“อาชีวปฏิญาณ” ของคนสื่อ ต้องยึดมั่นในจริยธรรมของนักวิชาชีพสื่อมวลชน
“บรรยงค์” กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ เคลียร์ปมความต่าง “สื่อมวลชน-สื่อสังคม” อธิบายหลัก “อาชีวปฏิญาณ” คำมั่นในจริยธรรมของนักวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง วิชาชีพ สังคม ความมั่นคงชาติ ด้าน “นักวิชาการ” ชี้ การกำหนดวาระข่าวสารของสื่อ ทำได้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ขณะที่ “นักวิชาชีพ” หวังสื่อร่วมกันเชื่อมต่อ “ข่าวดี ๆ” ให้ขยายวงกว้างในสังคม เป็นภาพสะท้อนหน้าที่มืออาชีพ
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เมื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่สื่อมวลชน” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อศินา พรวศิน บรรณาธิการบริหาร เดอะ สตอรี่ ไทยแลนด์ ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง อธิบายความหมาย “สื่อสังคม” หรือโซเชียลมีเดีย ว่ามีความต่างจาก “สื่อมวลชน” หรือแมสมีเดีย ดังนี้
“สื่อสังคม” คือบุคคลทั่วไปใช้สื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ในการสื่อสาร แสดงออก ระบายความรู้สึก ที่ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น เคารพการใช้สื่อสาธารณะร่วมกัน เช่น การใช้ถ้อยคำสุภาพ ฯ
“สื่อมวลชน” คือบุคคลมีอาชีพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทั้งที่เป็นสื่อดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งทุกวันนี้แพร่ภาพในระบบดิจิทัล ไปจนถึงสื่อออนไลน์ แพลตฟอร์มต่างๆ
สรุปสั้นๆ “สื่อสังคม” คือใครก็ได้ ที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ส่วน “สื่อมวลชน” คือบุคคลที่มีอาชีพในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร
ในความเหมือนทางการสื่อสาร ระหว่างสื่อสังคมและสื่อมวลชน ก็คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ไปละเมิดผู้อื่น เคารพการใช้สื่อออนไลน์ที่สังคมเห็นว่าเป็นการใช้สื่อสาธารณะร่วมกัน แต่สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบมากกว่านั้น เป็นความรับผิดชอบที่สั่งสมมานานนับร้อยปี ในการขายข้อมูลข่าวสาร จนสังคมให้การยอมรับข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ ว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่เชื่อถือได้ หรือเป็นความเห็นบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ด้วยเหตุนี้สื่อมวลชนจึงเป็นวิชาชีพ โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ เหมือนแพทย์ ทนายความ สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี เพราะส่งผลกระทบต่อสังคมเหมือนกัน
เห็นได้จากในอดีตที่สื่อมวลชนใช้ข้อมูลข่าวสารสร้างความเกลียดชัง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในหมู่คนไทยด้วยกันมาแล้ว สื่อมวลชนจึงต้องมีเครื่องยึดมั่น เหมือนวิชาชีพอื่นๆ นั่นคือ “จริยธรรมวิชาชีพ” ซึ่งเป็นความรับผิดชอบในระดับต่าง ๆ
