นักวิชาการชี้ความน่าเชื่อถือคือจุดแข็งของสื่อมืออาชีพ

แหล่งข่าวกับชาวเน็ต สะท้อนความน่าเชื่อถือของสื่อ นักวิชาการแนะรูปแบบการตรวจสอบข้อมูล การประเมินแหล่งที่มาเนื้อหาเรื่อง และภาพ การอ้างอิงแหล่งข้อมูล เลือกแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะกับเรื่อง ชี้ความน่าเชื่อถือคือจุดแข็งสื่อมืออาชีพ “ข่าวสดออนไลน์” ระบุยึดหลักวิชาชีพ ตรวจสอบรอบด้าน เชิงลึกจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ กระบวนการทำงานรุ่นเก่า-รุ่นใหญ่ เรียนรู้ไปด้วยกัน หากข่าวผิดพลาดต้องแก้ไขทันที ขณะที่ “เพจอีจัน” สะท้อนเทรนด์เล่าเรื่องต้องรวดเร็วตรงประเด็น หลักคิดผลิตคอนเทนต์จากความสนใจในชีวิตประจำวันของผู้คน ยอมรับพึ่งแหล่งข้อมูลจากสื่อหลัก-ความสนใจในโซเชียล เมื่อผิดพลาดต้องลบ ผลิตเรื่องถูกใหม่

รายการ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 25 พ.ค. 2567 ทาง FM 100.5 อสมท. พูดคุย เรื่อง “แหล่งข่าวกับชาวเน็ต จริง-เท็จ พิสูจน์อย่างไร?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย เมธาวี มัชฌันติกะ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ ข่าวสด กฤชอรรณัฐ แสงโชติ Digital Content Director อีจัน ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อธิบายในแง่มุมวิชาการ ถึงเรื่องแหล่งข่าวกับชาวเน็ตว่า ปัจจุบันข่าวสารในโลกออนไลน์ และสื่อมวลชนหลัก 1. จะตรวจสอบรูปแบบ ข้อมูล ที่ผิดปกติ 2. ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการประเมินแหล่งที่มาของเนื้อหาและภาพ

ทั้ง 2 ส่วนนี้ ถ้าเราใช้คำว่าแหล่งข่าวจากชาวเน็ต ภาพ เนื้อหา ที่ได้มานั้นเป็นอย่างไร ต่อมาก็คือรูปแบบตามปกติของข่าวสาร ที่ต้องตรวจสอบว่าก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ ตรงส่วนนี้เราจะพบบ่อย ๆ ว่า บางครั้งจะใช้คำ หรือพาดหัว ในการดึงดูดให้คนเข้าไปดูแต่ในเนื้อหาข่าว อาจไม่ตรงกับสิ่งที่พาดหัวไว้ 

ต่อมาก็ต้องมองที่การอ้างอิงแหล่งที่มา ตรงนี้สำคัญมาก บางทีอ้างอิงว่า มาจากข้อมูล แหล่งข่าวจากชาวเน็ต ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญอีกอย่างคือภาพที่นำมาประกอบ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ตรงส่วนนี้เราต้องรู้ว่า วิธีการที่เราจะตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเท็จจะมีหลากหลาย หรือแม้แต่ข้อมูลที่พูดถึงความผิดพลาด แล้วเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบวิธีการเหล่านี้ มีการทำวิจัยค่อนข้างเยอะ 

ขณะที่การตรวจสอบความถูกต้องกับเรื่องความรวดเร็ว ก็อาจส่งผลให้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ มีสูง แต่สิ่งสำคัญต้องมองว่า การให้ข้อมูลที่ผิดออกไป แล้วก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนเกิดปัญหา ทำให้เกิดความวุ่นวาย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่า หรือแม้แต่การไปกระทบกับบุคคลทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง 

อยากให้เพจต่าง ๆ พิจารณาว่า ข้อมูลข่าวสารต่างๆ  ที่จะนำเสนอ ต้องดู ตรวจสอบผู้เผยแพร่ต้นทาง ปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาพต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอออกมา เช่น กรณีสายการบินหนึ่งที่ตกหลุมอากาศ และมีภาพหลุดออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งภาพและเนื้อหา ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ตรงนี้ก็ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ว่าจริง ๆ แล้ว เกิดปัญหาอะไรขึ้น เกิดเหตุที่จุดไหน 

