นักวิชาการชี้ข่าวเส้นทางเงินสีเทาพาดพิงวิชาชีพสื่อกระทบภาพลักษณ์คนข่าว

ส.นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เปิดกลไกตรวจสอบ กำกับดูแลกันเอง หลังถูกพาดพิงเส้นทางเงินสีเทา ยันหลักเกณฑ์รับเงินสนับสนุนชัด พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายให้ข้อเท็จจริงปรากฎ เชิญชวนองค์กรสื่อมีแนวปฏิบัติสำหรับผู้สื่อข่าว ขณะที่กก.ตรวจสอบกรณีรองผบ.ตร.ให้เงินนักข่าวใกล้สรุป เหลือ “บิ๊กโจ๊ก”คนเดียว นักวิชาการชี้ผลกระทบภาพลักษณ์คนข่าว สังคมคาดหวังตรวจสอบจริงจัง ชี้ผลดีผลเสียการทำข่าวที่ต้องฝังตัวในหน่วยงานเพื่อสนิทแหล่งข่าว เน้นกอง บก.กำกับดูแลเนื้อหาเข้มข้น 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ความโปร่งใสของ“คนสื่อ”และ“องค์กรวิชาชีพ” ดำเนินรายการโดย จินตนา จันทร์ไพบูลย์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ และโฆษก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย

ปัญหาความขัดแย้งของ 2 นายตำรวจระดับสูง กลายเป็นคดีความกล่าวหาเรื่องเส้นทางเงินจากพนันออนไลน์ และมีประเด็นพาดพิงถึงสื่อมวลชน และองค์กรสื่อ โดยในการแถลงข่าวของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ อ้างว่ามีเส้นทางเงินโยงมาถึงผู้สื่อข่าว อุปนายกองค์กรสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) ทำให้สมาคมนักข่าวฯ ซึ่งถูกระบุชื่อในการแถลง ได้ตรวจสอบข้อมูลทันที และยืนยันว่าคณะกรรมการบริหารในปัจจุบัน รวมถึงองค์กร ไม่เคยได้รับเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนตามการกล่าวอ้างของนายษิทรา แต่อย่างใด และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

กระทั่งต่อมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ที่ตั้งขึ้นโดย 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อขอให้นำประเด็นข้อกล่าวหาและพาดพิงดังกล่าว พิจารณาตรวจสอบเพิ่มเติม จากกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์ว่า มีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ ก่อนหน้านี้

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ​อธิบายถึงการแถลงข่าวของนายษิทรา ทนายความที่ระบุถึงสมาคมนักข่าวฯว่า บรรดาสมาคมสื่อมวลชนต่างๆ ที่ขอจดทะเบียนจัดตั้งจากกระทรวงมหาดไทย ในประเทศมีหลายร้อยรายการ ข้อมูลที่ค้นพบมี “สมาคมนักข่าว” 86 รายการ มี”สมาคมสื่อมวลชน” 130 รายการ และ”สมาคมผู้สื่อข่าว”อีกกว่า 100 รายการ แต่เมื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยถูกโฟกัส จึงต้องแสดงให้สังคมได้สบายใจว่า เรามีความโปร่งใส และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินผิดกฎหมายใดๆ แน่นอน

ส่วนการพาดพิง หากใครที่กล่าวถึงสมาคมนักข่าวหรือองค์กรวิชาชีพใด ช่วยระบุให้ชัดดีกว่า เพราะไม่อย่างนั้น ก็สะดุ้งกันทั้ง 300 สมาคมนักข่าวฯ แม้เจ้าตัวรู้อยู่แก่ใจ แต่องค์กรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

สำหรับกระบวนการตรวจสอบของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และแสดงจุดยืนด้วยการแถลงการณ์ หลังตรวจสอบข้อกล่าวหาทันที จีรพงษ์ อธิบายว่าพอมีเรื่องเข้ามา กรรมการบริหารสมาคมฯซึ่งมีทั้งหมด 15 คน ซึ่งมาจากต่างสื่อก็เห็นตรงกันว่า ต้องทำอะไรซักอย่าง ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นสมาคมนักข่าวฯ ทั้งที่มีอีกเป็นร้อยๆ สมาคม เราจึงมีแถลงการณ์ยืนยัน หลังตรวจสอบแล้วว่ามีหน่วยงานแปลกๆ รายใดบริจาคเข้ามา ไม่มีเส้นทางการเงินที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ 