ขยายความให้ชัดคือ สื่อมืออาชีพ ต้องมีตั้งแต่ ความรับผิดชอบทั่วไป เคารพสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การได้มาซึ่งข่าวสาร ข้อมูล โดยไม่ไปละเมิด ถัดไปเป็น ความรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น ประกอบสัมมาชีพ คือความซื่อสัตย์ ซึ่งตรงกับคำว่า Integrity คำนี้ลึกซึ้งกว่าคำอื่นอย่างไรบ้าง ได้แก่ ละเว้นอามิสสินจ้าง ประโยชน์ทับซ้อน ความถูกต้อง และข้อเท็จจริง
ความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ซึ่งแต่ละวิชาชีพก็ จะยึดจริยธรรมข้อใดก็ตาม ที่จะรักษา และส่งเสริมวิชาชีพของตนเองมาใช้ เช่น ทนายความ รักษาความลับลูกค้า นักบัญชี ไม่แต่งเติมตัวเลขให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง เป็นต้น ฉะนั้น ความรับผิดชอบต่อวิชาชีพของสื่อมวลชน คือความสมดุล และเป็นธรรม การปกปิด และเคารพแหล่งข่าว การแก้ข่าวเมื่อเกิดข้อผิดพลาด การแยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นออกจากกัน
ถัดไปเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึงประโยชน์สาธารณะ การไม่เป็นผู้ทำร้ายสังคมเสียเอง เช่น ข่าวสารที่ไม่เป็นการส่งเสริมความหลงเชื่อ อันนี้ต่างกับความเชื่อทางศาสนา หลงเชื่อ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่งมงาย ตัวอย่าง ข่าวก่อนวันหวยออก กราบไหว้ต้นไม้ สัตว์ฯ เพราะอาศัยพื้นฐานปุถุชนวิสัยมาขายข่าว ความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับนี้ รวมถึงขอบเขตของศีลธรรม และวัฒนธรรมที่ไม่เป็นภัยแก่สังคมด้วย
ระดับสุดท้าย ความรับผิดชอบต่อความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันมีให้เห็น แต่อยากให้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะสื่อมวลชนคือคนที่เติบโต ทำงานในอาณาเขตประเทศ การแยกแยะเหตุการณ์ที่เกิด ระหว่างหน้าที่การนำเสนอข่าวสาร กับความมั่นคงของชาติ อะไรควรไม่ควรรายงาน อะไรรายงานได้ ยกเว้นเรื่องที่เป็นภัย ยังไม่ถึงเวลารายงาน ข้อนี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานพอสมควร
สรุปคือ สื่อมวลชน เป็นวิชาชีพที่มีจริยธรรมประจำสถาบัน เรียกสัั้น ๆ ว่า “อาชีวะ”ที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าการเลี้ยงชีพด้วยการทำมาหากิน ส่วน “ปฏิญาณ” มีความหมายตรงตัวแล้วคือ ให้คำมั่นสัญญา
เมื่อสมาสกันเป็น “อาชีวปฏิญาณ” นั่นคือ คำมั่นในการยึดเอาจริยธรรมวิชาชีพของตน ในที่นี้คือ จริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นที่ตั้ง นั่นเอง
บรรยงค์ ยังระบุว่า อาชีวปฏิญาณที่เกี่ยวกับสื่อมืออาชีพ ที่ทำงานในวิชาชีพนี้ เราเคยปฏิเสธการมีกฎหมายบังคับใช้ เหมือนวิชาชีพอื่น ๆ เพราะอาชีพสื่อมวลชน ที่ (รัฐ) จะให้มีกฎหมายคือจบนิเทศศาสตร์ แต่เราก็เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ใครก็ได้สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ไม่ว่าจะจบสาขาวิชาใดมา แล้วก็ประกอบวิชาชีพนี้อย่างมีความรับผิดชอบ มีให้เห็นจำนวนมาก เราจึงปฏิเสธเรื่องนี้ไป ตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญปี 2535 ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่มีบทบัญญัติ กฎหมายวิชาชีพสื่อมวลชน
