นักกฎหมายแนะนำการรายงานข่าวประเด็นคลุมเครือกรณี “ตร.-บ่อนฯ” สื่อมวลชนควรศึกษา ค้นหาข้อมูล กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก ระเบียบหน่วยงาน และแง่มุมกฎหมายพิเศษ รวมถึงต้องค้นข้อมูลเกี่ยวข้องรอบด้าน เพื่อให้การนำเสนอข่าวปมขัดแย้งเห็นต่างในกระบวนการยุติธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม แนะประชาชนตรวจสอบสื่อหลายแหล่งก่อนเชื่อ ขณะที่นักวิชาการแนะประเด็นซับซ้อนหลายมิติ สื่อใช้รูปแบบการนำเสนอข่าวได้หลากหลาย เพิ่มคุณค่าข่าว ทั้งเชิงวิเคราะห์ เชิงสืบสวนสอบสวน และใช้แหล่งข่าวนอกวงขัดแย้ง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 ออกอากาศทางคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5 พูดคุยเรื่อง “การรายงานข่าวประเด็นคลุมเครือ กรณีศึกษา ตร.-บ่อนฯ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ปมขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีตำรวจดำเนินคดีตำรวจ ที่ขยายผลมาจากคดีเว็บพนันออนไลน์ กระทั่งนำมาสู่การออกหมายจับตำรวจจำนวนหนึ่ง และออกหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่าง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ซึ่งรับผิดชอบคดี ที่ระบุว่าอำนาจในการสืบสวนสอบสวนอยู่ในมือของตำรวจ ขณะที่ทีมทนายความของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยืนยันว่าคดีนี้ต้องไปในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทั้งสองฝ่ายได้มีการกล่าวหากันไปมา ถึงประเด็นเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับแก๊งพนันออนไลน์ รวมทั้งกล่าวอ้างว่า มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหา เพื่อให้มีผลต่อการแต่งตั้ง ผบ.ตร.
ประเด็นสำคัญ ที่ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันถึงหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้กลายเป็นความสับสนในสังคมว่า คดีอาญาเกี่ยวกับข้าราชการระดับสูง หน่วยงานใดระหว่างตำรวจ หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ จนในที่สุด ป.ป.ช. ได้มีมติรับคดีนี้ไว้ไต่สวนเอง
ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวประเด็นนี้ จึงเกิดความคลุมเครือ เมื่อตำรวจทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันในกระบวนการยุติธรรม
ยึดหลัก รัฐธรรมนูญ – กฎหมายลูก – ระเบียบหน่วยงาน
ประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ อธิบายถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีร้อนเรื่องนี้เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนตั้งหลักได้ถูกต้องว่า เบื้องต้นต้องยึดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในบทบัญญัติ มาตรา 234 (2) ระบุถึงอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูกฎหมายลูกประกอบ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ในมาตรา 61 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใด ๆ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น แล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ
นี่คือหลักกฎหมาย ที่ต้องยึดหลักปฏิบัติตามมา ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ได้มีระเบียบรองรับ กระบวนการไต่สวนบุคคลที่มีตำแหน่งระดับใดจึงจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยมีการระบุแนวทางปฏิบัติไว้ เช่น นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากทำผิดกฎหมายอาญาจะอยู่ในข่ายอำนาจของ ป.ป.ช. โดยแบ่งระดับไว้ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูง หรือ ซี 8 ขึ้นไป ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน ชี้มูล ว่าบุคคลที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ มีความผิดหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย คือกรณีกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรียกรับ ยอมจะรับทรัพย์สิน ป.ป.ช.ก็มีอำนาจไต่สวน สอบสวนเช่นกัน
ชี้แง่มุมกฎหมายพิเศษอำนาจ ป.ป.ช.
