กรรมการสิทธิฯ ระบุ ข่าว “น้องพร” ละเมิดสิทธิชัดเจน
จากเรื่องราวของ ‘น้องพร’ กรรมการสิทธิฯ สะท้อนปัญหา การนำเสนอข่าวนี้ละเมิดสิทธิบุคคลชัดเจน เผยข้อร้องเรียน ยังพบปัญหาขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัว เผยแพร่ตัวตน ที่อยู่ ภาพถ่าย ในคดีอาชญากรรม อุบัติเหตุ เตือนยึดกรอบกฎหมาย นักวิชาการเห็นพ้องควรมีกลไกกระตุ้นเตือนสื่อ ชี้การนำเสนอข่าวต้องเน้นข้อเท็จจริง ไม่ควรเน้นดราม่า จนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม ขณะที่นักวิชาชีพเน้นการให้ความรู้สังคม แง่มุมกฎหมายในคดีอาชญากรรม
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง คุณค่าข่าวจากเรื่องราวของ “น้องพร” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์
ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกรียงไกร บัวศรี ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวออนไลน์ เดลินิวส์ออนไลน์ และ ผศ.ดร.จำเริญ คังคะศรี รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
จากคดีฆาตกรรมชายคนหนึ่ง ถูกนำร่างไปทิ้งริมถนน ตำรวจสอบสวน มีผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ถูกเจาะลึกเรื่องส่วนตัว ในทางกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาในการนำเสนอข่าว มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ อย่างไร และสื่อสามารถเปิดเผย นำเสนอข่าวได้มากน้อยแค่ไหน
ในมุมของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สุภัทรา นาคะผิว ระบุว่า ประเด็นคือ ผู้หญิงรายนี้แม้จะเกี่ยวพันกับคดีฆาตกรรม แต่ยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาใดๆ จากพนักงานสอบสวน ถือว่ายังเป็นประชาชนธรรมดาที่กำลังถูกขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว บางสื่อ และแหล่งข่าวบางคน ทั้งให้ความเห็น และใช้คำเรียกว่า “นัง” ทั้งที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน ต้องคำนึงทั้งเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน เกียรติยศ ชื่อเสียง
คดีเหล่านี้แม้จะเกิดแทบทุกวัน แต่สิ่งที่เป็นประเด็นข่าว โดยเฉพาะการถูกตั้งคำถามถึงการมีโลกหลายใบของเธอ จึงมีแง่มุมที่สะท้อนทัศนคติ มุมมองสังคม ถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ว่าทำไมผู้หญิงมีโลกหลายใบถูกวิพาษ์วิจารณ์ และมีคำถามตามมามากมาย แต่หากเป็นมุมของชาย กลับถูกชื่นชมด้วยซ้ำ
คดีเหล่านี้แม้จะเกิดแทบทุกวัน แต่สิ่งที่เป็นประเด็นข่าว โดยเฉพาะการถูกตั้งคำถามถึงการมีโลกหลายใบของเธอ จึงมีแง่มุมที่สะท้อนทัศนคติ มุมมองสังคม ถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ว่าทำไมผู้หญิงมีโลกหลายใบถูกวิพาษ์วิจารณ์ และมีคำถามตามมามากมาย แต่หากเป็นมุมของชาย กลับถูกชื่นชมด้วยซ้ำ
สะท้อนการนำเสนอล่วงละเมิดสิทธิ