ชี้หากไร้จริยธรรมไม่ถือเป็นสื่อมืออาชีพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพมาจากหลากหลายสาขาวิชา หลากหลายความรู้เรื่องต่างๆ หากคนเหล่านี้ไม่ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพ หรือไม่มีอาชีวปฏิญาณ เขาก็เป็นเพียงคนที่มีอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นสื่อมืออาชีพแต่ประการใด
บรรยงค์ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า เมื่อครั้งที่เขายังสอนหนังสือที่ สวนสุนันทา นักศึกษาปี 1 ในสาขาวิชาวารสารศาสตร์ทุกคน หลังพิธีไหว้ครูเสร็จ จะมีการปฏิญาณตน และลูกศิษย์เหล่านั้น ในเวลานี้ก็ยังอยู่ในวงการสื่อมวลชน ที่ยังติดตามดูอยู่
เมื่อถามถึง การหยิบยกเรื่อง “อาชีวปฏิญาณ” ของเขาในฐานะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ ไปถกเถียงในวงกว้างกรณีนิยามสื่อมวลชน กับสื่อสังคม บรรยงค์ อธิบายว่า การฝักฝ่ายของสื่อ ถ้าระบุตัวเองชัดเจนว่าเลือกข้างไหน ไม่เป็นไร เมื่อสาธารณะรู้ สังคมรู้ เขาก็เลือกที่จะเสพสื่อนั้น ๆ แต่จะมีสื่อที่ไม่เปิดเผยตัวเองชัดเจนมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จึงเห็นว่าจำเป็นในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ จึงโพสต์ไป ฉะนั้น ปกติถ้ามีเรื่องใด เวลาโพสต์ จะระบุชื่อทุกอย่างหมด จะไม่ตำหนิ จะแสดงความเห็นเพื่อบอกให้รู้ว่า มีผลกระทบอะไร น่าจะพิจารณา หรือระวังอะไร อย่างไร เท่านั้นเอง
บรรยงค์ เน้นว่า เพื่อตอกย้ำคนที่มีอาชีพสื่อด้วยกันมากกว่า แม้จะมียูทูบเบอร์ (3 คน) นำเรื่องนี้ ไปพูดในทางตลกขบขัน ดูแคลนอาชีพสื่อมวลชน แต่อยากจะเผยแพร่ให้เห็นว่า เราใช้วิธีการให้ข้อคิดดีกว่า ให้ข้อมูลกับคนทั่วไป ให้เข้าใจว่า อาชีพนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร น่าจะดีกว่า จึงไม่ได้โต้ตอบ
เมื่อถามถึง ความเข้าใจของคนในสังคมว่าใคร ๆ ก็เป็นนักข่าวได้ มองว่าระหว่างกลุ่มคนข่าวมืออาชีพ กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคนข่าว แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร บรรยงค์ อธิบายว่า ฟรีแลนซ์ หรือสื่อมวลชนอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีสังกัด แต่เป็นสื่อมืออาชีพได้ ถ้ามีอาชีวปฏิญาณ และคนกลุ่มนี้ บ้านเราเริ่มขยายตัวมากขึ้น และที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ มีอยู่ ส่วนอีกกลุ่ม ไม่ได้มีอาชีพสื่อมวลชน แต่เขาอาศัยอาชีพสื่อมวลชน
สื่อสังคมธุรกิจ พัฒนาสู่สื่อมืออาชีพได้