เราเคยมีประสบการณ์นิ่งและช้า หากเป็นอย่างนั้น คนก็รู้สึกว่าทำไมสมาคมฯ ใจเย็น ตรวจสอบช้า ซึ่งเราเห็นว่า บางเรื่องเร็วมากก็ไม่ดี บางเรื่องรอบคอบดีกว่า และอยากให้มองด้วยว่า ทั้งกรณีของนักข่าวที่ไม่ได้ถูกเอ่ยชื่อ แต่ถ้าเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ควรใช้สิทธิในการปกป้องตัวเอง และในส่วนของสมาคมนักข่าวอื่นๆ ถ้าคิดว่าถูกพาดพิง ก็ควรออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าไม่ได้รับ

จีรพงษ์ ระบุด้วยว่า สำหรับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีสมาชิกเป็นบุคคล เรามีวิธีตรวจสอบภายในทั้งระบบสมาชิก กรรมการ การเงิน ซึ่งสมาชิกที่มีอยู่ 1,000 กว่าคน ถ้าเราทราบชื่อผู้ที่ถูกพาดพิง ก็สามารถค้นหาในระบบทะเบียนได้ทันที และระบบเรามีคณะกรรมการจริยธรรมที่จะพิจารณา ซึ่งเป็นคนละส่วนกับกรรมการบริหารสมาคมฯ และกรรมการบริหารฯ ก้าวล่วงคณะกรรมการจริยธรรมไม่ได้ ซึ่งกรรมการจริยธรรมจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่อยู่ในหลักของความเป็นธรรม

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากเรื่องเข้ากรรมการจริยธรรม หากพบหรือไม่พบข้อมูลตามที่ถูกกล่าวหา ก็จะแถลงให้ทราบอย่างเป็นทางการ กรณีพบว่ามีมูล ก็จะแจ้งไปยังต้นสังกัดของสมาชิกนั้นๆ เพื่อพิจารณา ในส่วนของสมาคมฯ เราทำได้สูงสุดคือให้พ้นจากความเป็นสมาชิก เพราะเราไม่มีอำนาจไปฟ้องร้องดำเนินคดีได้”

“แต่หากกรณีไม่ได้เป็นสมาชิกเรา ก็สามารถใช้กระบวนการขององค์กรเครือข่าย ที่เป็นสภาวิชาชีพ ซึ่งสามารถใช้อำนาจของสภาการฯ ที่ใหญ่กว่าสมาคมฯ มาก ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวอื่นๆ ในการรวบรวมข้อมูล เชิญนักข่าว ผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้ข้อมูลได้ เพื่อสังคมจะได้มีความชัดเจนว่า เป็นนักข่าวคนใด อยู่สังกัดสมาคมใด” จีรพงษ์ ระบุ

เมื่อถามถึง กรณีสมาชิกหากระบุว่าเงินที่รับอาจเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่ใช่เงินว่าจ้างในการทำข่าวลักษณะให้เสนอข่าวทางบวกถือว่าผิดหรือไม่ จีรพงษ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเป็นเรื่องนโยบายขององค์กรแต่ละแห่ง อย่างบางองค์กร ถ้ารับเงินค่าพาหนะ ซึ่งเป็นระบบราชการ เป็นเรื่องพื้นฐาน อย่างเช่นจากจังหวัดหนึ่งไปทำข่าวอีกจังหวัดหนึ่ง นโยบายบางสื่ออาจระบุว่า ไม่รับ เพราะมีเบี้ยเลี้ยงแล้ว แต่บางสื่ออาจไม่มีค่าพาหนะสนับสนุนการทำงาน ก็ถือว่าเป็นกติกาของแต่ละองค์กร แต่ถ้านอกเหนือจากอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการทำข่าว ต้องลงข่าวเชียร์ ก็เป็นเรื่องภายในองค์กรที่ต้องร่วมกันตรวจสอบคู่ขนานไปกับองค์กรวิชาชีพ เพื่อจะได้รู้ว่า เราไม่มีกติกาตรงนี้ ไม่มีระเบียบขององค์กร หรือฝ่ายบุคคลว่าด้วยเรื่องแบบนี้ ก็ควรต้องชัด แต่บางองค์กรก็จะมีแนวปฏิบัติ คู่มือในการกำกับดูแลนักข่าวของตัวเอง เป็นกติกาชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ตนอยากจะชวนให้ทั้งวงการ ไม่ใช่องค์กรสื่อ กลับไปสำรวจดูรั่วที่ต้องอุด หรือดูว่ามีกติกาหรือยัง ในการรับเงิน รับค่าโฆษณาต่างๆ ถ้าเรามีกติกาชัดเจน ก็จะตอบนักข่าวตัวเองได้ ตอบสังคม และคนในวิชาชีพได้ว่า เรารับ หรือไม่รับ เพราะกติกาเราเป็นแบบนี้ แต่พอมันเทาๆ มืดๆ มัวๆ อยู่อย่างนี้ จึงทำให้รู้สึกว่า ทุกกรณีหรือไม่ ที่นักข่าวห้ามรับ หรือต้องเว้นในบางกรณี 