เมื่อถามถึงกรณีนี้ ในมุมกรรมการสิทธิ ความเหมาะสม เส้นแบ่งระหว่างสิทธิส่วนบุคคล กับการนำเสนอของสื่อ ความพอดีอยู่ตรงไหน สุภัทรา ระบุว่า การไปขุดคุุ้ย เรื่องส่วนตัว คลิปเก่าๆ การไปสอบถามคนแวดล้อมใกล้ชิด มีการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่นที่แวดล้อม ถือว่าเกินพอดี
ขณะที่เรื่องทางคดี ที่ตำรวจดำเนินการ สื่ออาจนำเสนอความคืบหน้า บุคคลในข่ายต้องสงสัยได้ แต่กรณีไปขุดคุ้ยประวัติ รสนิยมทางเพศ เป็นการล่วงเกินจนเกินไป ที่สำคัญพ่วงมาด้วย ทัศนะ มุมมองของสื่อด้วย โดยไปตีตรา ตัดสิน ด้วยวิธีพูด บทวิเคราะห์ตัวเอง ที่ใส่ทัศนคติสร้างความเกลียดชัง จนคนอาจคิดเลยเถิดไปว่า อาจเป็นฆาตกร หรือมีส่วนร่วม
แม้ในข่าวอาชญากรรม ประชาชนจะมีข้อสงสัย วิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ถ้าสื่อไม่ไปขุดคุ้ย ไม่นำเสนอลักษณะเป็นซีรีย์ ดราม่า ราวกับสร้างหนัง ละคร โดยมีตัวละครจริง พอสื่อไม่เสนอ่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว และวิธีคิดของคนนำเสนอก็พยายามใช้กลยุทธ์ให้คนสนใจ ใส่สีสันเข้าไป ขณะที่ข้อเท็จจริงมีแค่ไหน ก็ยังเป็นคำถามใหญ่ว่า ใช่เรื่องจริงทั้งหมดหรือไม่
เรื่องร้องเรียนสื่อละเมิดพบปัญหาต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า ปรากฎการณ์ในการนำเสนอข่าวของสื่อ ในมุมมองกรรมการสิทธิฯ ที่คาบเส้นสิทธิส่วนบุคคล สุภัทรา ระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนมายังกรรมการสิทธิฯ บ่อยๆ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวสารต่างๆ ไม่เฉพาะคดีฆาตกรรม แม้แต่คดีอุบัติเหตุรถชน ที่ถ่ายภาพนำไปเผยแพร่อัตลักษณ์ หน้าตา ทะเบียนรถ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสิทธิ
เจ้าตัวสามารถขอให้ลบได้ ต่อให้ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิด ก็ไม่ได้แปลว่า สื่อจะสามารถเผยแพร่อัตลักษณ์เขาได้ เพราะสิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) ไม่ใช่ว่า เรื่องราว หรือสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปในช่วงเวลานั้น จะต้องถูกติดเอาไว้ในโลกโซเชียลตลอดไป ซึ่งมีความพยายามทำให้ กรณีทำผิดพลาดไปแล้ว ลงไปแล้ว ต้องทำให้ลบได้ แม้จะยาก แต่ในแง่สิทธิมนุษยชน เขามีสิทธิที่จะไม่ถูกจดจำในเรื่องไม่ดี การทำผิดครั้งหนึ่งไม่ได้หมายถึงต้องถูกลงทัณฑ์ตลอดชีวิต หรือขุดคุ้ยมาตอกย้ำ ตีตรา จนทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปไม่ไหว เป็นต้น
เปิดเผยตัวตน ภาพ ที่อยู่ คุ้ยข้อมูล
เมื่อถามว่า ประเด็นร้องเรียนไปยังกรรมการสิทธิ ประเด็นใด น่าเป็นห่วง สุภัทรา ระบุว่า การเปิดเผยอัตลักษณ์ ตัวตน ระบุที่อยู่ ถ่ายภาพทะเบียนรถ ถ่ายหน้าตา ลักษณะการทำงานควบคู่กับไปการทำหน้าที่ของตำรวจ ในการจับกลุม บุกค้น โดยสื่อเข้าไปถ่ายภาพในสถานที่ส่วนตัว เปิดเผยหน้าตา บางครั้งถ่ายติดคนในครอบครัวไปด้วย มีหลายเคส คดียาเสพติด ฆาตกรรม รถชน หลักๆ คือการเปิดเผยอัตลักษณ์ เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลผ่านสื่อ ซึ่งสื่อที่ถูกร้องเรียน ก็เป็นเจ้าเดิมๆ ค่อนข้างมาก ระยะ 1 ปีเศษ มีร้องเข้ามาเป็นระยะหลายเรื่อง
