าวว่า ในอนาคตถ้าเราให้มันคัดประโยคเด็ด ทำกราฟฟิก พร้อมคำบรรยายได้หมดเลย ทั้งหมดคือรอให้ บก.เข้ามาอนุมัติ นี่คือกระบวนการที่เราทำ สมมติมีงานสัมมนา ให้ทุกคนไปเขียน แต่ละคนจะมีสไตล์ของตัวเอง แต่ถ้ามีงานเขียนของเรามากพอ สามารถเทรนด์ด้วยสไตล์ของเราไว้ได้ สามารถทำได้ วันนี้เราอยู่บนเส้นนี้ เพียงแต่เส้นมันจาง ๆ และหนาหน่อย จึงกลับไปเรื่องจริยธรรม ปกติเวลาพูดจริยธรรมกับ AI จะพูด 2 เรื่องคือ ที่มา คือ Data และ Information ทั้งหมดมาอย่างถูกต้องหรือไม่ และที่ไป นำไปใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าคนมีจริยธรรมมันพูดง่าย เข้าใจง่าย แต่ถ้าคนที่ไม่มี ก็พูดยาก

ในวงการสื่อต่างประเทศ มีการเริ่มต้นกำกับดูแล หรือแนวทางปฏิบัติสื่อที่เอา AI มาใช้เป็นผู้ช่วยอย่างไร นายโชค กล่าวว่า ที่ไปแลกเปลี่ยนมา สื่อที่เป็นระดับสากล บอกว่า หลักการของเขาง่ายมาก คือไม่ใช้ ก็เป็นนโยบายที่ชัดเจน ทุกคนรู้เรื่อง จริง ๆ มีอีกส่วนที่เยอะมากคือการ Generative Image หรือภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ จริง ๆ มันมีมานานแล้ว แต่ยุคนี้ถูกทำโดย AI คุณภาพของมันแทบแยกไม่ออกแล้วว่า นี่รูปจริงหรือไม่จริง สิ่งที่ได้จาก Generative Image จะไม่เหมือนของจริง 100% เพราะเป็นภาพเทียม แต่เส้นแบ่งตรงนี้ที่สื่อไม่ใช้คือ มีเรื่องสั่นคลอนหลายเรื่อง แต่สิ่งสำคัญมากคือ ภาพข่าวหน้างาน ไม่มีทางถูกแทนที่ได้เลย ภาพจริง หรือข้อมูลจริงจากภาคสนามเท่านั้นที่เป็น Sort of Truth จริง ๆ แต่กระบวนการหลังจากนั้นจะทำอะไรก็ได้ฃ

ขณะที่ น.ส.อศินา กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เนื้อหา ช่วย AI ประกอบร่าง ส่วนภาพ ต้องดูว่าเป็นข่าวสายไหน ถ้าอาชญากรรม หรือข่าวเกิดซึ่งหน้า หรือภาพที่เราไม่สามารถใช้แทนได้ กับถ้าเป็นสกู๊ปที่เราทำขึ้นมา แล้วเราหาภาพไม่ได้ เราก็ Gen Image ขึ้นมา แต่ไม่ว่าเนื้อหาหรือภาพ ต่อไปนี้ไม่ว่าสื่อจะใช้ AI ในการผลิตงานข่าวจะต้องแจ้งว่างานชิ้นนี้มี AI ร่วมด้วย ต้องประกาศให้ประชาชนรู้ เป็นจริยธรรมข้อหนึ่งของสื่อ และให้ บก.รวมถึงนักข่าวต้องระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย หากนำภาพ หรือเนื้อหาไม่ถูกลิขสิทธิ์มา ก็ผิดจริยธรรมสื่อเช่นกัน