ดร.วิเชียร ย้ำว่า ถึงแม้จะมีกรณีที่มีคนไปร้องทุกข์คดีลักษณะนี้ต่อตำรวจ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนเบื้องต้น แต่ภายใน 30 วันต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ต้องรับเรื่องไว้ไต่สวนหรือไม่
เช่นเดียวกัน ในมุมอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ถึงแม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ถึงขั้นส่งฟ้องศาลได้ แต่เมื่อมีกฎหมายพิเศษแบบนี้ และเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกรณีนี้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เปรียบเทียบก็เหมือนกับเขตอำนาจศาล ว่าจะต้องฟ้องที่ศาลใด ศาลอาญาทั่วไป หรือศาลอาญาทุจริต ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติการณ์นั้นๆ
สำหรับระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 8 (2) ที่ระบุว่า สามารถมอบหมายพนักงานสอบสวน ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28 (2) และ (4) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 61 และมาตรา 63 นายกสภาทนายความ ระบุว่า ตามระเบียบนี้ ถ้าเรื่องเข้าสู่ ป.ป.ช.จะไต่สวนเอง หรือมอบพนักงานสอบสวนไปดำเนินการแทนก็ได้
ต้องค้นข้อมูลเกี่ยวข้องรอบด้าน
กรณีความสับสนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับคดีนี้ นายกสภาทนายความฯ ระบุว่า คงโทษสื่อไม่ได้ เพราะสื่อเองก็รับข้อมูล 2 ด้าน ก็ต้องมีข้อยุติว่าใครมีอำนาจสอบสวนกรณีดังกล่าวได้ ซึ่งบทสรุปที่เป็นข้อยุติตอนนี้ ป.ป.ช.ก็มีมติรับเรื่องไว้ไต่สวนแล้ว ซึ่งก็มีรายละเอียดอีกว่า กรณีคนที่ถูกร้องทุกข์ หรือถูกกล่าวหา ต้องเป็นระดับตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง หรือซี 8 ขึ้นไป (รอง ผบ.ตร.เทียบเท่าระดับ 10) และหากมีผู้ถูกกล่าวหา ในข้อหาเดียวกันหลายคน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับต่ำกว่าซี 8 ถ้าพฤติการณ์แห่งคดี เป็นการร่วมกัน ช่วยเหลือกัน หรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิด ทุกคนจะต้องถูกพ่วงเข้าไปด้วย คือไปทั้งยวง
นายกสภาทนายความฯ มีข้อแนะนำสำหรับสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่รายงานข่าวลักษณะนี้ว่า ก่อนรายงานหากค้นหาข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รอบด้าน จะช่วยให้รายงานได้ถูกต้อง เพราะกรณีเกิดขึ้นแต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลของตัวเอง แต่ถ้าสื่อเอาหลักกฎหมายเข้ามาจับ จะทำให้การนำเสนอข่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
แนะปชช.อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องตรวจสอบซ้ำ
เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ก็ต้องมีข้อสังเกตด้วยว่า ในการเสนอข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากได้รับข้อมูลจากแหล่งหนึ่งแหล่งใด ไม่ว่าสื่อหรือไม่ ก็ต้องคำนึงว่า ในเรื่องนี้มีหลายมิติ เมื่อฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะแหล่งข่าวให้ข้อมูลฝั่งตัวเอง หรือสื่อแต่ละสำนักที่ไปสัมภาษณ์ความเห็นแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน และมีความเห็นแตกต่าง
ดังนั้นในฐานะประชาชน จึงอย่าเพิ่งเชื่อ ว่าใครถูกใครผิด แต่ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ค้นหาข้อมูลจาก ป.ป.ช. หรือตำรวจ หรือออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และหากยังไม่สะเด็ดน้ำ สภาทนายความฯ ก็มีทนายอาสาที่มีข้อแนะนำกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย
เบื้องหลังเชิงลึก อุปสรรคสื่อนำเสนอ
ทางด้านมุมมองนักวิชาการ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ระบุว่า ในฐานะผู้ติดตามข่าว ส่วนหนึ่งเมื่อรู้ว่ามีเรื่องเกิดขึ้นระหว่างตำรวจกับตำรวจจึงอยากให้เรื่องนี้สะท้อนว่า ในท้ายที่สุดหลายๆ เรื่อง หลายๆ เหตุการณ์ ที่ต่อเนื่องยาวนาน เมื่อติดตามไปถึงตอนจบ ก็จะพบว่าไม่แตกต่างจากที่เราคิด เรื่องแบบนี้เหมือนมีแพตเทิร์นที่คล้ายกัน
เรื่องราวเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ข้อมูลยังมีความคลุมเครือ กรณีศึกษาเรื่องนี้ควรต้องรายงานข่าวอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว ที่เริ่มต้นจากคดีมินนี่ (เว็บพนันออนไลน์) ซึ่งคดีก็เงียบไป และมีดราม่าเกิดขึ้นเป็นระยะ ลักษณะเหมือนปิดกระแสบางเรื่องแต่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้รับสาร ซึ่งคนก็เริ่มรู้สึกเสียเวลาในการรับข่าวสาร ที่คาดหมายปลายทางได้ว่า จะเป็นอย่างไร หลายๆ เรื่องก็มีฟอร์แมตแบบนี้