สำหรับการนำเสนอภาพรวมสื่อหลักโดยส่วนใหญ่ระมัดระวังมากกว่าสื่อกระแสรอง แต่ก็ยังมีอยู่เห็นปรากฎการณ์ ที่กลายเป็นการสร้างอัตลักษณ์ตัวเองในแง่มุมนั้นเสียอีก เป็นกลยุทธ์การขาย ประชาชนกลุ่มที่ติดตามก็ถูกจริต แต่คิดว่าการทำหน้าที่สื่อ ไม่ใช่แค่ทำให้ถูกจริตคนดู แต่รับผิดชอบสูงกว่า เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่น ทัศนคติทางเพศ แม้สื่อที่พยายามกำกับดูแลกันเอง พยายามทำคู่มือ แนวปฏิบัติ แต่เรื่องราวก็ยังเกิดขึ้นตลอด
หวังมีกลไกเตือน-สร้างความตระหนัก
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า คนทำสื่อก็ทราบดีอยู่แล้ว ถึงจรรยาบรรณ สิ่งควรจะเป็น ซึ่งองค์กรสื่อก็พยายามสร้างความเข้าใจ แต่สื่อปัจจุบัน เป็นธุรกิจ อาจมีเรื่องการตลาด ทำให้เรื่องเรตติ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้จะมีกฎระเบียบดี แต่ไม่ใช่ปัญหาหายไป ดังนั้นจะทำอย่างไร ต้องมีกลไกบางอย่าง อยากเห็นการมอนิเตอร์สื่อของสภาวิชาชีพ ถ้าหากเกินเลย ควรมีระบบการเตือนให้รู้ตัว ให้ทบทวน ให้หยุด ก่อนที่จะไปข้างหน้าเรื่อย ๆ
กรรมการสิทธิฯ เน้นย้ำว่า ยังมีความจำเป็น ต้องมีกระบวนการสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก ในเรื่องเหล่านี้ โดยต้องทำเป็นระยะ เพราะมีสื่อหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องกระตุก ย้ำเตือนเป็นระยะ ทั้งนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ไม่ได้มีแค่งานตรวจสอบการละเมิดเท่านั้น แต่มีงานส่งเสริมให้เป็นสังคมเคารพสิทธิ ในมิติสื่อก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงต้องได้รับความร่วมมือพอสมควร
สุภัทรา กล่าวอีกว่าเข้าใจว่าวงการสื่อ สภาการสื่อฯ พยายามทำงานบนฐานที่เคารพสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีหลายปัจจัย โดยเฉพาะการตลาดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หลายครั้งที่สังคมถามหาจรรยาบรรณสื่อ หลายครั้งมีเรื่องการโต้แย้ง แม้เรามีกฎหมายพีดีพีเอ (คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) แต่สื่อก็มีข้อยกเว้นได้ เราควรพูดคุยกันเพราะสังคมไทยการนำเสนอเรื่องดราม่าต่อเนื่อง ทั้งที่คนในสังคมก็อาจคิดไม่ต่างกันว่า การนำเสนอเรื่องแบบนี้สังคมได้ประโยชน์อะไร หรือเอาแค่สะใจ การผลิตซ้ำ ทัศนคติบางอย่างที่นำเสนอไป จนถูกตัดสิน ถูกลงโทษโดยสังคมไปโดยปริยาย
ขยายประเด็นกฎหมายให้ความรู้สังคม