ด้าน ดร.เอกพล มองการมาถึงของ AI ว่า สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดยังมาไม่ถึง ทุกวันนี้เราตื่นเต้นกันกับ AI ในประเภท ANI ยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการผลิตผลงานของมันเหมือนสร้างสรรค์มาได้ แต่ไม่ใช่การสร้างสรรค์จริง เป็นการประมวลผลที่มีอยู่ ดังนั้นมองว่าเป็นเครื่องมือ ณ ปัจจุบันให้เราใช้ประโยชน์ได้ คือมาช่วยอาชีพ แต่อาจไม่มาแทนที่ โดยมาแทนที่ได้ตอนนี้คือแทนที่พนักงานบางอย่าง ที่ทำอะไรซ้ำ ๆ ดังนั้นการใช้ AI คือนำมาเป็นผู้ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ดร.เอกพล เธียรถาวร

เมื่อถามว่า ให้น้ำหนัก AI เปลี่ยนแปลงสื่อ และส่งผลจริยธรรมในมิติไหนบ้าง ดร.เอกพล กล่าวว่า ฉายภาพย้อนกลับไปตอนเริ่มแรกในการเอา AI มาใช้ในงานข่าว พอดีเคยทำวิจัยเกี่ยวกับ Data Journalism ตอนทบทวนวรรณกรรม ต้นตอเริ่มประมาณปี ค.ศ.2000 คือราว 20 ปีก่อน แต่ตอนแรกกระจุกตัวเล็ก ๆ เพราะงานที่ใช้คือการประมวลผลเชิงปริมาณ แต่มาโชว์เด่น ๆ ให้เห็นชัด ๆ คือทำสิ่งมนุษย์ทำไม่ได้ ช่วยนักข่าวทำประเด็นที่ไม่เคยทำได้ คือราว ค.ศ. 2010 ยกตัวอย่าง การนำบันทึกประจำวันนับหมื่น ๆ ชุดของทหารที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถาน นำมาจัดการข้อมูล หลังจากนั้น ค.ศ.2016 คือข่าว Panama Papers เป็นต้น แต่การมาของ ANI ใน ค.ศ.2022 มันไม่กระจุกตัวแค่ในวงแคบ ๆ แต่ AI เข้ามาอยู่ในห้องข่าวทั่วโลก มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในการทำงานข่าว แต่มีข้อพึงระวังเช่น อคติ ความโปร่งใส และบิดเบือนข้อมูล

ในเมื่อ AI ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เรื่องราวความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะคุณธรรมจริยธรรม AI จะถูกพัฒนาเรื่องนี้ได้หรือไม่ ดร.เอกพล กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมจริง ๆ แล้ว AI ตอนนี้แน่นอนว่ายังไม่สามารถคิดเชื่อมโยงได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นถ้าจะเอา AI มาใช้ในเรื่องจริยธรรม อาจได้เพียงแค่เครื่องมือ อย่างเอามาช่วยจัดการเรื่องจริยธรรมสื่อ คือเอามาตรวจสอบเบื้องต้นได้ แต่การตัดสินใจ หรือบอกว่าถูกหรือผิด ยังต้องใช้มนุษย์อยู่ ยังไม่สามารถแทนที่ได้

แล้วจะสร้างนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ในยุค AI เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านจริยธรรม หรือป้องกันถูกโดนฟ้อง ดร.เอกพล กล่าวว่า คนที่ฝึกทำความเข้าใจกับ AI เริ่มต้นเลยคือ ให้เอามาใช้ก่อน แต่การนำมาใช้สร้างความคุ้นเคย เราต้องตระหนัก ตั้งคำถามเรื่อย ๆ อย่าเพิ่งเชื่อในทันที หรือใช้งานในเชิงพาณิชย์ในทันที ต้องรู้จุดเด่น จุดด้อยก่อน ค่อยนำมาปรับใช้