สื่อมวลชน หรือแม้แต่ผู้ที่ทำเพจ ควรต้องรอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จากผู้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือก่อน เพราะบางครั้งข้อมูลเหล่านี้ เมื่อถูกนำเสนอออกมา ทำให้คนสับสน เข้าใจผิดในสายการบินนั้น ๆ เข้าใจผิดในสถานที่เกิดเหตุ 

ผศ.ดร.สิงห์ เน้นย้ำว่า อีกส่วนที่ต้องดูคือ การนำภาพข่าว เนื้อหาข่าว ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของประชาชน แต่เป็นข่าวเก่า เอามาเวียนใช้ จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ วิธีการตรวจสอบสามารถทำได้หลากหลายวิธี

1.ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลจากทางรัฐบาล หรือสื่อมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ สุดท้ายคือตรวจสอบด้วยตนเอง เช่นเอาข้อมูลที่พบเห็นนำไปค้นหาต่อใน Google ดูว่ามีข้อมูลที่ซ้ำ ๆ กันหรือไม่ และข้อมูลที่ซ้ำนั้น มีจากหลายแหล่งที่มาหรือไม่ ถ้าหลายแหล่งที่มา ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะเป็นข้อมูลที่แท้จริง

หากข้อมูลผิดพลาด แล้วไปกระทบต่อบุคคล เช่น กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมา ก็เป็นเรื่องใหญ่ ระยะหลังมานี้ เราจะเห็นข้อมูลที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าเป็นเพจ หรือสื่อมวลชนเอง จะมีความระมัดระวังเรื่องนี้ค่อนข้างสูง แต่ตัวเพจ หรือตัวผู้ใช้โซเชียลมีเดีย กลับไม่ได้มองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

ผศ.ดร.สิงห์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สถานการณ์การต่อสู้บนโลกออนไลน์ค่อนข้างสูงเนื่องจากใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่สื่อที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ต่อสังคม ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า บางคนเป็นแหล่งข่าวที่มีชื่อเสียงของสื่อมวลชนหลายสำนัก แต่จริง ๆ แล้วแหล่งข่าวคนนั้นไม่ได้รู้จริงรู้ลึก หรือเชี่ยวชาญในสาขาที่ออกมาให้ความคิดเห็นจึงทำให้สารจากแหล่งข่าวรายนั้น ถูกแพร่กระจายไปในสื่อต่าง ๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับนับถือในยุคปัจจุบันผู้บริโภคข่าวและสำนักข่าวควรจะรู้เท่าทันอย่างไร

ผศ.ดร.สิงห์ มองว่าเบื้องต้น การที่นักวิชาการที่จะถูกสื่อมวลชนสัมภาษณ์ เป็นจุดที่สื่อมวลชนติดต่อไปเองแม้แต่เขาอาจจะสร้างตัวตนผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วสื่อมวลชนไปดูข้อมูล แล้วหยิบไปใช้ไปสัมภาษณ์ก็ต้องตรวจสอบด้วยว่า นักวิชาการท่านนั้นเชี่ยวชาญด้านไหน ซึ่งหลายครั้งเราจะเห็นว่า นักวิชาการหลายคนอาจจะวิเคราะห์ในส่วนที่ตนเองไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกเรื่องนั้นๆ ตรงนี้คือจุดที่สื่อมวลชนก็ต้องตรวจสอบ ไม่ใช่เห็นเพียงว่าเป็นบุคคลที่หยิบประเด็นเรื่องนี้มาพูดปุ๊บ จึงไปสัมภาษณ์เขา ซึ่งการสัมภาษณ์ก็ต้องบอกว่าเขาอาจจะมีข้อมูล มีความเห็นในเรื่องนั้นๆ ได้ แต่ต้องมองอีกมุมหนึ่งด้วยว่า ความเชี่ยวชาญของนักวิชาการแต่ละท่านแตกต่างกัน สื่อก็ต้องเลือกแหล่งข่าวให้เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ในทางวิชาการ ก็ได้มีงานวิจัย การสำรวจพฤติกรรม การเสพสื่อ เสพข่าวสารของคนไทยในยุคนี้ เป็นการสำรวจเบื้องต้นว่า ปัจจุบัน ถ้าเราไปดูเทรนด์ตอนนี้ จากการใช้โซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่า ที่มาแรงมากในปัจจุบันคือ TikTok ผู้ใช้งาน TikTok ไม่ได้มีเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น แต่เป็นผู้สูงอายุที่ใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ทำให้ปัจจุบัน วิธีการที่เราจะต้องสื่อสารกับประชาชน อาจต้องมองแพลตฟอร์มอื่นเพิ่มมากขึ้น เพราะ Facebook กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ใช้ เด็กรุ่นใหม่จะไปใช้ IG หรือ Lemon8 ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้น ก็ต้องเปิดมุมมอง วิธีการที่เราจะสื่อสารกับประชาชนที่แตกต่างออกไป การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะตรงกับกลุ่มเป้าหมาย 