ต่อข้อถามว่า การนำเสนอคอนเทนต์ของ UGC : User-generated Content ที่ไม่ใช่ข่าว แต่โพสต์บนแพลตฟอร์มแล้วมีรายได้ ทำให้มีหลักว่า ทำอะไรก็ได้ เพื่อให้คนเข้ามาดูเยอะๆ แล้วมีรายได้ เด็กรุ่นใหม่ที่จบออกมาจึงอยากเป็น อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ วัฒนธรรมของสังคมเช่นนี้ มองอย่างไร บรรยงค์ ระบุว่า ลักษณะนี้ มีอีกคำที่เคยใช้ คือเป็นสื่อสังคมธุรกิจ หรือสื่อสังคมเชิงพาณิชย์ เพราะเขาจะมีรายได้จากยอดดูต่างๆ ถ้าเขามีอาชีวปฏิญาณ การพัฒนาของเขาจะเป็นสื่อมืออาชีพได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะใช้วิธีการตลาด มีสีสัน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเรื่องปกติ แต่เขายังมีความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม บรรยงค์ ระบุว่า ที่สุดก็ต้องเป็นเรื่อง Media literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) พร้อมกันนี้เขาได้เน้นย้ำถึงลูกศิษย์ เพื่อนร่วมวิชาชีพ ถึงการเป็นสื่อมืออาชีพด้วยว่า ทำได้ 3 ข้อคือ 1.มีจริยธรรม 2.มีความรับผิดชอบ 3.พัฒนาตน ไม่ลืมตน ใฝ่รู้ หาความรู้ตลอดเวลา เพราะตัวเองต้อง Literacy ก่อนคนอื่ีนจะ Literacy
นักวิชาชีพหวังสื่อช่วยกันเชื่อมต่อข่าวดี
ด้านนักวิชาชีพ เจ้าของสื่อออนไลน์ยุคดิจิทัล อศินา พรวศิน มีมุมมองว่า นักข่าว หรือสื่อมวลชน กับผู้เสพสื่อ เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน ผู้ชม หรือคนนอกที่มองเข้ามายังผู้ผลิตข่าว เมื่อเห็นคอนเทนต์ที่ดี ก็ชื่นชมนักข่าว แต่หากคอนเทนต์ไม่ดีก็ตำหนินักข่าว
ทั้งนี้ในความรู้สึกของนักข่าวทุกคน พอมีคอนเทนต์ไม่ดีขึ้นมา แล้วเป็นกระแสไม่ดี ก็จะต่อว่านักข่าว คนที่เป็นนักข่าวก็จะรู้สึกว่าเป็นเรา เพราะเราเป็นนักข่าว แต่พอมีคอนเทนต์ดีๆ มีคนชื่นชม เราก็จะไม่กล้าบอกว่าเป็นเรา แต่ก็ชื่นชมคอนเทนต์นั้นๆ
ฉะนั้นเราจะเปลี่ยนให้เขามองเราอย่างไรก็อยู่ที่คอนเทนต์ ข่าวที่เรานำเสนอ ไม่ได้มีข่าวเดียว ไม่ได้มีแค่มาสเตอร์พีซ เพราะเมื่อมีกระเแสข่าวใหม่มา คนก็ไปดูประเด็นใหม่ สิ่งที่สื่อมวลชนทำได้ คือพยายามสร้างจุดเพื่อเชื่อมต่อข่าวที่ดีๆ ที่มีอิมแพค เป็นประโยชน์ต่อใครสักคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่อาจได้ประโยชน์จากสื่อ หรือกลุ่มด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงโอกาส ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นข่าวที่ดี หลายๆ ข่าว ส่งออกไปเรื่อยๆ ก็เป็นการเชื่อมต่อแต่ละจุดออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ทำให้ภาพของสื่อต่างๆ ที่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี กระจายร่วมกัน เหมือนจุดเทียนกระจายเป็นหย่อมๆ เมื่อมองเข้ามา ก็จะเห็นแสงสว่าง เราไม่ต้องเป็นแบบสปอตไลท์ แต่ละสื่อช่วยกันจุด เมื่อมองเข้ามา ก็เห็นความสว่างร่วมกันได้ แบบนี้น่าจะเปลี่ยนความรู้สึกของคน ที่มองกลับเข้ามายังผู้สื่อข่าวได้
แนะผู้บริโภคเสพข้อมูลก่อนตัดสิน