นักข่าวในปัจจุบันมีเยอะมาก ทั้งนักข่าวอิสระ นักข่าวภาคประชาชน เป็นสื่อสังคมมากมาย ฉะนั้นถ้ามีกติกาในสื่อตัวเองจะเป็นเรื่องดี เราควรเอากรณีศึกษานี้มาเป็นบทเรียนว่าควรทำอย่างไร ถ้านักข่าวเราไปรับเงินแบบนี้ จะได้เป็นบรรทัดฐาน ว่าจะต้องเตือน สอบ หรือไล่ออก เป็นลำดับ

“การเข้ามาในอาชีพนักข่าว มีหน้าที่ตรวจสอบสังคม และการใช้อำนาจต่างๆ เราก็ต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการตรวจสอบตัวเอง องค์กรตัวเองด้วย จึงอยากเชิญชวน เพราะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราทำงานในวิชาชีพที่มีจริยธรรม ในองค์กรสื่อเองก็ควรมีความโปร่งใส เพื่อให้สมาชิกคนในวิชาชีพ และประชาชนสบายใจว่า เรามีระบบการตรวจสอบภายในกันเอง”

สำหรับการรับเงินบริจาคของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ จีรพงษ์ ระบุว่า มีหลักเกณฑ์ชัดเจน 1.หน่วยงานรัฐ เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมได้ เช่นฝึกอบรมนักข่าว ส่งเสริมศักยภาพ การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ เป็นต้น เมื่อเราเปิดโครงการ ผู้สนับสนุนหัวข้อนี้ก็จะเข้ามา โดยเราจะมีระบบบัญชีรับจ่ายชัดเจน

2. เราไม่รับเงินบริจาค ที่เรียกว่าภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้กระทั่งกิจกรรมในสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ฯ ที่จัดอบรมสัมมนา จะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กติกาเราชัดเจน ทั้งไม่รับเงินและเราไม่เลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ชัดเจนว่า เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ 

3. เงินที่กรรมการหรือใครก็ตาม เมื่อมีการเสนอเข้ามาอยากจะสนับสนุน เราตรวจสอบประวัติว่า มีคดีค้างอะไรบ้าง มีความโปร่งใสหรือไม่ มีเรื่องอะไรหรือไม่ ทำไมถึงต้องมาบริจาคให้สมาคมนักข่าวฯ ถ้ามีข้อสงสัยประการใดประการหนึ่ง เราก็ไม่รับ

เราจะไม่ทำองค์กรสื่อ ที่รับเงินบริจาคอะไรก็ได้ ซึ่งเราเคยเจอเคสหนึ่ง มีองค์กรมาขอบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสมาคม ก็มีสมาชิกบางท่าน ไปตรวจสอบพบว่า องค์กรนี้มีปัญหาเรื่องนี้ติดคดีหนึ่งอยู่ กรรมการบริหารก็ลงมติไม่รับ เพื่อความสบายใจของสมาชิกและการตรวจสอบในอนาคตด้วย หากคดีดังกล่าวถูกตัดสินมีความผิด มีเส้นทางการเงินบริจาคให้สมาคมนักข่าว เราก็จบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องตัดไฟแต่ต้นลมเลย 

ขณะที่ รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีรอง ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์ว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ได้ประชุมกันต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2566 คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพราะเราได้ข้อมูลเกือบครบถ้วนแล้ว