ในมุมนักวิชาชีพ เกรียงไกร บัวศรี ระบุถึงกระบวนการทำงานในคดีนี้ว่า จากข้อมูลตอนต้น ที่หญิงรายนี้ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ก็พบว่าความน่าเชื่อถือค่อยๆ ลดลง กระทั่งต่อมาได้ขอโทษสังคม อ้างว่าศีลธรรมของตัวเองไม่ดี ส่งผลให้คนก็ไม่เชื่อถือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อ ในข่าวที่สังคมสนใจ ได้พยายามนำเสนอหลายแง่มุม นอกจากนำเสนอความคืบหน้าข้อเท็จจริงปกติ ก็จะเสริมเพิ่มเติมเนื้อหา ด้วยประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างกรณีผู้หญิงที่เป็นต้นเรื่องของคดี ที่ระบุเอง ถึงเรื่องมรดกจากสามีที่เสียชีวิต ว่าจะมีส่วนได้รับมรดกหรือไม่ หรือการแบ่งมรดกจากคนตาย ที่มีอีกฝั่ง คือญาติสามี ได้ยื่นเรื่องต่อศาล จึงเป็นแง่มุมที่เราพยายามนำเสนอเรื่องข้อกฎหมาย หากมีกรณีฝ่ายใดนอกใจ จนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายตาย จะได้รับมรดกตกทอดหรือไม่ ถือเป็นการให้ความรู้สังคม อย่างน้อยเพื่อให้สังคมได้ประโยชน์จากคดีนี้ รวมทั้งกฎหมายมรดก กรณีเสียชีวิตลักษณะนี้ ทายาทโดยธรรม ใครมีส่วนจะได้รับตามกฎหมาย ซึ่งความรู้เหล่านี้ จะนำเสนอเคียงไปกับข่าวความคืบหน้าของคดี
อย่างไรก็ตามแนวโน้มคดีนี้ คาดว่าสื่อคงติดตามต่อเนื่องไปอีกระยะ เพราะยังมีหลายปมที่ตำรวจต้องคลี่คลาย และนักข่าวก็ต้องทำข่าวคู่ขนานไปด้วย เพราะมีมุมที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ เมื่อถามถึงคุณค่าข่าวในเรื่องนี้ เกรียงไกร มองว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ในแง่เป็นการกระตุกต่อมสำนึกสังคม ในแง่ศีลธรรม จากคดีคนถูกยิงทิ้งริมทาง กลายเป็นคดีพิศวาสฆาตกรรม เรื่องผิดศีลธรรม เป็นต้นเหตุให้สามีเสียชีวิต ฝ่ายชายอีกคนก็ต้องติดคุก เสียอนาคต กลายเป็นผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม เกรียงไกร มองว่า บทเรียนจากคดีลักษณะนี้ ในการทำงานระหว่างสื่อมวลชนกับตำรวจ มีบทเรียนจากคดีฆาตกรรมหญิงที่ชื่อ“บัวผัน” ในพื้นที่ จ.สระแก้ว ที่ตรงตำรวจรีบทำ จนกลายเป็นทำให้สามีผู้เสียชีวิตไปอยู่คุก เมื่อสื่อเห็นความไม่ปกติ จนไปไล่กล้องใหม่ ก็ทำให้คดีพลิกได้ มาถึงคดีนี้ คิดว่าตำรวจทำงานละเอียดรอบคอบ ไล่เรียงอย่างละเอียด ไม่ให้ข้อมูลสื่อ ทำจนจบแล้วค่อยมาแถลงข่าว จนทำให้คดีนี้สามารถไขปริศนาได้
ชี้ปรากฎการณ์ข่าวกลายเป็นดราม่า
ด้าน ผศ.ดร.จำเริญ คังคะศรี มองปรากฎการณ์คดีนี้ว่า สื่อให้ค่าข่าวนี้มากเกินไป นำเสนอจนกลายเป็นกระแสดราม่า หากมองในแง่คุณค่าข่าว ก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมสื่อให้ค่าข่าวนี้มากเกินไปในทุกสื่อ ทั้งที่ควรนำเสนอเป็นข่าวปกติทั่วไป
เหมือนดูละครเรื่องหนึ่ง คนในข่าวเหมือนนักแสดง บทบาทสมจริง แต่ข่าวก็คือข่าว แม้จะเป็นเหตุการณ์จริง แต่สื่อไปให้ค่ามาก จนทำให้คนอยากรู้ จนไปเจอโลกหลายใบ ทั้งที่ข่าวนี้ น่าจะแค่รายงานว่าเกิดคดี ทางตำรวจหาข้อมูล น่าจะจบเร็วภายในไม่กี่วัน แต่นำเสนอจนยาวเกินไป
เมื่อถามว่า หากสื่อไม่เกาะติด สังคมอาจไม่ได้ความจริง รับฟังได้หรือไม่ ผศ.ดร.จำเริญ ระบุว่ามีหลายคดี ที่สื่อไม่ได้นำเสนออย่างนี้ ในกระบวนยุติธรรม แม้บางคดีต้องอาศัยสื่อ ก็เฉพาะกรณี แต่เรื่องนี้หลักฐานมีชัดเจน เป็นหน้าที่ตำรวจในการสืบสวน หาคนที่เกี่ยวข้องน่าจะให้เป็นตามกระบวนการ สื่อค่อยนำเสนอตอนท้ายได้ ไม่จำต้องเป็นซีรีย์เรื่องยาว