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับคนทำสื่อ และประเด็นเกี่ยวกับผู้รับสื่อ ตนเชื่อว่า ในวงการสื่อเอง รู้ว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้ ความจริงคืออะไร แต่อาจไม่ได้นำเสนอ หรือเผยแพร่ ถ้าดูดีๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็ได้ ซึ่งไม่เฉพาะอำนาจเรื่องการให้คุณให้โทษทางด้านการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจ ในทางธุรกิจ ที่อาจจะเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูสื่อ
อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อมั่นในฝีมือของสื่อ แม้ท้ายที่สุดสื่อก็อยู่ภายใต้วัฏจักร หรือวงจรของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จึงอาจทำได้เท่าที่มองเห็น
ในการนำเสนอ ที่เรียกว่าเป็นข่าวปิงปอง ทั้งหมดทั้งมวลส่วนใหญ่ 100 เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์ข่าว จะเป็นความคิดความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ควรนำมาเผยแพร่ จึงออกมาในรูปแบบไม่ได้เปิดเผยความจริงโดยคนสื่อ แต่ข้อมูลที่นำเสนอทุกวันนี้ เป็นความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในข่าว
“เรามีรายการมากมายที่เป็นเรื่องการวิเคราะห์ รายการเบื้องหลัง แต่ท้ายที่สุด แม้แต่รายการที่เป็นเชิงวิเคราะห์ แต่ปรากฏว่า ใช้วิธีนำฟุตเทจของการให้สัมภาษณ์จากแหล่งข่าว แล้วนำมาเชื่อมต่อกัน แล้วบอกว่าเป็นการวิเคราะห์ ทั้งที่ไม่ใช่การวิเคราะห์ แต่คือความเห็นของแหล่งข่าว ฉะนั้นในแง่ของคนข่าว หากจะทำให้ข่าวนี้ได้ประโยชน์กับผู้ชม หรือผู้ติดตามมากขึ้น และเพื่อดึงคนที่เบื่อหน่ายการติดตามดูเรื่องอะไรที่ยาว หากทำให้เรื่องกระชับ โดยเอาข้อเท็จจริงที่ไม่เหมือนสำนักสื่ออื่นที่นำฟุตเทจที่แหล่งข่าวพูดมาต่อๆ กัน ก็จะน่าสนใจ
สื่อเลือกรูปแบบรายงานข่าวได้หลากหลาย
เมื่อถามถึงกรณีที่ประเด็นข่าวคลุมเครือ สื่อควรจะรายงานอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า หลักการในด้านงานข่าว ที่ต้องรายงานอย่างตรงไปตรงมา แต่รูปแบบการรายงาน ก็ไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีรูปแบบการรายงานแบบวิเคราะห์ หรือแบบตีความ หรือเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งปัจจุบันมาถึงขั้นที่ว่า Information data journalism ลักษณะเป็นการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในรูปแบบที่เป็นอินโฟกราฟิก ฯ ฉะนั้นมีหลายรูปแบบที่นำเสนอได้ อย่างไรก็ตาม ความคิดความเห็นก็ยังมีบทบาทความสำคัญ ยังมีความจำเป็น เพราะอย่างน้อยที่สุด มันได้ฟังเสียงว่า คนที่เกี่ยวข้อง หรืออยู่ในไลน์ของข่าวนั้น เขามีความคิดเห็นอย่างไร
รศ.สุรสิทธิ์ เน้นย้ำว่า สิ่งที่สื่อต้องเติมเต็มคือการมีแง่มุมของข้อเท็จจริงที่ต้องใส่เข้าไป ตรงนี้ทีมข่าวจะต้องค้นหามาเพิ่มเติม เพราะไม่ได้อยู่ในคำพูด คำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าว ฉะนั้นจึงต้องมีหลังบ้าน หรือทีมงานที่คอยสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งมีทางออกอีกแบบหนึ่ง
พร้อมกันนี้ รศ.สุรสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่างจากการช่วยประเมินรายการทีวีรายการหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบรายการวิเคราะห์ ประเด็นปัญหาการศึกษาของประเทศไทย ขณะที่สื่อได้ทำหน้าที่ ในฐานะคนเป็นกลาง คือฟังความที่หลากหลายรอบด้าน โดยเชิญทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฎว่าได้มีการตั้งคำถาม 2 ฝ่ายในการให้สัมภาษณ์ แล้วนำข้อมูลของแหล่งข่าวมารวมกัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือ ส.ส.ฝ่ายค้าน ปรากฏว่าเรื่องที่มาเจอกัน เป็นเรื่องสุดโต่งคนละขั้ว จนไม่มีทิศทางและไม่มีทางออกให้กับสังคมและประเทศชาติ
หาแหล่งข่าวผู้รู้ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ดังนั้น รูปแบบที่ดีคือ แหล่งข่าวจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในข่าวเสมอไป ต้องเป็นคนที่มีองค์ความรู้จริงๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่กำลังเป็นประเด็น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ฟังคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราต้องฟังด้วย ในมุมที่จะนำมาวิเคราะห์เรื่องนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้หาแง่มุมได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญหลายวงการมักจะเอียงข้าง อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่เชื่อมั่นคนสื่อจริงๆ จะรู้ว่าใครอยู่ข้างไหนด้วยซ้ำ เรื่องนี้ก็ต้องระวังเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจุบันนี้ คนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น.