รศ.ดร.มนวิภา ได้อธิบายถึงกระบวนการทำงานด้วยว่า คณะกรรมการได้รวบรวมข้อมูล โดยเริ่มจากคำสัมภาษณ์ของรอง ผบ.ตร.ที่กล่าวถึงรายชื่อบุคคล จึงมีการตรวจสอบภายในว่า เป็นบุคคลใดบ้าง ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่รอง ผบ.ตร.เอ่ยถึง ซึ่งมีทั้งฝ่ายตำรวจ ทนายความ ฝ่ายสื่อมวลชนที่ถูกพาดพิงถึง และองค์กรต้นสังกัดที่ถูกพาดพิง เราได้ขอข้อมูลหลายรูปแบบ และเชิญตัวบุคคลมาให้ข้อมูล  ในส่วนของหน่วยงานต้นสังกัด ที่มีประเด็นว่าสื่อมวลชนคนใดถูกพาดพิง เราก็ได้สอบถามไปยังต้นสังกัด ซึ่งเขาก็มีการสืบสาวประเด็น หลังจากที่มีข่าวตั้งแต่ปลายปี เมื่อเราสอบถามไป เขาก็แจ้งผลมาทันทีว่าได้ตรวจสอบภายในเอง ก่อนที่คณะกรรมการจะตรวจสอบ เพราะฉะนั้น ตนก็มองว่าองค์กรต้นสังกัดก็คำนึงถึงปัญหาเรื่องนี้ และระมัดระวังพอสมควร

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการก็พบปัญหาและอุปสรรคคือ แม้เราจะมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่มีอำนาจในการไปสั่งให้เขามาได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ เป็นการทำงานที่ลำบากพอสมควร เพราะสื่อมวลชนที่ถูกพาดพิงบางคน ได้ออกจากสังกัดไปแล้ว บางคนเราไม่สามารถติดต่อได้ เพราะฉะนั้นบางทีเราก็ลำบากในแง่ความพยายามในการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด

ในส่วนขององค์กรต้นสังกัด ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบกับชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือขององค์กร อีกทั้งองค์กรสื่อเองก็มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ในการทำงานของผู้สื่อข่าว รวมทั้งการรับเงินสนับสนุน หรือสปอนเซอร์ต่างๆ

สำหรับรอง ผบ.ตร.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่คณะกรรมการพยายามจะนัดท่านมาตั้งแต่ต้นปี แต่ก็เข้าใจว่าด้วยเหตุของภารกิจที่ เวลาไม่สัมพันธ์กัน ก็อาจจะขอต้องข้อมูลในลักษณะการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ หรือในลักษณะเอกสาร เพราะเรามีกรอบเวลา ที่ต้องทำข้อเสนอต่อ 7 องค์กรที่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการระบุว่า มีเงินจากบัญชีม้าเข้าไปสู่นักข่าวจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการจะต้องตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ รศ.ดร.มนวิภา กล่าวว่า กรรมการคงไม่สามารถสอบไปถึงเรื่องบัญชีม้าได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องของตำรวจ ในส่วนของเรา จะตรวจสอบลักษณะที่ว่า ได้รับเงิน หรือไม่ได้รับ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่รอง ผบ.ตร.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์หรือไม่ 

ในมุมของนักวิชาการด้านสื่อ รศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ มองว่ากรณีที่สื่อถูกพาดพิง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคนในวิชาชีพสื่อรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พาดพิงจนชัดเจน น่าตกใจ เพราะเห็นในจากสื่อ ตอนที่ทนายความได้นำเสนอ เส้นโยงมายังสื่อ ซึ่งที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงการโปรโมทเว็บพนัน จะเป็นลักษณะอินฟลูเอนเซอร์ ที่เราเจอในโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ตอนนี้ พอเห็นเรื่องของการเชื่อมโยง แล้วเขียนชัดเจนว่ามีนักข่าว และสมาคมนักข่าวก็ตกใจ กลายเป็นว่า เรื่องอย่างนี้เข้าสู่ในวงการวิชาชีพแล้วหรือ 

ทั้งที่สื่อเองต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ จับตาความไม่ชอบมาพากลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการพนัน ยาเสพติด แต่กลับกลายเป็นว่า มาอยู่ในวงจรของเส้นเงินนั้นด้วย น่าจะเป็นเรื่องที่สังคมตื่นตระหนกตกใจระดับหนึ่งเหมือนกัน 