เมื่อถามถึงในส่วนของสื่อ ที่มีทั้งสื่อมืออาชีพ และที่เรียกตัวเองว่าสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคม (ที่มีเต็มไปหมด) ในมุมมองของผู้บริโภค ในฐานะสื่ออาชีพ มีข้อสังเกตใดที่จะแนะนำผู้บริโภคว่า นิยามแบบใดคือสื่อมืออาชีพ และสื่อโซเชียล อศินา อธิบายว่า สิ่งแรกผู้ที่เสพข่าวหรือคอนเทนต์ อยากให้รู้ว่า เราเสพคอนเทนต์ก่อน เราอย่าเพิ่งมีอารมณ์ อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออย่าเพิ่งตัดสิน ถ้าจะตัดสินด้วยอารมณ์ หรือความเชื่อ เชื่ีอแล้วตัดสิน หรือมีอารมณ์ร่วม หรือมีอารมณ์ต่อต้าน แล้วตัดสิน คือให้เหมือนเป็นข้อมูลที่เรารับรู้ ในฐานะผู้เสพสื่อ เพราะแม้จะเป็นผู้สื่อข่าว แต่ก็เป็นผู้เสพข่าวด้วยเช่นกัน ทั้งจากสื่อมวลชน และสื่อสังคม
ต้องมีสติในการเสพ อย่าเพิ่งเชื่อ หรือมีความรู้สึกกับข้อมูลนั้นๆ แต่ให้ตั้งคำถามเบสิคว่า ทำไม อะไร อย่างไร และเอ๊ะ ถึงที่มาของข้อมูล ได้มาอย่างไร ละเมิดใครหรือไม่ นำเสนอโดยใคร มีการตรวจสอบข้อมูลหรือยัง พอเราเช็คลิสต์ได้ว่า ข่าวนี้น่าเชื่อถือ เราก็สร้างภูมิให้กับตัวเองได้ แต่ไม่ต้องปฏิเสธการรับข่าวสาร แต่ดูให้จบก่อนสรุปทีเดียว แล้วระหว่างดู เราเห็นตรงไหนที่ข้อมูลที่ขาดไป หรือแปลกๆ ก็จะทำให้เราเสพแบบไม่เอาตัวเองกระโจนเข้าไป แล้วถูกข้อมูลนั้นทำร้ายตัวเอง
เมื่อถามต่อว่า ในยุคนี้ที่สื่อมีมากมาย ข่าวสารเหมือนกันทุกสำนัก รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นทำอย่างไรจะให้คนรู้สึกว่า ข่าวของเรามาตรฐานสูง และความยากง่ายในการทำข่าวยุคนี้เป็นอย่างไร อศินา ระบุว่า ยากมาก เนื่องจากกระแสที่เหมือนกับน้ำไหลไปเรื่อยๆ 1.คอนเทนต์ มีกระแสเกิดขึ้น มีข่าวเกิดขึ้นเยอะ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาก 2. มีคนช่วยรายงานข่าวเยอะมาก สื่อกระแสหลักก็รายงานแข่งกันเรียลไทม์ ใครอัพเดตข่าวได้ก่อน 3.เรามีผู้ที่ไม่ใช่ผู้สื่อข่าว แต่มีสื่อออนไลน์ มีช่องทางของตัวเองช่วยอัพด้วย
เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราจะรายงานแบบนี้ ก็ต้องแข่งกันที่ความเร็ว ซึ่งการจะสร้างความแตกต่าง จะต้องมีอะไรมากกว่า ในขณะที่แข่งความเร็ว กับอีกทาง แข่งที่ความลึก ซึ่งต้องใช้เวลา ก็ต้องเวทกันที่เวลา ต้องทันด้วย แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องลึก
อศินาอธิบายว่า 1.ในการจะทำสกู๊ปบางเรื่อง ต้องใช้เวลา แต่ไม่ใช่ Out ออกไปเลย กับอีกเรื่อง คือ Out ออกไปเลย คือเรื่องแบบนี้ก็มีด้วย เพิ่งรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้ ข้อมูลชิ้นนี้ดีมาก ก็จะอยู่ที่ บก. หรือเจ้าของสื่อ ยอมเสียเวลาพัฒนา เพื่อให้ได้ผลงานดีๆ ออกมาสักชิ้น
2.อยู่ที่วิสัยทัศน์ด้วยว่า สิ่งที่เราทุ่มเทวิจัยพัฒนา ตรงตามตลาดหรือไม่ เพราะถ้าตรงเราก็เกิด อาจจะดังจากข่าวที่เราซุ่มทำไว้ กับถ้าซุ่มแล้วไม่มีวิชั่น มองตลาดไม่ขาด เราก็แป้ก ถ้าแข่งเรื่องเวลาอย่างเดียว เราก็กลืน เนื่องจากมันเหมือนกันหมด ไม่มีผู้ชมผู้ฟังจำได้