ส่วนคำถามปิดท้ายในวงเสวนาคือ ปัจจุบันกองบรรณาธิการสื่อ จะมีแนวคิดหรือนโยบายอย่างไรที่ต้องทำงานกับ AI โดย น.ส.อศินา กล่าวว่า จากประสบการณ์อยู่ในสนามข่าวมา 28 ปี อยู่ในองค์กรสื่อมา 24 ปี เพิ่งมาทำสื่อเอง 4 ปี องค์ความรู้ หรือแทคติกที่ถูกสั่งสอนมา ได้นำมาใช้ใน 4 ปีที่ผ่านมา AI คือหนึ่งในนั้น AI ก่อให้เกิดเทรนด์ผู้ประกอบการใหม่ คือผู้ประกอบการคนเดียว รวมถึงสื่อด้วย แต่ต้องมี Domain Expert เป็นตัวตั้ง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง แล้วอีกมือจะจับจริยธรรมให้มั่นอย่างไร เราต้องจับจริยธรรมก่อน แล้วค่อยแข่งขัน ต้องขอบคุณองค์กรเก่าตัวเองอย่าง The Nation ที่สั่งสอนมาตลอดว่า ต้องยึดจริยธรรมให้มั่น ถ้าไม่ยึดให้มั่น คุณค่าของเราไม่มี แต่เป็นความท้าทายเยอะ

“เอาเป็นว่าองค์กรสื่อที่แนวโน้มจะเป็นผู้ประกอบคนเดียว ตอนนี้เป็นเทรนด์ทั่วโลก ต้องเอาจริยธรรมเป็นตัวตั้ง และเอาการแข่งขันเป็นตัวเสริม การเอา AI มาใช้ควรจะต้องมีจริยธรรมควบคู่ไปด้วย แต่การเอามาใช้นอกเหนือจากจริยธรรมแล้ว ถ้าองค์กรสื่อนำ AI มาใช้ในการตรวจจับว่า สิ่งนี้เป็น Deep Fake หรือข้อมูลที่มีธงเพื่อนำสาร จะทำให้เราทำหน้าที่สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ Empower ตัวเอง เราก็ไม่อาจจับผู้ร้ายที่เก่งกว่าได้ เราต้องลงทุนตรงนี้ด้วย อีกด้านหนึ่งคืองานอะไรที่ AI ทำได้ เช่น การรายงานผลฟุตบอล อะไรที่มันเป็น Routine Base ที่ไม่ต้องใช้ Critical Thinking เป็นต้น และให้คนมาทำ Taste ที่มี Value เยอะกว่า ไปทำ Investigative ที่มีคุณค่ากับผู้อ่านได้มากขึ้น” น.ส.อศินา กล่าว

ส่วนถ้าสื่อทำหน้าที่ดีสุดแล้ว การตรวจสอบความถูกต้อง จะละเมิดหรือไม่ละเมิดจริยธรรม เป็นหน้าที่ผู้บริโภคหรือไม่ ดร.เอกพล มองว่า แน่นอนว่าผู้บริโภคมีส่วนช่วยอยู่แล้ว แต่ต้องร่วมกันทุกฝ่าย อย่างสถานการณ์ตอนนี้ เริ่มเกิดกับแนวปฏิบัติการใช้ AI ในงานข่าว ฝุ่นยังคลุ้งอยู่ ยังไม่มีแนวปฏิบัติแกนกลาง แม้แต่ระดับสากลเอง ก็ยังไม่มีข้อปฏิบัติอันเดียวกันทั้งหมด แม้แต่ห้องข่าวเองก็ตาม ของไทยในทุกที่ควรต้องเริ่มแล้วในการวางแนวทางของตัวเอง เดี๋ยวอาจมีแกนกลางมาจริง

“แต่ตอนนี้มีการใช้งานเกิดขึ้นแล้ว งานปฏิบัติแต่ละที่ควรวางแนวไว้คร่าว ๆ เช่น ขอบเขตการใช้งาน ไม่ใช่ว่าให้กอง บก.อื่น ๆ ใช้ตามกัน ควรคุยกันตั้งแต่แรกเลยว่า กรณีไหนได้ กรณีไหนไม่ได้ เป็นต้น เพราะความรับผิดชอบ ตอนนี้ระดับสากลเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นความผิดพลาดของ AI ถ้าเกิดเหตุผิดพลาดขึ้น คนเลือกเอามาใช้ต้องรับผิดชอบอยู่ดี AI บางครั้งอาจเกิดปัญหาโดยไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่ผู้ตัดสินใจเอาไปใช้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง” ดร.เอกพล กล่าว.