ถึงแม้แพลตฟอร์มใหม่ในการสื่อสารจะมีเพิ่มขึ้น แต่ ผศ.ดร.สิงห์ ก็ยังระบุว่า สุดท้ายสื่อมวลชนก็ยังเป็นสื่อหลัก ณ เวลาที่ประชาชนอยากจะเช็คข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยจะกลับมามองที่สื่อมวลชน ตรงนี้คือจุดที่สื่อมวลชนยังมีความแข็งแรง และเป็นจุดที่มีความน่าเชื่อถือกว่าสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ 

“ต้องบอกว่า สำนักข่าวต่าง ๆ ยังมีจุดแข็งตรงนี้ และอย่าทำงานข่าวด้วยความรวดเร็วแต่ผิดพลาด ถ้าเกิดความผิดพลาด ความน่าเชื่อถือก็จะหายไป ความสำคัญของคำว่าสื่อมวลชนก็จะหายไป จุดนี้จึงอยากให้สื่อมวลชนปัจจุบัน ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ อย่าไปเร่งความเร็วสู้กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ อยากให้ดูข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างให้ตัวสื่อมวลชนเองน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อที่จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ประชาชนสามารถเชื่อถือได้ และเป็นจุดสุดท้ายที่คนจะมาเช็คได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่เขารับรู้มานั้น เป็นความจริง ผ่านสื่อมวลชน” ผศ.ดร.สิงห์ กล่าว

ทางด้านนักวิชาชีพ เมธาวี มัชฌันติกะ อธิบายถึงกระบวนการทำงานในสื่อออนไลน์ที่ต้องเน้นทั้งความเร็วและความถูกต้อง โดยเฉพาะการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาของข่าว ก่อนนำเสนอว่า กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข่าว เรายังคงยึดหลักเดิม โดยให้ความสำคัญกับข่าวที่มีผลกระทบกับผู้คน เช่น ข่าวเกี่ยวกับปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง เรื่องราวที่เกิดขึ้น มีกระบวนการรีเช็คจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่นหน่วยงานนั้นๆ องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง คนที่จะรู้ข้อมูลนั้นจริง เพื่อให้ข้อมูลที่ออกมาถูกต้องที่สุด 

เมธาวี ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ไฟไหม้ซึ่งถือเป็นข่าวฉุกเฉิน เป็นข่าวเบรกกิ้งนิวส์ เร่งด่วน ก็จะรีเช็คลงไปในพื้นที่ เช่น ตำรวจในพื้นที่กู้ภัย ซึ่งกองบก.ข่าวสด จะมีแหล่งข่าวจากกระบวนการทำงานที่ผ่านมา ก็จะโทรสอบถาม รีเช็คให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด

“จะเห็นว่า คลิปในโซเชียลที่มีมากในปัจจุบัน ประชาชนทุกคนสามารถเป็นเจ้าของคอนเทนต์ได้ วิธีการรีเช็คของเรา ก็จะซับซ้อนมากขึ้นโดยจะใช้วิธีเข้าไปตรวจสอบคลิป ด้วยการเข้าไปค้นหาที่มาที่แท้จริง พูดคุยข้อมูลเพิ่มเติมกับเจ้าของคอนเทนต์นั้นๆ ให้เพียงพอจะตัดสินใจเผยแพร่” 