ยิ่งไม่ใช่สื่อหลัก หรือต่อให้เป็นสื่อหลักเสนอเรื่องเดียวกัน คนก็จะจำไม่ได้ว่า ได้ยินเรื่องนี้จากสื่อไหน แต่ถ้าเรานำเสนอเรื่องที่สื่ออื่นไม่นำเสนอ หรือเสนอบางเรื่องจนเหมือนเป็น Represent ของเรา คือสื่อนี้่ จะทำเรื่องนี้
อย่าง เดอะ สตอรี่ ไทยแลนด์ คนก็จะบอกว่าทำสตาร์ทอัพเยอะ สัมภาษณ์เยอะ เป็นต้น ขณะที่ข่าวเรียลไทม์ เราก็ต้องทำด้วย ตัวเราเองก็ต้องซ้อมวิ่งด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อของการทำข่าว หรืออยู่ในกระแส มาเป็นองค์ประกอบของเซลล์ร่างกาย หรือองค์ประกอบของการทำบางเรื่อง ถ้าเราไม่ได้วิ่งอยู่ในกระแส เราก็จะมองประเด็นบางเรื่องไม่ออก
อศินา ทิ้งท้ายว่า การทำสื่ออาชีพ มันตอบโจทย์ การเป็นสัมมาอาชีพที่เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ และตอบโจทย์ชีวิต ความรู้สึก ทำแล้วมีความหมาย และสร้างรายได้ ถ้าหาอย่างนี้เจอ ตัั้งแต่ทำสื่อ ได้ยินมาตลอดว่า เป็นอาชีพที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่เราก็ไม่ได้ยากจน ไม่รู้จะวัดตรงไหน แต่เป็นอาชีพที่มากกว่าอาชีพ จึงคิดว่า คนที่เป็นสื่อมวลชนจะรู้สึกแบบนี้ ส่วนมากจึงไม่ออกจากอาชีพนี้ และยิ่งแก่ยิ่งดี จะยิ่งมีมิติการมอง มีองค์ความรู้หลายอย่างที่กลมกล่อมขึ้น
นักวิชาการชี้เทคโนโลยีจุดเปลี่ยนสื่อสาร
ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อ ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข มองการทำงานของสื่อปัจจุบันว่า แตกต่างจากเดิม สมัยนี้เทคโนโลยีมีบทบาทสูง แต่เดิมสื่อจะมีสถานีทีวีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นของตัวเอง แต่ทุกวันนี้แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ใช่เป็นของสื่อ แต่เป็นเทคโนโลยีที่เป็นของโลกไปแล้ว ฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว เรากำลังทำหน้าที่ นักสื่อสารมวลชนระดับโลก หรือที่เรียกว่าสื่อสังคม
มุมมองในการติดตามสื่อต่างๆ ทุกประเภท ทั้งของคนที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน สื่อสังคม หรือสื่อใดๆ ให้แนวคิดอย่างไร ผศ.ดร.บุปผา ระบุว่า เทคโนโลยีเรื่องการสื่อสารไปเร็วมาก และให้อิสระกับมวลมนุษยชาติในการติดต่อสื่อสารกัน รวมทั้งในแง่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทุกคนมีเสรีภาพในเรื่องการแสดงออก ทั้งในแง่ความคิด ความรู้ จินตนาการ และทุกเรื่องโดยผ่านสื่อที่เป็นสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีต้นทุนในการสื่อสารน้อยมาก ถ้าเทียบกับสื่อมวลชนในอดีต คนที่จะมาเป็นเจ้าของสื่อ ต้องมีต้นทุนสูงมาก แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นแล้ว ทุกคนสามารถเข้าไปสื่อสารผ่านสื่อที่เป็นโซเชียลมีเดีย แบบที่เป็นสื่อระดับโลกไปแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำหน้าที่ของการเป็นนักสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่อดีต เราก็อาจใช้วิชาชีพของเรา โดยมองว่าอยากให้สังคมเราเป็นอย่างไร อยากให้ปลอดภัย หรืออยากให้มีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่เรา เป็นหน้าที่ของนักสื่อสารมวลชน