เพราะถ้าเป็นเรื่องของความโปร่งใส ทุกวันนี้สังคมเราพูดถึงความโปร่งใสขององค์กรทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของธรรมาภิบาลในการประกอบวิชาชีพ หรือธุรกิจอยู่แล้ว เพราะเป็นวิชาชีพสื่อเป็นคนอยู่ในฐานันดรที่คนยกย่องว่ามีอิมแพคสูงต่อสังคม เราก็คาดหวังเรื่องความโปร่งใส เรื่องหลักการทำงานที่เป็นอิสระ ต้องไม่ถูกโน้มน้าว จูงใจ หรือรอมชอมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ในการทำหน้าที่ พอมาเจอลักษณะนี้ ก็คิดว่าคนในวิชาชีพเดียวกันก็น่าจะตกใจเช่นกัน ขณะเดียวกัน พอสังคมคาดหวังต่อสื่อแล้ว เราจะให้ใครไปตรวจสอบใครได้เพราะตอนนี้ความโปร่งใสของวิชาชีพใด ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว

ส่วนความคาดหวังจากการตรวจสอบในเรื่องนี้ รศ.ดร.เสริมศิริ ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าผลจะออกมาแบบไหน เท่าที่ผ่านมาสังคมคงจะคาดหวัง 1.กระบวนการตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียน หรือข้อครหาต่างๆ ที่ผ่านมาเราหวังว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ลูบหน้าปะจมูก 

2.กระบวนการตรวจสอบต้องรวดเร็ว และมีความชัดเจนในการแถลงสู่สังคม ก็เข้าใจว่า ในแง่มุมต่างๆ ต้องถูกพิสูจน์ทราบทางกฎหมายในระดับหนึ่ง ฉะนั้นพอเป็นเรื่องเส้นเงิน ก็ต้องเกี่ยวพันกับกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่แน่ใจว่า คนที่ถูกกล่าวหา ได้ถูกกล่าวหาในทางกฎหมายหรือไม่ อาจจะต้องมีขั้นตอนที่ให้โอกาสเขาชี้แจง พิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะสามารถทำได้แค่ไหน

รศ.ดร.เสริมศิริ ระบุด้วยว่า แม้ในการทำงานจะมีการพึ่งพากัน ระหว่างนักข่าวที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่กับหน่วยงาน ทหารหรือตำรวจเพื่อไปทำข่าวในพื้นที่ต่างๆ แต่ถ้าให้เป็นเงิน เป็นค่าอาหาร แล้วบอกว่าให้ทุกครั้งที่ติดตาม ก็อาจไม่ชอบมาพากล กรณีนั้นก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ได้คลี่คลายในการรับรู้ของสังคม และเรื่องต่อมา ก็อาจไปซ้ำกรณีเดิม กลายเป็นประเด็นต่อเนื่อง  เรื่องของการดูแลสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีขึ้นมามานานแล้ว จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแหล่งข่าวบางกลุ่มไปแล้ว ยิ่งการทำข่าวในต่างจังหวัด พื้นที่ระยะทางมีข้อจำกัด ทุกวันนี้องค์กรสื่อ บางทีก็ไม่ได้จ้างบุคลากรแบบเป็นเงินเดือน มีค่าเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่อาจจะมีวงเงินให้บริหารจัดการ หรืออาจไม่มีให้ อาจเป็นลักษณะการจ้างเป็นชิ้นงาน ดังนั้นจุดนี้ก็พบว่ามีข้อจำกัด 

เท่าที่ได้ยินมา ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำข่าว ก็มีผลเช่นกัน แต่ถามว่าการรับเงินจากแหล่งข่าว เพื่อไปทำข่าว เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกในเรื่องอคติ ความใกล้ชิด จนอาจทำให้เกิดอคติที่ลำเอียง หรือการทับซ้อนทางผลประโยชน์ เพราะเขาเป็นคนดูแล สนับสนุน

เคยมีผลงานวิจัยที่พบว่า บางครั้งการใกล้ชิดดูแล ถึงอาจจะไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินก็ตาม ก็อาจจะเกิดทำให้เกิดการเบี่ยงเบนประเด็น ลดทอนความรุนแรงของประเด็นเนื้อหาของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นลงไป ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมของความเกรงใจ เป็นเรื่องพี่น้องกัน ยิ่งดูแล ก็ยิ่งมีความเกรงใจกันเข้าไปใหญ่ ก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง ที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่มีผลกระทบต่อข้อเท็จจริง ที่จะเสนอต่อสังคม 