เมธาวี บอกด้วยว่า สำหรับแหล่งข่าวที่ต่อเนื่องมาจากยุคใช้ ว.หรือวิทยุสื่อสาร แต่ปัจจุบันใช้ช่องทางออนไลน์อื่นสื่อสารแทน เช่น ไลน์กลุ่ม ที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าวเดิมที่อยู่ในกลุ่มวิทยุสื่อสาร ก็จะเปลี่ยนมาอยู่ในแพลตฟอร์มที่เป็นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ เช่น ที่เป็นกลุ่มกู้ภัย ที่เราจะรู้จักหน้าค่าตากันว่า เขาอยู่ในพื้นที่จริง บางคนก็สามารถโทรติดต่อได้ในพื้นที่

นอกจากนี้กระบวนการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว แบบเกตคีปเปอร์ กลั่นกรองก่อน ก็เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะเราเป็นข่าวออนไลน์ ที่ทำงานบนความรวดเร็ว บางอย่างเราก็ต้องเร็วมาก ๆ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ก็จะยังไม่ปล่อยออกไป จนกว่าจะใช่แล้วจึงสามารถเผยแพร่ออกไป โดยไม่ผิดพลาด

จะเห็นได้จากเหตุการณ์สำคัญหลาย ๆ ครั้งที่เป็นเบรกกิ้งนิวส์ ข้อมูลที่ออกมาตอนแรก ค่อนข้างจะสับสน สมมติมีผู้เสียชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญ ก่อนที่จะรายงานออกไป เช็คแล้วเช็คอีก เช็คกับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ด้วยความรวดเร็วในบางสื่ออาจจะรายงานไปก่อน แล้วไปแก้ไขทีหลัง เป็นต้น ดังนั้นส่วนใหญ่เราจะพยายามรีเช็คก่อน

นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่มีการระบุว่า แหล่งข่าววงในออกมาโพสต์ แต่เมื่อตรวจสอบไปแล้ว ไม่ใช่ เมธาวี บอกว่า ลักษณะนี้พบได้บ่อยที่อ้างว่าวงใน แต่เราก็จะเอาเรื่องนั้น ๆ ไปเช็คต่อ จนกว่าจะแน่ใจว่าเป็นจริง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องระบุแหล่งข่าวได้ว่า เป็นใคร ถ้าเขาไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เราก็จะพยายามบอกให้มากที่สุด ว่าแหล่งข่าวเรามาจากองค์กรไหน หน่วยงานใดเพื่อให้ข่าวน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแต่เราแทบไม่เคยเอาข่าว ที่คนให้ข่าว ไม่มีที่มาที่ไป

ขณะที่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การอบรมผู้สื่อข่าวเพื่อใช้อุปกรณ์เครื่องมือ กับเรื่องจริยธรรม เพื่อให้ความรู้ ตรวจเช็คข่าวปลอมฯ นั้นเมธาวี ระบุว่า จะมีคนรุ่นใหม่ ที่เชี่ยวชาญเรื่องโซเชียลมีเดียมาก เข้ามาร่วมกับทีมงานเดิม ที่เป็นคนหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่จะมีความสามารถ ในการรีเช็คเรื่องที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต สืบค้นในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ได้แหล่งข้อมูลที่มาที่ชัดเจนที่สุด การทำงานออนไลน์ จะมีกระบวนการ เทคนิคในการตรวจสอบคลิป ที่มา ไม่ว่าการไปเช็คด้วยโปรแกรม ด้วยการค้นหาแหล่งข้อมูลแหล่งที่มา

ส่วนการอบรม เราใช้วิธีการทำงานไปด้วย เรียนรู้ไปด้วยในทุกวัน เราจะสอนกันต่อ ๆ มา เช่นหากมีข่าวอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วมีข้อผิดพลาด ซึ่งข้อผิดพลาดก็จะเป็นสิ่งที่ทีมได้นำไปเรียนรู้ด้วยกันทั้งหมด เพื่อครั้งต่อไป จะได้มีข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด ทำให้ดีขึ้นมากที่สุด