เมื่อถามว่า คดีนี้สะท้อนว่าสังคมกำหนดสื่อ หรือสื่อกำหนดสังคม หรือเป็นเพราะพฤติกรรมคนบริโภคสื่อเปลี่ยน หรือเพราะสื่อต้องอยู่ให้รอดจากเรตติ้ง ผศ.ดร.จำเริญ มองว่า แม้เรื่องที่ปรากฎบนสื่อ จะมาจากความสนใจของผู้คน แต่หากสื่อมองว่าเพราะคนสนใจ จึงพยายามยืดเรื่องราว แต่รูปแบบนำเสนอที่ยืดยาว ก็ควรหามุมที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ด้วย
นำเสนอได้ แต่ไม่ควรยาว อาจเป็นตัวอย่าง เรื่องที่คนทำได้ ทำแล้วดัง ทำแล้วมีชื่อเสียง อาจกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งคนดูไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่อย่างเดียว ยังมีเด็กๆ ด้วย พฤติกรรมคนในข่าว บางส่วนกลายเป็นจุดขาย รวมทั้งเอาเรื่องไสยศาสตร์มาโยง ก็ไปกันใหญ่ แม้สื่อบ้านเรา จะเสนอเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ควรโยงกับข่าวนี้
หวังสื่อตระหนักรับผิดชอบต่อสังคม
เมื่อถามถึงรายการข่าวบางรายการเรตติ้งชนะละคร มองว่าเป็นพัฒนาการ ในการทำงานข่าว และการนำเสนอหรือไม่ หากเทียบกับละคร ที่ก็มีทิศทางละเมิดศีลธรรม ผศ.ดร.จำเริญ ระบุว่า พื้นฐานข่าว กับละครต่างกัน ข่าวต้องเสนอข้อเท็จ ละครเป็นเรื่องแต่งให้สมจริง ฉะนั้น ก็ไม่เรื่องจริง ต้องมองให้ออก ในการเรียนการสอนได้พยายามปลูกฝังนักศึกษาที่จะออกมาเป็นสื่อรุ่นใหม่ ควรอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม เสนอข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องตามหลักของข่าว สิ่งสำคัญ อยากฝากสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสื่อ ให้ปลูกฝังตั้งแต่เริ่มเรียน จนออกไป
อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมการนำเสนอ ข่าวอาชญากรรมลักษณะนี้ ผศ.ดร.จำเริญ ระบุว่า อาจทำเป็นสารคดีเชิงข่าวได้ หากยังหาข้อมูลเชิงลึกได้ไม่ครบถ้วนรอบด้าน ตัวอย่างคดีในอดีต “นวลฉวี” ก็สามารถทำเป็นสารคดีเชิงข่าวได้ ในมุมมองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในการนำเสนอข่าวนี้ของสื่อ ผศ.ดร.จำเริญ กล่าวว่า ความรับผิดชอบ หน้าที่ในการนำเสนอข่าว ควรสร้างสรรค์สังคม แต่เรื่องนี้สื่อเสนอมากเกินไป เข้าไปเจาะทุกอนูเนื้อ เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ ไม่ควรขุคคุ้ยเรื่องส่วนตัว เกือบครึ่งเดือน
แม้ความต้องการยอดวิว หรือเรื่องการตลาดจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่สื่อต้องอยู่บนพื้นฐาน ไม่ทำให้สังคมเสื่อมลง แย่ลง แม้สื่ออยากจะอยู่รอด แต่ก็ควรมีสิ่งดีๆ ด้วย อยากฝากในมุมประชาชน ก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ แม้จะเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องใช้วิจารณญาณ ช่วยดูแลกันเองดีที่สุด ในแง่ของสื่อ การเป็นผู้ผลิต ความรับผิดชอบต้องมาอันดับหนึ่ง อาจต้องมีองค์กรสื่อมาคุยกันว่า จะช่วยกันอย่างไรในการทำงานให้มีคุณค่า