กำหนดวาระข่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคมทำได้
ต่อข้อถามถึงประเด็นที่เป็นข่าว และพูดถึงมาก (การทำข่าวพ่นสีวัดพระแก้ว) ถึงกรณีที่คนข่าวอาจไปเซ็ตอเจนด้าร่วมกับแหล่งข่าว หรือคนที่กำลังจะเป็นข่าว หรือคนที่อยากให้เป็นข่าว หรือกิจกรรมที่เราต้องการนำเสนอข่าว มองอย่างไรในเชิงวิชาการ ผศ.ดร.บุปผา กล่าวว่า ในเชิงวิชาการ เรื่อง Agenda Setting (การกำหนดวาระข่าวสาร) ในแง่ของสื่อมวลชนดั้งเดิมของเรา เราก็ทำหน้าที่ในการเซ็ตติ้งมาโดยตลอด แต่ตรงนั้นเรามองประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ว่าเป็นเรื่องที่คนในสังคมควรจะได้รู้ และเข้าใจสิ่งนั้น แล้วมีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ เราถึงจะเซ็ตสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ประเด็นสำคัญ ในเรื่องของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร นี่คือการทำงานของสื่อในอดีต
อะไรที่เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ หรือเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ดราม่า นักสื่อสารมวลชนอาชีพอย่างเราจะรู้ว่า เรื่องเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นจะต้องเซ็ตเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ต้องให้สังคมรับรู้ก็ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป
ขณะนี้ นักวิชาการสื่อมวลชนก็น่าจะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ว่าการที่เราจะร่วมเซ็ตติ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ต้องมองว่า มีคุณค่าความเป็นข่าว มีประโยชน์สาธารณะ หรือทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ จริงๆ นักสื่อสารมวลชนอาชีพ เรายังมีจิตวิญญาณของการทำงานเพื่อสังคมอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่แน่ใจว่า เขาคิดอย่างเราหรือไม่ ว่าเค้าเซ็ตมาเพื่อ ทำให้สังคมตื่นเต้นเร้าใจ เหมือนกับกำลังทำอาหารที่เน้นรสชาติจัดจ้าน ทำให้คนเสพติดรสชาติ แต่ไม่ได้สนใจว่าคุณภาพของอาหาร จะเป็นอย่างไร คิดว่าเป็นเรื่องของการเซ็ตติ้งเหมือนกัน ในแง่ของวิชาการ ว่าเราจะเซ็ตแบบไหน
หลักการทำงานสื่อมวลชนต่างจากสื่อสังคม
ผศ.ดร.บุปผา กล่าวต่อว่า ในแง่ของสื่อโซเชียล ที่เราบอกว่าเป็นโซเชียลมีเดีย เราต้องเข้าใจว่า เราไม่ใช่โซเชียลมีเดีย เราเป็นสื่อมวลชนอาชีพ ที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และมีหลักการการทำงาน เพราะโซเชียลมีเดีย คนที่เข้าไปโพสต์ ไปแชร์ เขาไม่ใช่นักวิชาชีพ เขาไม่ได้มีหลักการ ไม่ได้มีการเรียนรู้ว่า อาชีพสื่อมวลชนที่แท้จริง ต้องมีการกระบวนการทำงาน ฉะนั้นเราต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่า เขาไม่ได้มีกระบวนการคิดแบบนี้