จะเห็นได้ว่ายุคต้น ๆ ของการทำข่าวออนไลน์อย่างข่าวสด ที่เข้ามาสู่ออนไลน์อย่างเต็มตัวมากว่า 7 ปี ขึ้นไปในยุคแรกยุค 10 ปีก่อนที่ เฟซบุ๊กเพิ่งเข้ามา จะมีปัญหาเรื่องภาพปลอม ภาพเหตุการณ์ คลิปข่าว ในตอนแรก เรายังมีประสบการณ์ในการรีเช็คสื่อสมัยใหม่ ก็ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดในช่วงต้น อาจจะเป็นคลิปที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้าง หรือภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่นำมาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ก็เคยเกิดขึ้น แต่พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น ในการตรวจสอบ รีเช็คแหล่งที่มา ก็ทำให้ความผิดพลาดน้อยลงเรื่อย ๆ

ทำให้เราตระหนักว่า สิ่งสำคัญในการเผยแพร่ออกไปบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญจะต้องถูกต้องที่สุด หากใช้เหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องมาเผยแพร่ จะทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมในวงกว้างได้

กรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมาภายใต้สถานการณ์ยุคนี้ หากมีความผิดพลาดเรื่องข่าวเกิดขึ้น จะแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เช่น กรณีภาพไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เราทำผิดพลาดในการนำไปเผยแพร่ก็รีบลบและรีบเอาข่าวนั้นลง และนำเหตุการณ์ที่ถูกต้องมาเผยแพร่แทน เพื่อแก้ไขความผิดพลาดนั้น หลังจากเผยแพร่ไปแล้ว ก็ยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ ในแต่ละโพสต์ก็จะมอนิเตอร์ติดตามด้วยว่าโพสต์ที่เผยแพร่ออกไปแล้วถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่าทักษะของนักข่าว ต้องเติมเทคโนโลยีใหม่ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ในเรื่องการตรวจค้นข้อมูลด้วยหรือไม่ อย่างไร เมธาวี ระบุว่าเป็นประเด็นที่สื่อค่อนข้างตระหนักและห่วงใยกับเรื่องนี้พอสมควร เราอาจจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้บางส่วน แต่ไม่ได้ทั้งหมด คิดว่าการสืบค้นข้อมูลจากเอไอ อาจทำให้กระบวนการทำงานรวดเร็วมากขึ้นก็จริง แต่สุดท้ายจะต้องใช้จรรยาบรรณสื่อ ความรู้ที่ได้สั่งสมมา นำมาใช้ตัดสินข้อมูลนั้นๆ ว่า ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งข่าวสดมีแผนที่จะใช้เอไอในการเข้ามาช่วยในการทำงานเช่นกับสื่ออื่นๆ แต่เราก็ยังใช้ในระดับที่ทำให้กระบวนการทำงานเร็วขึ้น เช่นใช้ประโยชน์จากแชทบอร์ด ค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นต้น 

ทั้งนี้ เมธาวี ระบุว่า การเติบโตของข่าวสดออนไลน์ มีที่มาจากการเป็นหนังสือพิมพ์หัวสี จึงมีความหลากหลายในเชิงประเด็นข่าว ไม่ได้ทำเฉพาะสิ่งที่ชาวบ้านสนใจเท่านั้น แต่มีทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง บันเทิง อาชญากรรม ต่างประเทศ มีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ ในอนาคตจะมีภาษาจีนด้วย ฉะนั้นจึงมีประเด็นให้ทำหลากหลาย

ขณะที่ในมุมของผู้บริหารสื่อโซเชียลมีเดียรุ่นใหม่ กฤชอรรณัฐ แสงโชติ มองถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวทุกวันนี้ว่า ไปไกลมาก ในวันที่เริ่มต้นทำเพจอีจัน คนยังสนใจการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ แต่ทุกวันนี้คนต้องการเสพข่าว แบบเล่าข่าว ให้รวดเร็ว เข้าเรื่องราว ไม่ชอบอารัมภบท ต้องยิงตรงประเด็นเลยว่า เกิดอะไรขึ้น ทั้งภาพข่าว ทั้งคอนเทนต์ จะต้องมาพร้อมกันทั้งหมด 