ฉะนั้นตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็ไม่ควรรับ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ หรือค่าอาหาร ถ้าเป็นน้ำใจ เป็นน้ำดื่ม อาหารที่เลี้ยงรวมกัน ก็เป็นเรื่องปกติ สำหรับแนวปฏิบัติต่างๆ ของสภาการสื่อฯ หรือสมาคมนักข่าวฯ ที่ทำไว้ มีชัดเจน แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนในวิชาชีพนั้นๆ จะตระหนักแค่ไหน

รศ.ดร.เสริมศิริ ยังแสดงความห่วงใยและชี้ให้เห็นประเด็นสุ่มเสี่ยงที่สื่อจะต้องระมัดระวังด้วยว่า หากมีสื่อที่ปล่อยให้นักข่าวไปฝังตัวกับแหล่งข่าวเพื่อทำให้ได้รับรู้ข้อมูล เกิดความไว้วางใจ และก็ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น สายทหาร สายตำรวจ และไปฝังตัวกับคนที่เป็นบิ๊กเนมต่างๆ ทำให้เกิดความใกล้ชิดกัน จนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ฉะนั้นหน้าที่กองบรรณาธิการข่าว จำเป็นต้องคอยกำกับดูแลประเด็น ที่ออกมาจากนักข่าวกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ว่าเข้าข่ายมีความไม่ชอบมาพากล ในเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือไม่ และหน้าที่ขององค์กรสื่อ ต้องคอยมอนิเตอร์ กำกับดูแล กระทั่งวัฒนธรรมองค์กรด้วย ซึ่งหมายถึงต้นสังกัดของผู้สื่อข่าวนั้นๆ 

“เป็นเรื่องสำคัญ เท่าที่เคยคุยกับนักข่าวสายตำรวจ ทหาร การเมือง การที่เอานักข่าวประจำคนหนึ่ง ไปอยู่ในสถานที่ใด แหล่งข่าว บุคคลใดก็ตาม มันก็มีความจำเป็น เพราะต้องอาศัยความคุ้นเคย การเรียนรู้ การรู้จักสายบังคับบัญชาต่างๆ รู้เรื่องส่วนตัว เรื่องในหน้าที่ แต่ก็มีข้อพึงระวัง ถ้าสนิทสนมกันมาก ไปไหนมาไหนเรื่อยๆ ติดตามไปทุกที่ หรือมีความใกล้ชิด เลี้ยงดูปูเสื่อ ไว้วางใจกันมาก ก็จะกระทบต่อคอนเทนต์ที่จะออกมา”

“ดังนั้นการเปลี่ยน หรือเวียนนักข่าว อาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับการทำข่าวเชิงลึก แต่หน้าที่กองบก.คือ ต้องคอยกำกับเนื้อหา ที่ออกมาว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมหรือไม่ หรือเลือกเสนอบางประเด็น หรือไม่เสนอบางประเด็น ทำเป็นเบาๆ กลบเกลื่อน หรือไม่ ก็อาจจะต้องเปรียบเทียบกับสำนักข่าวอื่นๆ ว่าในประเด็นเดียวกัน องค์กรเรา แตกต่างจากชาวบ้านไหม หรือแม้กระทั่งวิธีการเลี้ยงดูปูเสื่อ อาจเฉพาะสื่อที่บิ๊ก เนม สื่อใหญ่ๆ มียอดนิยมสูง ก็อาจจะต้องคอยตรวจสอบตรงนี้ กำกับตรงนี้ด้วย” รศ.ดร.เสริมศิริ กล่าวและทิ้งท้ายว่า

ตอนนี้สังคมขาดแคลนข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นนี้ ที่กำลังมองหาว่า ใครจะเป็นคนเปิดประเด็น อยากเห็นแมลงวันตอมกันเอง เพราะจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นต้องเจาะลึก ถึงเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน ว่าไปสู่นักข่าว และสมาคมนักข่าวมีที่มาเป็นอย่างไร เราขาดแคลนข่าวลักษณะนี้มาก ก็หวังว่าเรื่องนี้ น่าจะเจาะได้ ซึ่งจะเป็นคุณูปการจากกับวงการสื่อมาก และเรื่องนี้หลังจากที่มีการสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ก็หวังว่าประเด็นนี้จะไม่หายเงียบไป น่าจะมีแถลงการณ์ออกมา และผลสรุป น่าจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า แค่ระบุว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วจบไป และหวังว่าองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพ ควรจะเทคแอ็กชั่นกับบุคลากรของตัวเองต่อไป.