เราในฐานะสื่อมวลชนจริงๆ เรายังเป็นสื่อที่จำเป็นต่อสังคมไทย และที่ให้สังคมโลกรู้จักสังคมไทยอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นอาชีพจริงๆ ว่าจะช่วยในการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไรมากกว่า เราไม่สามารถไปควบคุมโซเชียลมีเดียได้ ต้องยอมรับว่า อันนั้นเป็นเรื่องเสรีภาพภายใต้เทคโนโลยี ที่เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารอย่างเสรี แต่นักสื่อสารมวลชนเอง ก็อย่าตาม หรือทิ้งวิชาชีพ แล้วกลายเป็นสื่อโซเชียลมีเดีย แบบคนที่ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย
ผศ.ดร.บุปผา แม้ทุกคนจะสามารถทำสื่อได้ ทั้งการโพสต์ การแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย แต่นั่นเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่เทคโนโลยีมาสนับสนุน ให้ทุกคนสามารถเข้าไปติดต่อสื่อสารกันได้อย่างอิสระ โดยไม่ได้มีต้นทุน อันนี้เป็นพัฒนาการของมนุษย์ที่เทคโนโลยีเข้ามา
สำหรับอาชีพสื่อมวลชน ก็ต้องกระตุกและดึงกลับมาให้ได้ว่า อาชีพของเรามีบรรทัดฐาน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีหลักการในการทำงานและต้องไม่ให้อาชีพของเราถูกมองว่า เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ต้องสร้างพลัง ความเชื่อมั่นให้กับวิชาชีพมากขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อสังคมมากๆ แม้สังคมจะมองอย่างไร สื่ออาชีพก็ต้องปฏิบัติตัวให้สังคมเห็นได้ อย่างน้อยคือความหวังของสังคม
ชี้ปัญหาเสพสื่อที่มาพร้อมเทคโนโลยี
เมื่อถามถึงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยทุกวันนี้ มองว่า สังคมกำหนดสื่อ หรือสื่อกำหนดสังคม ผศ.ดร.บุปผา มองว่า ตอนนี้สื่อไม่ได้กำหนดสังคม แต่อัลกอริทึม (Algorithm) ที่อยู่ในเทคโนโลยีสื่อ เป็นตัวกำหนด เป็นรายบุคคล เน้นเลยว่าแต่ละคนชอบอะไร แบบไหนมีพฤติกรรมอย่างไร แล้วก็เสิร์ฟข้อมูลมาถึงตัวเรา หากเราไม่สามารถออกจากอัลกอริทึมนี้ได้ ก็เปรียบเหมือนกบในกะลา ที่เรากำลังถูกครอบ และถูกเสิร์ฟข้อมูลในสิ่งที่เราชอบ แต่เราจะไม่รู้ว่า โลกภายนอกเป็นอย่างไร นี่คือเทคโนโลยี ที่มันทำให้เป็นแบบนั้น
“มองในแง่เทคโนโลยี ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่า ความคิด พฤติกรรม ทัศนคติ ความรู้ มันจัดการเราเรียบร้อย ฉะนั้นอันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า มันมีผลกระทบ ดังนั้น ในวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชนเอง ก็หวังว่า คนรุ่นพวกเรา ที่ผ่านกระบวนการ การเรียนการสอน ฝึกปฏิบัติ ฝึกฝนมา อย่าทิ้งวิชาชีพ ต้องยึดมั่นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ต่อสังคม ประเทศชาติต่อไป”
แม้สื่อจะไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ และแม้ผู้บริโภคจะเลือกเสพสื่อตามที่เขาสนใจ แต่ยังเชื่อว่าก็ยังต้องการความรู้ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ข้อเท็จจริง ที่ผู้บริโภคจะแสวงหา.