ตอนนี้คนเสพข่าวเป็นฝ่ายเลือกแล้ว ไม่ใช่เราเป็นคนเลือก แต่เราเป็นคนทำคอนเทนต์ เอาข่าวมาผลิตคอนเทนต์ นำข่าวมาแปลงเป็นเรื่องราวให้คนเข้าใจง่าย และสนใจ

สำหรับวิธีการเลือกแหล่งข้อมูลมาทำคอนเทนต์ในปัจจุบัน กฤชอรรณัฐ ระบุถึงหลักคิดในกระบวนการทำงานว่า ใช้เซนส์ในชีวิตประจำวันของผู้คน ตั้งแต่ตื่นนอน กิน ทำงาน เที่ยว เป็นหลักว่าชอบอะไร เราจะคิดอะไรที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในวันหนึ่ง ๆ ของคน ว่าเขาอยากรู้ สนใจอะไร แล้วก็ไปหาเรื่องนั้นมานำเสนอ โดยหลัก ๆ จะดูจากกระแสสังคม จากสื่อทีวี และวิทยุบ้าง และต้องติดตามข่าวสารเพื่อจะนำมาแมตช์กันด้วย

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่าใช้เซนส์ของตัวเองเป็นมาตรฐานในการเลือกข่าว ที่อาจต่างกับยุคแอนา ล็อกที่กองบก. จะประชุมข่าวเพื่อครีเอทประเด็นจากการประชุมข่าว แล้วกำหนดประเด็นร่วมกันว่าจะทำข่าวใด สำหรับเพจอีจันใช้เซนส์ในการเลือกข่าว กำหนดประเด็นข่าวมีสัดส่วนอย่างไร กฤชอรรณัฐ ระบุว่า คงวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะความชอบ ความสนใจของคน แต่ละวันไม่เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม การหยิบยกข่าวมาโดยอ้างอิงจากข่าวทีวี สื่อหลัก ที่นำเสนอ เราก็จำเป็นต้องมี เพราะเป็นเรื่องที่คนสนใจ เรื่องที่จำเป็นต้องรู้ อย่างสถานการณ์ข่าวต่างประเทศ ซึ่งไกลตัว คนอาจจะไม่สนใจ แต่เมื่อไหร่ที่ใกล้ตัวเข้ามา ใกล้เอเชีย เพื่อนบ้านใกล้ ๆ มีปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ คนก็จะสนใจ เพราะเป็นผลกระทบกับคนไทยที่อยู่ในที่นั้นหรือไม่ เราก็ต้องนำเสนอ ฝนตก รถติด สภาพอากาศ ก็ต้องเล่าเรื่องราวให้กับลูกเพจ ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่คนต้องรู้อย่าง เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ 

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันคือข่าว การเดินออกไปข้างนอก ฝนตก รถติด ก็คือข่าว สามารถบอกต่อได้ เตือนได้ ทุกอย่างในชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นข่าว อย่างอีจันลงพื้นที่ไปทำข่าวหนึ่งข่าว เราไม่ใช่ทำเฉพาะข่าวที่อยู่ตรงหน้า แต่เราเดินไป และเราเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างทางที่เราเห็น อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยโปรโมท อธิบายคนที่เขาไม่เคยเห็น ไม่เคยไปจุดนั้นๆ ให้เขาได้เห็นภาพ เช่น ไปจังหวัดนี้ มีร้านอาหารนี้ ตรงไหนรถติด อย่าเพิ่งออกไป” 

