องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. สอบถามความคืบหน้าต่อ ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มหลังผ่านกระบวนการต่างๆ หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด โฆษกประจำ ประธาน กสทช. รับจะดูว่ากระบวนการติดขัดอยู่ส่วนใด เพื่อเร่งให้บรรจุวาระเข้าบอร์ดได้เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประธานสภาวิชาชีพการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายสวิชย์ บำรุงสุข กรรมการ และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสมาชิกสัมพันธ์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และตน ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอติดตามความคืบหน้าการประกาศใช้ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ต่อ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. โดยมี พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ผู้ปฏิบัติงานประจำประธาน กสทช.ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำ ประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ
รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวว่า ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ ได้แจ้งถึงเหตุผลของการยื่นหนังสือดังกล่าวว่า เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มาตรา 39 และ 40 ระบุให้ กสทช.ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพ ซึ่งตั้งแต่ กสทช.ชุดก่อนหน้า ชุดปัจจุบันนี้ ได้ร่างประกาศ ส่งเสริมการรวมกลุ่มฯ เพื่อให้ กสทช. สามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ มาส่งเสริมองค์กรวิชาชีพได้ เพราะที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกัน เวลามีเรื่องร้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย ทาง กสทช. ก็นำมาพิจารณา ซึ่งอาจทำให้เสียเวลา เช่น เรื่องจริยธรรม ควรเป็นเรื่องขององค์กรวิชาชีพ แต่สำนักงาน กสทช. มองว่าหากให้องค์กรวิชาชีพทำแล้วช้า ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพฯ มีทรัพยากรต่างๆ เช่น บุคลากร และงบประมาณน้อย อาจทำให้กระบวนการล่าช้าไม่ทันใจ หากมีร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียน และจดแจ้ง ก็จะทำให้ กสทช. มีช่องทางสนับสนุน ทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบางานของ กสทช.ได้ โดยทราบว่า ร่างฯ ประกาศดังกล่าวผ่านการกลั่นกรองมาหมดแล้ว เหลือแต่เสนอเข้าบอร์ด แต่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น จึงได้มายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช.ให้ช่วยเร่งรัดและพิจารณาดังกล่าว
นางสาวนิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ขณะที่ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า ร่างประกาศฉบับนี้ ได้ร่างขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นการริเริ่มโดย กสทช. และได้ดึงองค์กรวิชาชีพมาเข้าร่วม แต่ที่ผ่านมาได้หยุดไป ทางองค์กรวิชาชีพจึงได้ตั้งคำถามว่าหยุดไปเพราะอะไร ทั้งที่ได้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว และ กสทช. ก็ได้สรุปแล้ว เมื่อสอบถามหน่วยงานภายในจึงพบว่า ร่างประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม จึงมาสอบถามว่าติดขัดอะไร หากต้องกลับไปทำใหม่ก็จะได้นำกลับไปดำเนินการ โดยยืนยันว่าร่างประกาศนี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่เอื้อประโยชน์ต่อ กสทช.ด้วย ซึ่งเมื่อร่างประกาศนี้ยังไม่ผ่าน กระบวนการส่งเสริมจึงยังไม่เกิด ซึ่งถามว่าองค์กรวิชาชีพสามารถทำงานได้หรือไม่ ก็ทำได้ แต่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น และทำให้งาน กสทช. มีมากขึ้นด้วย หากองค์กรวิชาชีพสามารถดูแลกันเองได้ โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรม ก็จะทำให้เรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช.น้อยลง
รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า ภายหลังการรับหนังสือดังกล่าว พล.อ.สิทธิชัย แจ้งว่า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อ กสทช. ทุกท่าน และนำเรียนประธาน กสทช. ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับทาง กสทช. ทุกท่านว่าจะเห็นอย่างไรต่อร่างประกาศฉบับนี้ อย่างไรก็ตามจะเข้าไปดูกระบวนการนำเสนอร่างประกาศฉบับนี้เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระว่าติดขัดตรงส่วนไหน เพื่อให้สามารถบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาบอร์ด กสทช.ได้เร็วขึ้น.