เมื่อถามถึงกระบวนการทำงาน การมอนิเตอร์ข่าวอย่างไร และการหาแหล่งข้อมูล กฤชอรรณัฐอธิบายว่า หลักการเลือกข่าว หรือการมอนิเตอร์ข่าว ทางด้านเทคนิค จะมีหลายเว็บไซต์ ที่เราเข้าไปดู เพื่อดูความสนใจของคนว่า เขาเล่าเรื่องนี้ เล่นเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กก็มีเครื่องมือ ที่ให้เราดูกระแส ดูเทรนด์แต่ละวัน ทุกเพจที่อยู่ในเฟซบุ๊กประเทศไทย กำลังเล่าเรื่องราวอะไร เล่นเรื่องอะไร แล้วก็จะเห็นเอนเกจว่า เรื่องนี้มีคนเข้าถึงเยอะ คอมเมนต์เยอะ เราก็จะไปหยิบ ตามเขามาด้วย จึงบอกว่าเราไม่สามารถตกขบวนได้ ลูกเพจเรา 14 ล้านคน แต่เขาก็ไม่ได้สนใจในเรื่องเดียวกันทั้งหมด อาจจะชอบเรื่องนี้ เรื่องนั้น เราก็แค่บาลานซ์เรื่องราวข่าวที่คนสนใจ และรู้น้ำหนักข่าวแต่ละวัน เช้ามาเรื่องอะไร เที่ยง เย็น ก่อนเข้านอน เหมือนชีวิตหนึ่ง คนที่ตื่นมาต้องรับรู้เรื่องอะไรในแต่ละวัน

เมื่อถามถึงกรณีข่าวที่พาดหัว อ้างกระแสชาวเน็ตว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เพจอีจันเลือกคอนเทนต์เหล่านี้มาเล่นหรือไม่กฤชอรรณัฐ ยอมรับว่า การหาคอนเทนต์ ก็มีส่วนที่ไปดูจากคอมเมนต์ในโซเชียล

“จริง ๆ เราก็ไปเช็คจากคอมเมนต์ของคนออนไลน์เขาแสดงความคิดเห็นอย่างนี้ เราก็เล่นนะ เพราะชาวเน็ตแห่แสดงความคิดเห็น แห่โน่นแห่นี่ เราก็เล่น เราก็เอาตัวเอง เข้าไปในคอมเมนต์นั้น แล้วก็ไปศึกษาว่า ทั้งหมดทั้งมวล เขาพูดเรื่องอะไร เราจึงจะนำเสนอให้ลูกเพจเราได้หรือบางที 100 คนอาจจะคิดเหมือนเรา 90% หรืออาจจะคิดเหมือนคอมเมนต์นั้น ๆ อาจจะเดินตามขบวนเขาไปได้ อย่างมีข่าวในโซเชียลที่คนสนใจอยู่ตอนนี้ ถ้าเราไม่ตาม ไม่ทำอะไรเลย ก็จะตกขบวน แสดงว่าเราตกข่าวแน่นอน เราจะตกกระแสไม่ได้เราเป็นสื่อออนไลน์เราก็ต้องตามขบวน ตามเรื่องราวที่คนสนใจอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น

นอกจากนี้ กฤชอรรณัฐ ยังระบุด้วยว่าบางเรื่องเราไม่อาจเชื่อถือได้จากโซเชียล เรามีสตริงเกอร์ นักข่าวท้องถิ่นประจำจังหวัด แต่ละแห่งถ้ามีข่าวด่วนข่าวใหญ่ ก็จะหยิบจากสตริงเกอร์ที่ส่งเข้ามาได้

เมื่อถามถึงปัญหาของความเร็วมักจะมาพร้อมกับความผิดพลาด ป้องกันและแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรกฤชอรรณัฐ ระบุว่า เรื่องของความเร็วและต้องไม่ผิดพลาด ต้องมาพร้อมกัน ต้องเป็นข่าวจริง แต่บางครั้ง บางเรื่องเราจะต้องนำเสนอทันทีขณะที่บางเรื่องเรารอ แล้วคนอื่นขึ้นไปก่อนบางครั้งเราจะต้องรอเช็คสตริงเกอร์ ตำรวจ เช็คแหล่งข่าว ว่าใช่หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน บางครั้งแหล่งข่าวของเราก็มีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน

กรณีผิดพลาดก็ต้องแก้ ขอโทษแล้วลบโพสต์ หรือแก้ไข โดยไม่ปล่อยให้โพสต์นั้นไหลไปเรื่อย โดยยอมลบไม่ว่าจะมีเพจวิวดี ในขณะที่โพสต์ที่เราแก้ไข จะไม่ไหล เราก็ยอม โดยโพสต์ขึ้นใหม่ เพื่อทำความเข้าใจว่า เรื่องนี้เราตรวจสอบแล้ว.